มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งต่อมลูกหมาก(Prostate cancer)คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวของเซลล์อย่างรวดเร็วเกินปกติและร่างกายไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวนี้ได้ ที่เรียกว่า ‘เซลล์มะเร็ง’ จนในที่สุดเกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็งขึ้น เซล์/ก้อนเนื้อมะเร็งจะรุกรานเข้าทำลายเซลล์ต่อมลูกหมากปกติจนต่อมลูกหมากไม่สามารถทำงานปกติได้ ต่อจากนั้นจะรุกรานและลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ใกล้ชิดกับต่อมลูกหมาก เข้าต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือรอบท่อเลือดแดงในช่องท้อง และแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปสู่อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อย คือ กระดูก และปอด

ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) เป็นต่อมไร้ท่อ ซึ่งเป็นอวัยวะเฉพาะของเพศชาย โดยอยู่ในส่วนลึกบริเวณโคนอวัยวะเพศชาย ในช่องท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) ซึ่งในชายผู้ใหญ่ปกติ มีขนาดของต่อม ยาวxกว้างxหนา ประมาณ 3x4x2 เซ็นติเมตร(ซม.) หนักประมาณ 7-16 กรัม อวัยวะที่อยู่ติดด้านหน้าและด้านบนของต่อมลูกหมาก คือกระเพาะปัสสาวะ ส่วนอวัยวะที่อยู่ติดด้านหลังของต่อมลูกหมาก คือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือ ลำไส้ตรง ดังนั้นในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งของต่อมลูกหมาก จึงมักตรวจผ่านทางอวัยวะนี้

ต่อมลูกหมากมีหน้าที่สร้างน้ำเมือกในการมีเพศสัมพันธ์ ช่วยหล่อเลี้ยงอสุจิ และช่วยปก ป้องสารพันธุกรรม หรือดีเอนเอ (DNA) ของอสุจิ

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมะเร็งของผู้สูงอายุ เป็นมะเร็งพบบ่อยของผู้ชาย โดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป (อาจพบได้น้อยมากในอายุน้อยกว่านี้) ในสหรัฐอเมริกาพบได้สูงถึง 70-80% เมื่ออายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป โดยปีค.ศ.2014มีรายงานพบได้ 120รายต่อประชากรชายสหรัฐอเมริกา100,000คน ส่วนในประเทศไทยในปี พ.ศ.2553-2555 พบผู้ป่วยโรคนี้ 7.1ราย ต่อประชากรชายไทย 100,000 คน

อนึ่ง มะเร็งต่อมลูกหมากมีหลากหลายชนิด ทั้งในมะเร็งกลุ่มคาร์ซิโนมา และกลุ่มซาร์โคมา แต่เกือบทั้งหมด เป็นกลุ่ม ‘คาร์ซิโนมา ชนิด Adenocarcinoma’ ดังนั้น โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘มะเร็งต่อมลูกหมาก จะหมายถึงมะเร็งกลุ่มคาร์ซิโนมา(Prostatic carcinoma หรือ Prostatic adenocarcinoma)’ ซึ่งรวมถึงในบทความนี้ด้วย

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่พบปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • อายุ: ดังกล่าวแล้ว ยิ่งอายุสูงขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากยิ่งสูงขึ้น
  • เชื้อชาติ: พบมะเร็งต่อมลูกหมากได้สูงสุดในชายชาวสแกนดิเนเวีย และพบได้ต่ำ สุดในชายชาวเอเชีย
  • พันธุกรรม: พบโรคได้สูงประมาณ 3 เท่าเมื่อมีครอบครัวสายตรง(พ่อ พี่ น้อง เพศชาย ท้องเดียวกัน) เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • อาหาร: อาจมีความสัมพันธ์กับการกินอาหาร ไขมัน เนื้อแดง และ/หรือ อาหารให้พลังงานสูง ต่อเนื่องเป็นประจำ

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่เป็นอาการคล้ายกระเพาะปัสสาวะอัก เสบ หรือต่อมลูกหมากโตชนิดไม่ใช่มะเร็ง(ต่อมลูกหมากโตบีพีเอช) ทั้งนี้อาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปัสสาวะขัด
  • ลำปัสสาวะไม่พุ่ง
  • ปัสสาวะกลางคืนบ่อยผิดปกติ
  • อาการเมื่อโรคแพร่กระจายแล้ว เช่น ปวดหลัง ปวดกระดูก แขนขาอ่อนแรงจากโรคแพร่เข้ากระดูกสันหลังจนกดทับไขสันหลัง

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจทางทวารหนัก การตรวจภาพต่อมลูกหมากด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอ (MRI) การตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สร้างโดยเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากที่เรียกว่ พีเอสเอ (PSA, Prostate-specific antigen) และที่ให้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อมะเร็งเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

