มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer)
- โดย แพทย์หญิง ชลศณีย์ คล้ายทอง
- 7 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์คืออะไร?
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มักพบในใคร?
- อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์?
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีอาการอย่างไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีกี่ระยะ?
- รักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์อย่างไร?
- การรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์รุนแรงไหม?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- มะเร็ง (Cancer)
- คอพอก (Goitre)
- น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine)
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง
บทนำ
มะเร็งต่อมไทรอยด์(Thyroid cancer) คือโรคที่เกิดจากการกลายพันธ์ของเซลล์ต่อมไทรอยด์ ณ ตำแหน่งใดของต่อมฯก็ได้ โดยเกิดมีการเจริญแบ่งตัวสูงกว่าปกติและร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จนเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งที่รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองลำคอ และในที่สุดแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอทั่วร่างกาย เช่นที่ รักแร้ ช่องอก และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด/โลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย พบบ่อย คือ ปอด และกระดูก ส่วนเข้าสู่สมองพบได้ประปราย
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อ อยู่ด้านหน้าของลำคอทั้งซ้าย (กลีบซ้าย) และขวา (กลีบขวา) โดยอยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือก และมีเนื้อเยื่อไทรอยด์เชื่อมระหว่างต่อมกลีบซ้ายและกลีบขวา ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมน(ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์)เพื่อควบคุม การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย, อุณหภูมิของร่างกาย, ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, ระดับไขมันในเลือด, และรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆด้วย
ถ้าหากต่อมไทรอยด์ไม่สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ ร่างกายจะเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น คอพอก คอพอกเป็นพิษ (โรคของต่อมไทรอยด์) และโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์’ ที่เรียกในภาษาแพทย์ว่า ‘Thyroid cancer หรือ Thyroid carcinoma’
มะเร็งต่อมไทรอยด์โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์คืออะไร?
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ คือโรคมะเร็งที่เกิดกับต่อมไทรอยด์ โดยเกิดได้กับต่อมไทรอยด์ทั้งกลีบซ้าย และกลีบขวา รวมทั้งในเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อมทั้งสองข้างด้วย มะเร็งต่อมไทรอยด์สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ
ก. มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีน/น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Differentiated carcinoma) ซึ่งเป็นกลุ่มมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุด ประมาณ 90-95%ของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ทั้งหมด ซึ่งยังแบ่งย่อยเป็นอีก 2 ชนิดคือ
- ชนิดพาพิลลารี (Papillary cell carcinoma) และ
- ชนิด ฟอลลิคูลา (Follicular Carcinoma)
ข. มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน ซึ่งพบได้น้อยมากประมาณ 5% ของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ทั้งหมด โดยมีหลายชนิดย่อย เช่น
- ชนิด เมดัลลารี (Medullary cell carcinoma)
- ชนิด อะนาพลาสติค (Anaplastic carcinoma) และ
- ชนิดอื่นๆนอกจาก 2 ชนิดที่กล่าวแล้ว
อนึ่ง ในบทนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่จับกินแร่รังสีไอโอดีน”เท่านั้น เพราะพบได้สูงที่สุดเกือบทั้งหมดของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งโรคมะเร็งชนิดนี้ มีอัตราการหายจากโรคที่ดีกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ในบทความนี้ จะเรียกโรคมะเร็งชนิดนี้ว่า “มะเร็งต่อมไทรอยด์”
สำหรับมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอื่นๆนั้นจะมีการดูแลรักษาที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด ดังนั้นหากเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ในกลุ่มที่จะกล่าวถึงในบทนี้ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้เพียงประปราย ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาต่อไป
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มักพบในใคร?
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ มีรายงานพบได้ตั้งแต่อายุ 10 ปี จนถึงอายุ 80 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ การทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยช่วงปีพ.ศ. 2553-2555 พบโรคนี้ในผู้ชาย 1.5 รายต่อประชากรชาย 1แสนคน และในผู้หญิง 5.1 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน
อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์?
