มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease หรือ Hodgkin’s lymphoma)

สารบัญ

บทนำ

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับระบบน้ำเหลืองในร่างกาย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง ม้าม และต่อมทอนซิล หรือเกิดกับอวัยวะที่ไม่อยู่ในระบบน้ำเหลืองแต่มีเซลล์ต่อมน้ำเหลืองอยู่ เช่น ไขกระดูก ตับ และระบบประสาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin’s disease หรือ Hodgkin’s lymphoma) และ มะ เร็งต่อมน้ำเหลือง นอน-ฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin’s lymphoma)

ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินที่มีชื่อย่อของโรค คือ โรคเอชดี หรือ โรคเอชแอล (HD หรือ HL) ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ พบได้น้อยกว่าชนิด นอน-ฮอดจ์กิน มาก ซึ่งในบทนี้ ขอเรียกชื่อโรคนี้ว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีคืออะไร ?

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่มีต้นกำเนิดจากการเจริญเติบ โตที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่าลิมฟ์โฟไซท์ (lymphocyte) ที่อยู่ในระบบน้ำ เหลืองของร่างกาย (ไม่ใช่เม็ดเลือดขาวจากไขกระดูกซึ่งเมื่อเป็นมะเร็งจะเป็น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว) และสามารถมีการแพร่กระจายของโรคไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของร่างกายได้เช่นเดียว กับโรคมะเร็งอื่นๆ

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีพบในใครบ้าง ?

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี เป็นมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยาที่พบได้ประมาณ 12% ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด โดยพบโรคได้น้อยมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จากนั้นพบบ่อยขึ้น จนพบสูงสุดในช่วงอายุ 2 ช่วง คือ ช่วงอายุ 15-35 ปี และช่วงอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป โดยพบว่า เด็กผู้ชาย เป็นโรคมากกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 3 เท่า แต่เมื่อเข้าระยะวัยรุ่นจนเป็นผู้ ใหญ่จะมีโอกาสเกิดโรคในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี ?

ปัจจุบัน ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้อย่างชัดเจน แต่พบมีปัจ จัยเสี่ยงที่มีความความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีหลายปัจจัย ได้แก่

  • อายุ พบว่าอุบัติการณ์ของโรค เพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
  • เพศ พบว่าเพศชาย เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีมากกว่าเพศหญิง
  • การติดเชื้อ พบว่าการติดเชื้อโรคบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองเอชดี เช่น
    • การติดเชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDs) เป็นปัจจัยเสี่ยง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีได้
    • การติดเชื้อไวรัส อีบีวี (EBV, Ebstein-Barr Virus) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง/ภูมิต้านตนเอง(เช่น โรค เอสแอลอี,SLE/โรคพุ่มพวง)
  • มีพี่น้อง หรือญาติที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไป

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีมีอาการอย่างไรบ้าง ?

อาการเริ่มต้นที่พบได้บ่อยของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี ได้แก่

  • อาการทั่วๆไปที่พบได้บ่อย
    • มีไข้ อุณหภูมิสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 3 วันติดต่อกันโดยหาสา เหตุไม่ได้
    • มีเหงื่อออกชุ่มตัวในตอนกลางคืน โดยหาสาเหตุไม่ได้
    • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตั้งแต่ 10% ขึ้นไป ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาโดยไม่มีสาเหตุอื่นๆ
    • อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาการที่เกิดจากมีเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีสะสมในเนื้อเยื่อ และ/หรือ อวัยวะ ต่างๆ
    • คลำพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่างๆโต เช่น ที่บริเวณลำคอ พบได้ประมาณ 60-80% บริเวณรักแร้ พบได้ประมาณ 24% บริเวณขาหนีบ พบได้ประมาณ 3% โดยต่อมน้ำเหลืองเหล่านี้ มักจะไม่เจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ต่อมน้ำเหลืองนั้นๆร่วมด้วย
    • อาจพบต่อมทอนซิลโตมากขึ้นเพียงข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง
    • ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก หากมีต่อมน้ำเหลืองโตในบริเวณช่องอก โดยประมาณ 60% พบร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองลำคอโต
    • แน่นท้อง คลำได้ก้อนในช่องท้อง หากมีโรคภายในช่องท้อง โดยมักพบมีม้ามโตได้ประมาณ 26% และมีตับโตได้ประมาณ 2%
    • บวมหรือมีอาการชาที่แขนหรือขา หากต่อมน้ำเหลืองที่โต มีขนาดใหญ่และกดเบียดหลอดเลือด หรือเส้นประสาท
    • ในผู้ป่วยบางราย อาจพบมีอาการปวดที่ต่อมน้ำเหลืองที่โตหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีได้อย่างไร ?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี ได้จาก

  • ประวัติอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจคลำต่อมน้ำ เหลืองในบริเวณต่างๆของร่างกาย เพื่อประเมินขนาดและลักษณะของต่อมน้ำเหลือง
  • การตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลือง (การตรวจทางพยาธิ) พบลักษณะเซลล์เฉพาะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ คือ เซลล์ที่เรียกว่า “Reed-Sternberg Cell”
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูเม็ดเลือด และเกล็ดเลือดก่อนทำการรักษา
  • การตรวจไขกระดูก เพื่อประเมินว่ามีโรคแพร่กระจายเข้าสู่ไขกระดูกหรือไม่ โดยแพทย์มักตรวจในผู้ป่วยทุกรายที่มี อาการไข้ น้ำหนักลด เหงื่อออกตอนกลางคืน และในผู้ป่วยโรคระ ยะที่ 3 ขึ้นไป
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
    • ดูการทำงานของไต
    • ดูการทำงานของตับ และระดับสารมะเร็งของโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา ซึ่งอาจสูงได้ เช่น แอลดีเอช(LDH)
    • ดูระดับกรดยูริค (Uric acid) อาจมีระดับยูริคสูงขึ้นได้มาก ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของไตได้
    • ดูระดับเกลือแร่ อาจมีระดับเกลือแร่ต่างๆผิดปกติ เช่น แคลเซียมและโปแตส เซียม จนก่อให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ได้
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอกและในปอด
  • ตรวจอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง เพื่อดูความผิดปกติในช่องท้อง
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อดูต่อมน้ำเหลือง และก้อนเนื้อในบริเวณต่างๆ เช่น ทรวงอก และช่องท้อง
  • อาจตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น เพทสแกน (PET scan) เพื่อตรวจหามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ และเพื่อใช้ในการตรวจติดตามผลการรักษา
  • อาจเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจเพิ่มเติม ในผู้ป่วยที่สงสัยการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเข้าสู่สมอง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีมีกี่ระยะ ?

การแบ่งระยะโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี เช่นเดียวกับในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอน-ฮอดจ์กิน โดยใช้จำนวนของกลุ่มต่อมน้ำเหลือง ตำแหน่งที่เป็นโรคและการกระจายไปยังเนื้อ เยื่อ และ/หรือ อวัยวะอื่นๆ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 มีต่อมน้ำเหลืองโตเพียงกลุ่มเดียว ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ที่คอด้านขวาที่เดียว
  • ระยะที่ 2 มีต่อมน้ำเหลืองโต 2 กลุ่ม หรือมากกว่า แต่ต้องเป็นในกลุ่มต่อมน้ำเหลืองที่อยู่เหนือ หรือใต้กระบังลมเหมือนกัน เช่น ที่คอและรักแร้ ซึ่งอยู่เหนือกระบังลม
  • ระยะที่ 3 มีต่อมน้ำเหลืองโต 2 กลุ่ม หรือมากกว่า ทั้งที่อยู่เหนือและอยู่ใต้กระบังลม เช่น ที่คอ ร่วมกับที่ขาหนีบ
  • ระยะที่ 4 ระยะที่โรคแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่น ๆ เช่น ไขกระดูก ตับ ปอด และสมอง

นอกจากนั้นยังแบ่งออกเป็นชนิดเอ (A) และชนิดบี (B) โดยชนิดบีนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไข้ น้ำหนักลด และเหงื่อออกตอนกลางคืนร่วมด้วย แต่ในชนิดเอจะไม่พบอาการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยในการพยากรณ์ความรุนแรงโรคด้วย

รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีย่างไร ?

มีปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นตัวกำหนดวิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี คือ ระยะของโรค ความรุนแรงของโรค และปัจจัยของผู้ป่วยเอง ได้แก่ อายุ ความสมบูรณ์แข็งแรงและโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาหลัก สามารถแบ่งเป็น 3 วิธี ดังนี้

  • เคมีบำบัด แพทย์จะให้การรักษากับผู้ป่วยด้วยการให้ยาเคมีบำบัดหลายๆชนิดร่วมกัน ซึ่งมีทั้งยากินและยาฉีด โดยให้ทุก 3-4 สัปดาห์ต่อครั้ง เป็นเวลา 4-12 ครั้ง ซึ่งการเลือกใช้ยานั้นจะขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
  • ฉายรังสีรักษา การฉายรังสีนั้น มักจะใช้สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะต้นๆ เช่น ระยะที่ 1 หรือ 2 หรือใช้ร่วมกับการให้เคมีบำบัด หรือใช้สำหรับการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเฉพาะที่ เช่น บริเวณสมอง ทั้งนี้ปริมาณรังสีที่ใช้รักษาขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรค
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังจากให้การรัก ษาจนหายดีแล้ว หรือเมื่อโรคดื้อต่อยาเคมีบำบัด โดยจะให้การรักษาด้วยการให้เคมีบำบัดขนาดสูงมาก เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเหล่านั้นก่อน ซึ่งปริมาณยาเคมีบำบัดขนาดสูงมากนี้ จะทำลายไขกระดูกด้วย หลังจากนั้นจึงตามด้วยการปลูกถ่ายไขกระ ดูก ซึ่งอาจเป็นไขกระดูกจากตัวผู้ป่วยเอง ที่แพทย์เก็บไว้ก่อนให้ยาเคมีบำบัด หรือ ไขกระดูกจากผู้อื่น เช่น คนในครอบครัว หรือ บุคคลอื่น ที่มีเลือดเข้าได้กับผู้ป่วย ดัง นั้นผู้ป่วยจึงต้องมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงพอที่จะรับการรักษาได้ ซึ่งค่าใช้ จ่ายในการรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีราคาสูงมาก

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีมีผลข้างเคียงอย่างไร ?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง เอชดี แตกต่างกันตาม แต่ละวิธี ซึ่งโอกาสเกิด และความรุนแรงสูงขึ้น หากได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

  • ผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง มีการกดการทำงานของไขกระดูกทำให้มี ภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำและมีเม็ดเลือดขาวต่ำ(ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
  • ผลข้างเคียงจากรังสีรักษา คือ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีเฉพาะในบริเวณต่างๆที่ผู้ป่วยได้รับ (การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา ผลข้าง เคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณสมอง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ ผลข้างเคียงและวิธีการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณปอด หรือ ผล ข้างเคียงและวิธีการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีบริเวณช่องท้อง และ/หรือ อุ้งเชิงกราน)
  • ผลข้างเคียงจากการปลูกถ่ายไขกระดูก คือ มีเม็ดเลือดขาวต่ำมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา) และมีเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีโอกาสเลือดออกผิดปกติได้ง่าย

อนึ่ง อาจพบผลข้างเคียงในระยะยาว (ระยะเวลาหลังครบการรักษาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนตลอดชีวิตของผู้ป่วย)ได้ด้วย แต่โดยทั่วไปโอกาสเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้น้อย ประมาณ 5-15% เช่น

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดบางชนิด อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมาได้ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดบางชนิด อาจส่งผลต่อการทำงานของปอดในระยะยาวได้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณลำคอ หรือทรวงอก จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง หรือเกิดมะเร็งเต้านมได้
  • ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณสมอง หรือได้รับยาเคมีบำบัดทางไขสันหลัง อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาได้

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีรุนแรงไหม ?

การรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถรักษาโรคนี้ได้ดี โดยปัจจัยที่มีผลต่อการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี ได้แก่

  • อายุ พบว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 45 ปีจะมีผลการรักษาดีกว่าผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 45 ปี เพราะผู้ป่วยมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและสามารถทนต่อการรักษาได้ดีกว่า
  • เพศหญิง จะมีผลการรักษาที่ดีกว่าเพศชาย
  • ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ น้ำหนักลด และเหงื่อออกตอนกลางคืนร่วมด้วย (อาการ บี) จะมีผลการรักษาแย่กว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเหล่านี้ (อาการ เอ)
  • ระยะของโรค คือ ระยะที่ 1 และ 2 มีอัตราหายขาดของโรคมากกว่าระยะที่ 3 และ 4
  • ผู้ป่วยที่มีต่อมน้ำเหลือง หรือก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มากกว่า 10 เซนติเมตร มีผลการ รักษาที่แย่กว่า
  • การกระจายของโรคออกนอกต่อมน้ำเหลือง เช่น กระจายเข้าสู่ ไขกระดูก และ/หรือ ระบบประสาท จะมีโอกาสการรักษาหายได้น้อย
  • ผู้ป่วยที่มีผลตรวจเลือดบางชนิดผิดปกติ เช่น การตรวจซีบีซี พบเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ และ/หรือ พบโปรตีนในเลือดต่ำกว่าปกติ จะมีผลการรักษาที่แย่กว่าผู้ป่วยที่มีผลเลือดดังกล่าวปกติ

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีไหม ? ควรพบแพทย์เมื่อไร ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรอง (การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง) ให้พบมะเร็งต่อมน้ำ เหลืองทุกชนิด รวมทั้งชนิด เอชดี ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าว จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดีได้อย่างไร ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเอชดี แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดโอกาสเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การติดเชื้อโรคต่างๆ โดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง อ่านเพิ่มเติมใน การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง

updated 2013, May 22