อนึ่ง

  • สารมะเร็งที่สร้างจากเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก(ตรวจได้จากการตรวจเลือด) ที่สำคัญที่ใช่ช่วยการวินิจฉัยโรค การติดตามผลการรักษา และเป็นตัวบอกการพยากรณ์โรคคือ ‘Prostate specific antigen ย่อว่า PSA’
  • จากการตรวจทางพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อ/ก้อนมะเร็งดูการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากที่ใช้เป็นตัวบอกความรุนแรงโรค/บอกการพยากรณ์โรคที่รวมถึงช่วยจัดระยะโรค เรียกการแบ่งตัวของเซลล์นี้ว่า ‘กลีสัน สกอร์(Gleason score)’ ทีมีค่าระหว่าง6-10 โดยค่ายิ่งสูง โรคยิ่งรุนแรง การพยากรณ์โรคไม่ดี

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และแต่ละระยะโรคยังแบ่ง เป็นระยะย่อย เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นตัวบ่งชี้การรักษาและใช้ในการศึกษาวิจัย ซึ่งทั้ง 4 ระ ยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลุกลามเฉพาะในต่อมลูกหมาก และตรวจไม่พบก้อนเนื้อจากการคลำผ่านทางทวารหนัก, ค่าPSAน้อยกว่า10, และค่ากลีสันสกอร์น้อยกว่า/เท่ากับ6

ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งโตขึ้น คลำพบผ่านทางทวารหนัก แต่ยังลุกลามอยู่เฉพาะในต่อมลูกหมาก และมีค่าPSAสูงกว่า 10 แต่น้อยกว่า 20 และค่ากลีสันสกอร์ไม่เกิน7 จัดเป็นระยะ2A แต่ถ้า PSA มากกว่า 20 และ/หรือ กลีสันสกอร์มากกว่า/เท่ากับ8 จัดเป็นระยะ2B

ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยค่า PSAและ/หรือกลีสันสกอร์จะเป็นเท่าไรก็ได้

ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ตรง และ/หรือเนื้อเยื่อในช่องท้องน้อย และ/หรือต่อมน้ำเหลือง และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิต (เลือด) ไปสู่อวัยวะต่างๆ ที่พบบ่อยคือ กระดูกและปอด ทั้งนี้ไม่ขึ้นกับค่าPSA และ/หรือกลีสันสกอร์

นอกจากนี้ ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในผนังเยื่อเมือก เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์(Stage0)’ ดังนั้นหลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0 นี้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะนี้ ยังพบได้น้อยมากๆ

รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างไร?

วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ก. โรคระยะที่ 1 การรักษามีได้หลายวิธี ซึ่งแพทย์จะพูดคุยถึงข้อดี/ข้อเสียของแต่ละวิธีให้ผู้ป่วยและครอบครัวทราบ (ทุกวิธีให้ผลควบคุมโรคได้เท่ากัน แต่ต่างกันที่ชนิดของผลข้างเคียงแทรกซ้อน) และให้ผู้ป่วยและครอบครัวช่วยกันตัดสินใจ ซึ่งวิธีเหล่านั้น ได้แก่

  • การผ่าตัดต่อมลูกหมากร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน อาจโดยผ่าตัดผ่านหน้าท้อง หรือผ่าตัดผ่านกล้อง
  • รังสีรักษา ซึ่งมีทั้งการฝังแร่ต่อมลูกหมาก หรือ การฉายรังสี

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคโดยผู้ป่วยยังไม่มีอาการ สูงอายุมาก และอยู่ในกลุ่มโรคมีความรุนแรงต่ำ (เซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวช้า และ/หรือค่าสารมะเร็งอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติ) แพทย์อาจใช้วิธีเฝ้าติดตามโรค (ดูจากอาการผู้ป่วย การตรวจขนาดก้อนมะเร็ง และการตรวจค่าสารมะเร็งเป็นระยะๆ อาจทุก 3 เดือน) โดยยังไม่ให้การรักษาใดๆ รอจนเซลล์มะเร็งรุนแรงขึ้นจึงเริ่มการรักษา