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ
ก. กรรมพันธุ์ มีรายงานว่าโรคทางกรรมพันธุ์บางชนิดสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
ข. สิ่งแวดล้อม เช่น
- รังสีจากสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อม ที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ได้รับในปริมาณที่ไม่ถึงกับทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ เช่น จากอุบัติเหตุโรงงานพลังงานปรมาณู และ/หรือจากระเบิดปรมาณู เมื่อเวลาผ่านไป 10-20 ปี (มีรายงานพบได้ตั้งแต่ 3-5 ปี) ความเสียหายบาง อย่างของเซลล์ต่อมไทรอยด์ อาจขยายตัวขึ้นทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้
- ต่อมไทรอยด์ได้รับรังสีไอออนไนซ์ (Ionizing radiation, รังสีที่ใช้ในการตรวจและรักษาโรค) ปริมาณสูง เช่น การได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอในวัยเด็ก เพื่อรักษา ต่อมธัยมัสโต (ต่อมไทมัส/ Thymus gland เป็นต่อมมีหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย อยู่ในตอนบนของช่องอก ซึ่งพบในเด็ก โดยต่อมจะยุบหายไปในผู้ใหญ่)
ค. ระดับของเกลือแร่ไอโอดีนในอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ โดยบางการศึกษาพบว่า ในถิ่นที่มีภาวะขาดไอโอดีน จะพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Follicular เพิ่มขึ้น และในถิ่นที่มีการเสริมเกลือแร่ไอโอดีนในอาหาร และ/หรือน้ำดื่ม จะพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิด Papillary เพิ่มขึ้น
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีอาการอย่างไรบ้าง?
อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์นั้น ไม่มีอาการเฉพาะ
- แต่มักมีอาการคล้ายโรคปุ่มเนื้อของต่อมไทรอยด์ (โรคของต่อมไทรอยด์) หรือคล้ายโรคคอพอก คือ มีต่อมไทรอยด์โต หรือมีก้อนที่คอ (ที่ต่อมไทรอยด์) คลำได้ อาจเป็นก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้ โดยมักจะไม่มีอาการเจ็บ หรือปวด
- อาจพบ มีเสียงแหบลงเนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งโตจนกดเบียดทับ หรือลุกลามเส้นประ สาทกล่องเสียงที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์
- มีอาการหายใจลำบากและ/หรือกลืนอาหารลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งโตจนกดเบียดทับ และ/หรือลุกลามเข้าหลอดลม และ/หรือหลอดอาหาร ซึ่งทั้งสองเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์เช่นกัน
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต คลำได้หากเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
- นอกจากนั้น หากโรคมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ก็อาจมีอาการตามอวัยวะนั้นๆที่โรคแพร่กระจายไปได้ เช่น มะเร็งกระจายไปกระดูก อาจมีอาการปวดตามตำแหน่งที่โรคแพร่ กระจายไป
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ได้จาก
- อาการ และการตรวจร่างกาย ซึ่งมักพบก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์
- การเจาะ/ดูดเซลล์ จากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ทราบการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน และยังทำให้แพทย์ทราบได้ว่า เป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดใด
- ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ และดูค่าสารมะเร็ง (Tumor marker) ของต่อมไทรอยด์ เพราะมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดนี้ สร้างสารมะเร็งที่ใช้ในการตรวจติดตามผลการรักษาได้
- ตรวจ อัลตราซาวด์ภาพต่อมไทรอยด์ และต่อมน้ำเหลืองลำคอ เพื่อดูลักษณะของต่อมไทรอยด์ และดูการลุกลามของโรคไปยังต่อมน้ำเหลือง และอาจช่วยในการเจาะดูดเซลล์ หรือ ตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจดังกล่าวได้แม่นยำขึ้น
- การตรวจภาพต่อมไทรอยด์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (รังสีที่ใช้ในการตรวจและรักษาโรค) ที่เรียกว่า ไทรอยด์สะแกน (Thyroid scan) ซึ่งอาจตรวจในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- การตรวจสะแกนทั้งตัว (Whole body scan) เป็นการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อดูว่ามีต่อมไทรอยด์เหลืออยู่มากน้อยเพียงใดหลังจากรักษาผ่าตัดต่อมไทรอยด์ไปแล้ว และเพื่อดูว่ามีโรคมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆหรือไม่
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
- การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
- เพื่อดูการทำงานของไต
- เพื่อดูการทำงานของตับ
- เพื่อดูระดับเกลือแร่ เช่น แคลเซียม ซึ่งอาจมีระดับลดลง เนื่องจากผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ (ต่อมควบคุมสมดุลของแคลเซียมในร่าง กาย) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กที่อยู่ติดและใต้ต่อต่อมไทรอยด์ ออกไปด้วยในขณะผ่าตัดต่อมไทรอยด์ในรักษาโรคมะเร็ง
- เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติของ ช่องอก หัวใจ และปอด รวมทั้งการแพร่กระ จายของโรคสู่ปอด
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีกี่ระยะ?
การจัดระยะโรคของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเซลล์มะเร็งจับกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนนั้น ต่างจากการจัดระยะของโรคมะเร็งอื่นๆ โดยมีการนำอายุของผู้ป่วยมาจัดเป็นระยะของโรค เพราะความรุนแรงของโรคขึ้นกับอายุผู้ป่วยด้วย ซึ่งระยะโรคมะเร็งของต่อมไทรอยด์ชนิดเซลล์จับน้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้ นิยมจัดระยะโรค ตามองค์กรณ์แพทย์ด้านโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา(American Joint Committee on Cancer/ AJCC) AJCC staging manual edition 8th ดังนี้
ก.ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 55 ปี: แบ่งโรคเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1โรคเกิดในต่อมไทรอยด์เพียงกลีบเดียว หรือ ทั้ง 2 กลีบ และ/หรือมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ
- ระยะที่ 2โรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต) ไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย ที่พบได้บ่อยคือแพร่กระจายสู่ ปอด กระดูก หนังศีรษะ สมองและตับ
ข.ในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป: แบ่งโรคเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1ก้อนมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 4 เซนติเมตร
- ระยะที่ 2ก้อนมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 4 เซนติเมตร และโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ, และ/หรือ ก้อนมะเร็งโตมากกว่า4ซม. และ/หรือลุกลามเข้ากล้ามเนื้อที่อยู่ติดต่อมไทรอยด์
- ระยะที่ 3ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออวัยวะข้างเคียงมากขึ้น เช่น กล่องเสียง ท่อลม หลอดอาหาร เส้นประสาทกล่องเสียง
- ระยะที่ 4 แบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
- ระยะ4A ก้อนมะเร็งมีการลุกลามลงลึกถึงเนื้อเยื่อติดกระดูกสันหลัง และ/หรือเข้าผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ
- ระยะ4B มีโรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองไปต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น รักแร้ ช่องอก, และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต) ไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย ที่พบได้บ่อย คือเข้าสู่ ปอด กระดูก หนังศีรษะ สมอง และตับ
รักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์อย่างไร?
ในการดูแลรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์นั้น มีการรักษาหลักๆร่วมกันอยู่ 3 วิธี คือ
ก. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ออกด้วย ซึ่งการรักษาวิธีนี้
- จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการกินแร่รังสี (น้ำแร่รังสีไอโอดีน) ในการรักษาต่อเนื่องหลังผ่าตัดไปแล้ว เพื่อให้รังสีช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลือในบริเวณต่อมไทรอยด์จากที่ไม่สามารถผ่าตัดออกหมดได้ และให้รังสีทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่กระจายอยู่ในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค
- และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจเลือดดูสารมะเร็ง (เช่นสาร Thyroglobulin /Tg) ที่แพทย์ใช้เฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำของโรคฯ
ซึ่งการผ่าตัดนี้ ยังช่วยเพิ่มอัตราการหายจากโรคให้สูงขึ้นด้วย ดังนั้นในผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงบางส่วนในครั้งแรกเนื่องจากวินิจฉัยว่า ก้อนเนื้อเป็นเพียงเนื้องอก แต่เมื่อทราบผลชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดจากการตรวจทางพยาธิ ว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ จึงอาจต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้ง 2 กลีบ เป็นการรักษาที่ต้องทำเป็นอันดับแรก ซึ่งการผ่าตัดที่นิยมทำมากที่สุดคือ ผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้ง 2 ข้าง เพราะมีข้อดีมากกว่าผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกเพียงบางส่วน
ข. การกินแร่รังสีไอโอดีน ซึ่งแร่รังสีไอโอดีนนี้ เป็นสารกัมมันตรังสีที่ได้รับการเตรียมให้อยู่ในรูปของแคปซูล หรือในรูปของสารน้ำ เพื่อให้ผู้ป่วยกินได้ง่าย โดยแร่รังสีไอโอดีนเหล่านั้น จะไปรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่อาจหลงเหลืออยู่หลังจากผ่าตัด ทั้งที่บริเวณลำคอ และเนื้อเยื่อใกล้เคียง นอกจากนั้น ยังสามารถช่วยรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กระดูก ซึ่งในการรักษาด้วยการกินแร่รังสีฯนั้น อาจกินเพียงครั้งเดียว หรือมากกว่า 1 ครั้งตามความรุนแรงของโรค และดุลพินิจของแพทย์
