มะเร็งซาร์โคมามดลูก (Uterine sarcoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งซาร์โคมามดลูก (Uterine sarcoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับกล้ามเนื้อของผนังมดลูก เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งของมดลูกที่พบน้อย ซึ่งมะเร็งมดลูกที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก และ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งซาร์โคมามดลูก เป็นโรคของผู้ใหญ่ มีรายงานพบได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และโอกาสพบโรคจะสูงขึ้นหลังจากอายุ 50 ปีไปแล้ว หรือหลังจากวัยหมดประจำเดือน

มะเร็งซาร์โคมามดลูก พบประปราย ประมาณ 1% ของโรคมะเร็งในระบบ อวัยวะสืบพันธ์สตรีทั้งหมด และเพียงประมาณ 4-9% ของมะเร็งของมดลูก โดยทั่วไป ทั่วโลกจะพบโรคนี้ประมาณ 0.5-3.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ไม่มีรายงานถึงสถิติเฉพาะโรคนี้เพราะรายงานรวมอยู่ในโรคมะเร็งมดลูก (Uterus unspecified) ที่พบมะเร็งกลุ่มนี้ได้ 0.3 รายต่อประชากรหญิงไทย 100,000คน

มะเร็งซาร์โคมามดลูกมีกี่ชนิด?

มะเร็งซาร์โคมามดลูก

มะเร็งซาร์โคมามดลูก มีหลากหลายชนิด ที่พบบ่อยมี 3 ชนิด คือ

  • Liomyosarcoma(มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก)
  • Endometrial Stromal sarcoma ซึ่งเรียกย่อว่า อีเอสเอส (ESS) และ
  • Carcinosarcoma หรือเรียกอีกชื่อว่า Malignant mixed mesodermal tumor หรืออีกชื่อคือ Malignant mixed mullerian tumor

มะเร็งซาร์โคมามดลูกเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก และพบปัจจัยเสี่ยงเพียงปัจจัยเสี่ยงเดียว คือ

  • การที่ผู้ป่วยเคยได้รับการฉายรังสีรักษาในบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น จากการรักษา โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งปากมดลูก, เป็นต้น

โรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก แต่เป็นอาการเหมือนกับอาการของโรคทั่วไปของมดลูก ที่พบบ่อย คือ

  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • อาจมีตกขาวผิดปกติ
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น มดลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
    • จึงอาจคลำได้ก้อนเนื้อเหนือกระดูกหัวหน่าว
    • และมดลูกที่โตขึ้นนี้จะกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะส่งผลให้มีอาการ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • และ/หรือกดเบียดทับลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้มีอาการท้องผูกเรื้อรัง
    • หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นๆในท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และ/หรือปวดหล้งเรื้อรัง
  • เมื่อโรคแพร่กระจายสู่ปอด จะมีอาการ ไอ แน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ
  • การตรวจภายใน
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในมดลูก หรือจากการขูดมดลูก เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ซึ่งภายหลังผลชิ้นเนื้อระบุเป็นมะเร็ง การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาระยะโรค และเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไป

  • มักเป็นการตรวจภาพช่องท้อง หรือช่องท้องน้อย(อุ้งเชิงกราน)ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าอวัยวะที่อยู่ข้างเคียงมดลูก(เช่น ลำไส้ตรง และ/หรือกระเพาะปัสสาวะ) เข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องและในช่องท้องน้อย และดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับ
  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
  • การตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาล, ดูการทำงานของตับและของไต
  • การตรวจปัสสาวะดูการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจเอกซเรย์ภาพปอด ดูโรคของปอด ของหัวใจ และดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งสู่ปอด

โรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกมีกี่ระยะ?

โรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก มี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธ์สตรีอื่นๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือ มะเร็งรังไข่ และแต่ละระยะยังแบ่งย่อยได้อีก นอกจากนั้น แต่ละชนิดของเซลล์มะเร็งนี้ ยังอาจมีระยะโรคที่เฉพาะสำหรับเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด ซึ่งเป็นเรื่องในรายละเอียดปลีกย่อยเฉพาะแพทย์โรคมะเร็งใช้ประกอบในการรักษา ซึ่งระยะโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกที่จัดแบ่งตามองค์กรแพทย์นานาชาติด้านสูตินรีเวช ที่ชื่อ The International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO) ได้แก่

  • ระยะที่1: มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในตัวมดลูก โดยแบ่งเป็น2ระยะย่อย คือ
    • ระยะ1A: มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในมดลูก ขนาดก้อนมะเร็งโตไม่เกิน5 ซม.
    • ระยะ1B: มะเร็งลุกลามเฉพาะในมดลูก แต่ขนาดก้อนฯโตมากกว่า5ซม.
  • ระยะที่2: มะเร็งลุกลามออกนอกตัวมดลูก โดยแบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ2A: มะเร็งลุกลามเข้าในอุ้งเชิงกราน ปากมดลูก และ/หรือ ปีกมดลูก และ/หรือรังไข่
    • ระยะ2B: มะเร็งลุกลามออกนอกอุ้งเชิงกราน
  • ระยะที่3: แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ3A: มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะในช่องท้องเพียงอวัยวะเดียว
    • ระยะ3B: มะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะในช่องท้องมากกว่า 1อวัยวะ
    • ระยะ3C: มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และ/หรือต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
  • ระยะที่4: แบ่งเป็น 2 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ 4A: มะเร็งลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะ และ/หรือลำไส้ใหญ่
    • ระยะ4B: มะเร็งแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่พบได้บ่อย คือ เข้าสู่ปอด, และ/หรือแพร่กระจายตามระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกช่องท้อง เช่น ในช่องอก หรือเหนือกระดูกไหปลาร้า

โรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกรักษาอย่างไร?

การรักษาหลักของโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก คือ

  • การผ่าตัดออกทั้งมดลูก ปากมดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ ทั้งสองข้าง
  • หลังจากนั้น แพทย์จะพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วย รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด และ/หรือยาฮอร์โมน ทั้งนี้ขึ้นกับ
    • ระยะโรค
    • ชนิดเซลล์มะเร็ง
    • ลักษณะการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
    • อายุ และ
    • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • ส่วนการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกอย่างไร?

ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากการรักษาโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก ขึ้นกับวิธีรักษา โดยผลข้างเคียงจะสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายๆวิธีรักษาร่วมกัน
  • เมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
  • เป็นผู้ป่วยที่สูบบุหรี่
  • เป็นผู้ป่วยที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • เป็นผู้ป่วยสูงอายุ

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากวิธีรักษาต่างๆ เช่น

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ แผลผ่าตัดไม่ติด และผลข้างเคียงจากยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่อเนื้อเยื่อส่วนได้รับรังสี (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้องและ/หรืออุ้งเชิงกราน)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด มีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)
  • ยาฮอร์โมน: ไม่ค่อยพบผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาฮอร์โมน แต่ในบางคนอาจทำให้ หิวบ่อย น้ำหนักตัวจึงขึ้นได้ง่าย และ/หรือคลื่นไส้อาเจียนแต่อาการไม่รุนแรง
  • ยารักษาตรงเป้า: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากยารักษาตรงเป้า(ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง) เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยารักษาตรงเป้าบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ ลำไส้ทะลุ ได้

โรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก มีความรุนแรง(การพยากรณ์โรค)ในระดับปานกลาง ถึงมีความรุนแรงสูง แต่มีโอกาสรักษาได้หาย

ทั้งนี้โอกาสรักษาได้หาย หรือความรุนแรงของโรค จะขึ้นกับ

  • ระยะโรค(ยิ่งระยะโรคสูง ความรุนแรงโรคสูง)
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง (มะเร็งชนิด Carcinosarcoma ความรุนแรงโรคสูง)
  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(ถ้าเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวสูง โรครุนแรงสูง)
  • การสามารถผ่าตัดมดลูกได้หรือไม่(ถ้าผ่าตัดมดลูกออกได้เพียงบางส่วน ความรุนแรงโรคสูง)
  • อายุผู้ป่วย(ยิ่งอายุมาก ความรุนแรงโรคสูง)
  • โรคร่วมต่างๆและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ที่ยิ่งมีโรคประจำตัว ความรุนแรงของโรคมะเร็งนี้จะยิ่งสูงขึ้น

อนึ่ง ในกลุ่มโรคที่มีความรุนแรงโรคสูง อัตรารอดชีวิตหลังการรักษาที่ 2 ปี ประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม อัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกทุกชนิดในภาพรวมภายหลังการรักษา คือ

  • ระยะที่1: ประมาณ 60-70%
  • ระยะที่ 2: ประมาณ 40-50%
  • ระยะที่3: ประมาณ 20-40%
  • ระยะที่4: ประมาณ 0-15%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกไหม?ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ หรือ จากการตรวจภายในประจำปีเพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อาจช่วยให้แพทย์พบโรคได้เร็วขึ้นได้

ป้องกันโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูก ดังนั้นการรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆทางระบบอวัยวะภายในสตรี หรือดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’ หรือจาก การตรวจภายในเพื่อการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก อาจช่วยให้แพทย์ตรวจพบโรคนี้ได้เร็วขึ้นกรณีตรวจพบผู้ป่วยมีมดลูกโตผิดปกติ

ดูแลตนเองอย่างไร?ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในมะเร็งทุกชนิดจะคล้ายคลึงกันซึ่งรวมถึงในมะเร็งซาร์โคมามดลูก สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • และควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น เลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น ตกขาวมากขึ้น ปวดอุ้งเชิงกรานมากขึ้น
    • มีไข้โดยเฉพาะร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่นทั้งตัว
    • กังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. วสันต์ ลีนะสมิต และสมเกียรติ ศรีสุพรรณดิฐ. (1999).ตำรามะเร็งนรีเวชวิทยา.กรุงเทพ. บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด.
  2. Amant,F. et al. (2009). Clinical management of uterine sarcomas. Lacet Oncology. 10, 1188-1198.
  3. Denschlag,D. et al. (2007). Prognostic factors andoutcome in women with uterine sarcoma. EJSO. 33,91-95.
  4. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  5. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers \
  6. Han,J. et al http://www.medscape.com/viewarticle/722721
  7. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
  8. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  9. Zagouri,F. et al. (2009).Treatment of early uterine sarcoma. WJSO.7,38-48.
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Uterine_sarcoma [2019,March9]
  11. https://www.cancer.gov/types/uterine/patient/uterine-sarcoma-treatment-pdq [2019,March9]
  12. https://www.cancer.org/cancer/uterine-sarcoma/detection-diagnosis-staging/staging.html [2019,March9]
  13. https://www.medscape.com/viewarticle/722721 [2019,March9]
  14. https://www.cancer.org/cancer/uterine-sarcoma/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,March9]