ข. โรคระยะที่ 2-3 การรักษาอาจเป็นการผ่าตัดร่วมกับฉายรังสี และการให้ยาฮอร์โมน

ค. โรคระยะที่ 4 การรักษาอาจเป็นยาฮอร์โมน การผ่าตัดลูกอัณฑะเพื่อลดฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจรักษาด้วยวิธีการเดียว หรือหลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับ อาการ อายุ สุขภาพผู้ป่วย ตำแหน่งการลุกลามแพร่กระจายของโรค ดุลพินิจของแพทย์ และความประสงค์ของผู้ป่วยและครอบครัว ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้ายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด: มักเป็นผลข้างเคียงเฉียบพลันเกิดหลังการผ่าตัด หรือภายใน 3-6 เดือนหลังการผ่าตัด เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อ การเสียเลือดจากการผ่าตัด และมีปัญหาในการปัสสาวะ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ในระยะยาวคือความรู้สึกทางเพศลดลง
  • ผลข้างเคียงจากรังสีรักษา: ที่พบได้บ่อยคือ ผลข้างเคียงระยะยาวจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และ/หรือลำไส้ตรงอักเสบเรื้อรัง (ลำไส้อักเสบ) และความรู้สึกทางเพศลดลง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ผลข้างเคียงจากฮอร์โมน: ส่งผลให้ความเป็นเพศชายลดลง เช่น มีไขมันจับตามเนื้อเยื่อต่างๆคล้ายผู้หญิง ไม่มีหนวด เสียงลดความห้าวลง และขาดความรู้สึกทางเพศ
  • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด: เป็นผลข้างเคียงระยะเฉียบพลันที่เกิดระหว่างรักษา คือ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และไขกระดูกทำงานลดลง อาจเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา) และ/หรือเกล็ดเลือดต่ำ(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ)ที่ส่งผลให้เลือดออกได้ง่าย
  • ผลข้างเคียงจากยารักษาตรงเป้า / ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า คือ การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด รวมทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • ในผู้สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, และ
  • ในผู้สูงอายุ

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากรุนแรงไหม?

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง (การพยากรณ์โรค ดีถึงปานกลาง) เป็นโรคที่รักษาหายได้ แต่ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคขึ้นกับ ระยะโรค ปริมาณสารมะเร็ง/PSA (ค่าปริมาณสารมะเร็งยิ่งสูง โรคยิ่งรุน แรง) การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง/กลีสันสกอร์ (เซลล์มะเร็งชนิดมีการแบ่งตัวสูง โรครุนแรง) อายุ และสุขภาพผู้ป่วย

โดยทั่วไป อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ใน

  • โรคระยะที่ 1 ประมาณ 90-100%
  • ระยะที่ 2 ประมาณ 80-90%
  • ระยะที่ 3 ประมาณ 60-75และ
  • ระยะที่ 4 อัตรารอดที่ 5 ปี ประมาณ 0-30 % ทั้งนี้ขึ้น กับ อายุ สุขภาพผู้ป่วย จำนวน และตำแหน่งอวัยวะที่มีโรคแพร่กระจาย (แพร่กระจายสู่ สมอง ไขสันหลัง และปอด รุนแรงกว่าแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก)

ควรดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองก่อนทราบว่าเป็นมะเร็ง/มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ การรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ เพื่อการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ และ

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว การดูแลตนเองและการดูแลผู้ ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจะคล้ายกับการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิด อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด และ
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ปัสสาวะขัดมากขึ้น
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับทุกคืน คลื่นไส้อาเจียนมาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไหม?

ปัจจุบัน มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการตรวจร่างกาย การตรวจทางทวารหนัก และตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง แต่ทั้งนี้ยังมีการถกเถียงกันอยู่ถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยทั่ว ไปจะได้รับจากการตรวจคัดกรอง เพราะการตรวจคัดกรองยังไม่มีความแม่นยำมากพอ และอาจต้องนำไปสู่การตัดชิ้นเนื้อโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้การตัดชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมาก อาจมีผลข้าง เคียงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจากการติดเชื้อรุนแรงในอุ้งเชิงกราน ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อแพทย์แนะ นำการตรวจคัดกรอง แพทย์มักพูดคุยปรึกษากับผู้ป่วยถึงข้อดี ข้อเสียของการตรวจคัดกรอง และให้อยู่ในการตัดสินใจของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนทั่วไปที่จะได้ประโยชน์จากการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากชัดเจนที่สมาคมโรคมะเร็งสหรัฐแนะนำ คือ

“ชายอายุตั้งแต่50ปีขึ้นไปที่แพทย์คาดว่าน่าจะมีอายุยืนยาวได้อีกอย่างน้อย10ปี และก่อนตรวจคัดกรองผู้ป่วยต้องได้รับคำอธิบายจากแพทย์ถึง ประโยชน์ ข้อเสีย ข้อจำกัด ยอมรับการตรวจต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงยอมรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจต่อเนื่องนั้นๆ”

ป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมทั้งยังไม่มีประเภทอาหารที่ป้องกันโรคนี้ได้ แต่อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยจำกัดการบริโภค แป้ง น้ำตาล โปรตีนจากเนื้อแดง ไขมัน และเพิ่มการบริโภคทั้งผัก และผลไม้ อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ลงได้

บรรณานุกรม

  1. Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer.
  2. Hafty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  3. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  4. Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://www.cancer.org/cancer/prostate-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2018,Aug11]
  6. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/epdf/10.3322/caac.21446 [2018,Aug11]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Prostate_cancer [2018,Aug11]
  8. https://emedicine.medscape.com/article/1967731-overview#showall [2018,Aug11]