ค. การให้ยาฮอร์โมนไทรอยด์(เช่นยา Levothyroxine) กินอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อให้ฮอร์โมนฯชดเชยกับร่างกาย หลังจากผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกทั้ง 2 กลีบแล้ว และยังช่วยควบคุมโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ไม่ให้กลับเป็นซ้ำได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ที่ทำการรักษา ไม่ควรขาดยา
นอกจากนั้น ยังอาจมีวิธีอื่นอีกที่แพทย์จะเลือกใช้เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย ได้แก่
- รังสีรักษา ซึ่งแพทย์มักใช้ในกรณีเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ กรณีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำและผ่าตัด/ใช้แร่รังสีไอโอดีนไม่ได้ผล หรือกรณีโรคแพร่กระจายไปอวัยวะต่างๆ เช่น กระดูก สมอง
- ยาเคมีบำบัด แพทย์จะเลือกใช้เป็นกรณีผู้ป่วยที่โรคลุกลามรุนแรง และการรักษาวิธีต่างๆไม่ได้ผล ทั้งนี้เพราะทั่วไปมะเร็งชนิดนี้จะดื้อต่อยาเคมีบำบัด
- ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังอยู่ในการศึกษาทางการแพทย์ แต่ก็เริ่มมีการนำมาใช้ทางคลินิกบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามราคายายังสูงมากๆ
การรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาในแต่ละวิธีรักษานั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาแต่ละวิธีหลักทั้ง3วิธี ได้แก่
ก. ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เช่น
- แผลผ่าตัดเลือดออก
- การอักเสบติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
- เสียงแหบหากเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล่องเสียงซึ่งอยู่ในบริเวณที่ทำการผ่าตัดได้รับบาดเจ็บขณะผ่าตัด
- มีภาวะแคลเซียมในร่างกายลดลงได้หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วยดังกล่าวแล้ว
- และมีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เพราะผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกไปหมดแล้ว
ข. ผลข้างเคียงจากการกินแร่รังสีไอโอดีน/น้ำแร่รังสีไอโอดีน หรือการกินแร่รังสีไอโอดีนชนิดเป็นแคปซูล ในระยะเฉียบพลัน (1-7 วันหลังได้รับแร่รังสีฯ) เช่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย
- ลำคอบวม
- ต่อมน้ำลายอักเสบ
นอกจากนั้น อาจมีผลข้างเคียงในระยะยาวได้ด้วยเมื่อได้รับแร่รังสีฯปริมาณสูงหลายๆครั้ง เช่น
- มีการกดการทำงานของไขกระดูกทำให้มี เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ต่ำลง
- และ/หรือ เกิดมีพังผืดที่ปอด
ค. ผลข้างเคียงจากยาฮอร์โมนไทรอยด์ มักพบในกรณีได้ขนาดยาสูง เช่น
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- น้ำหนักตัวลดลง
- กระดูกบาง
- ท้องเสียง่าย
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์รุนแรงไหม?
โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มักมีความรุนแรงของโรคต่ำ เมื่อได้รับการรักษาแล้วมีโอกาสหายขาด หรืออยู่ได้ถึง 10-20 ปี สูงถึงประมาณ 80–90%
แต่หากพบโรคนี้ในผู้ชาย และในผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป มักมีความรุนแรงของโรคสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอายุน้อยกว่า 55 ปี
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
ดังนั้น จึงควรสังเกต และคลำลำคอของตนเองว่า มี ก้อนเนื้อผิดปกติ หรือคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอหรือไม่ หากพบความผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัย และการรักษาแต่เนิ่นๆ
ป้องกันโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ
- การหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสี
- นอกจากนั้น ควรรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน (อาหารทะเล เกลือแกง น้ำปลา อาหาร/ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม) อย่างเหมาะสม ไม่กินมาก หรือน้อยจนเกินไป ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ
ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น กลับมามีก้อนที่คอ
- ยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่แพทย์สั่งไม่พอถึงวันแพทย์นัด
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ใจสั่นมากต่อเนื่อง
- กังวลในอาการ
นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
- การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด