มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

มะเร็งช่องปาก/ โรคมะเร็งช่องปาก(Oral cancer) คือมะเร็งของเซลล์/เนื้อเยื่อทุกชนิดในช่องปาก จะเกิดกับตำแหน่งใดของเนื้อเยื่อช่องปากก็ได้ โดยเกิดจากการกลายพันธ์ของเซลล์เนื้อเยื่อช่องปาก ส่งผลให้เซลล์นั้นๆมีการเจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและร่างกายควบคุมการเจริญแบ่งตัวนั้นไม่ได้ จึงเกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อช่องปาก รุกราน/ลุกลามทำลายต่อมน้ำเหลืองลำคอ ทำลายเนื้อเยื่อ /อวัยวะข้างเคียงในใบหน้า และในที่สุดแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองเข้าทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วตัวนอกลำคอ เช่นที่ รักแร้ ช่อง อก ขาหนีบ และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด/โลหิตทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว พบบ่อยที่ ปอด และกระดูก

อนึ่ง ช่องปาก (Oral cavity) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ได้แก่ ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานแข็ง เหงือก ลิ้น และเนื้อเยื่อใต้ลิ้น ซึ่งเนื้อเยื่อ/อวัยวะทุกชนิดของช่องปากสามารถเกิดเป็นมะเร็งได้ทุกส่วน และเป็นมะเร็งที่มีลักษณะเหมือนกัน ทั้งชนิดของเซลล์มะเร็ง การจัดระยะโรค อาการ และวิธีรักษา ดังนั้น มะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั้งหมดของช่องปาก จึงจัดเป็นมะเร็งในกลุ่มเดียวกัน รวมเรียกว่า ‘มะเร็ง/โรคมะเร็งช่องปาก (Oral cancer)’

มะเร็งช่องปากพบได้ 3-5% ของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย เป็นมะเร็งพบบ่อย ของทั้งหญิงและชาย เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป

ในประเทศไทย รายงานโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขในพ.ศ. 2558 โดยเป็นผู้ป่วยช่วง พ.ศ. 2553-2555 พบมะเร็งช่องปากสูงเป็นลำดับที่7ของมะเร็งชายไทย แต่ไม่ติดใน10ลำดับของหญิงไทย

มะเร็งช่องปากมะเร็งช่องปากคืออะไร?

มะเร็งช่องปาก

มะเร็งช่องปาก เป็นส่วนหนึ่งของโรคมะเร็งในกลุ่ม ‘มะเร็งศีรษะและลำคอ’ ซึ่งพบโรคมะเร็งได้หลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา และกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา แต่เกือบทั้งหมดเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมา ซึ่งประมาณ 90-95%จะเป็นชนิด ‘สะความัส (Squamous cell carcinoma) หรือเรียกย่อว่าชนิด เอสซีซี (SCC)’ สำหรับมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma) หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบได้น้อย ดังนั้น ในบทความนี้ จึงกล่าวถึงเฉพาะ ‘มะเร็งช่องปากชนิด เอสซีซี’ เท่านั้น

มะเร็งช่องปากพบในใคร?

โรคมะเร็งช่องปาก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งช่องปาก?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก แต่มีการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ได้แก่

  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/เครื่องดื่มมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อนึ่ง เมื่อทั้งสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปากได้สูงกว่าคนปกติถึงประมาณ 15 เท่า และประมาณ 90% ของผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก เป็นผู้มีประวัติสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน
  • การกิน/เคี้ยว หมาก พลู ยาฉุน ยาเส้น เนื่องจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ มีสารก่อมะเร็งเจือปนอยู่
  • การระคายเคืองของเยื่อเมือกบุช่องปากจากฟันหัก/บิ่น ที่แหลมคมที่ไม่ได้รับการรักษา ฟันผุจนทำให้เหงือกเป็นหนอง เพราะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังร่วมกับการระคายเคืองที่เกิด ขึ้นซ้ำๆนานๆ เซลล์ของเยื่อเมือกบุช่องปากจึงอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง กลายไปเป็นเซลล์มะ เร็งได้
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวี (HPV, Human Papilloma virus, แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เอชพีวี โรคติดเชื้อเอชพีวี) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก จากการมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก (Oral sex)
  • เคยเป็นโรคมะเร็งในบริเวณศีรษะและลำคอมาก่อน

มะเร็งช่องปากมีอาการอย่างไรบ้าง?

อาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่

  • มีฝ้าขาว (Leukoplakia) หรือฝ้าแดง (Erythroplakia) ในเยื่อเมือกบุช่องปาก และ/หรือลิ้น
  • มีแผลในช่องปากที่รักษาไม่หายเป็นเวลานานเกิน 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • มีตุ่ม หรือก้อนในช่องปากที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมักไม่มีอาการเจ็บปวด
  • ฟันโยก หรือหลุด หรือใส่ฟันปลอมไม่ได้ เนื่องจากมีก้อนเนื้อบริเวณเหงือก พื้นปาก หรือเพดานปาก
  • มีปัญหาในการเคี้ยวอาหาร หรือการกลืนอาหาร จากการอุดกั้นของก้อนเนื้อ หรือ จากการเจ็บจากแผลมะเร็ง
  • มีเลือดออกผิดปกติในช่องปากจากแผลมะเร็ง
  • มีก้อนที่ลำคอ ซึ่งคือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ โต คลำได้จากมีโรคมะเร็งลุกลาม แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวด

อนึ่ง หากโรคมะเร็งช่องปาก แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ก็อาจมีอาการตามอวัยวะนั้นๆที่โรคแพร่กระจายไปได้ เช่น มะเร็งกระจายไปกระดูก อาจมีอาการปวดตามกระดูกในส่วนต่างๆที่โรคแพร่กระจายไป

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งช่องปากได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งช่องปาก ได้จาก

  • อาการของผู้ป่วย และการมีก้อนเนื้อ หรือแผลในช่องปาก
  • การตรวจร่างกายโดย เฉพาะในช่องปาก และการคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • การเจาะ/ดูด หรือตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ การตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ทราบการวินิจฉัยโรคมะเร็งที่แน่นอน
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
    • เพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
    • เพื่อดูการทำงานของไขกระดูก
    • เพื่อดูการทำงานของไต
    • เพื่อดูการทำงานของตับ
    • เพื่อดูระดับเกลือแร่ในเลือด(Electrolyte)
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอก ปอด หัวใจ และดูการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ปอด
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอ็มอาร์ไอ (MRI) บริเวณศีรษะและลำคอ เพื่อประเมินการลุกลามและการแพร่กระจายของโรคไปบริเวณอื่นๆในช่องปาก และต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ
  • ตรวจ อัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อดูว่ามีโรคกระจายไปตับหรือไม่
  • ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์(รังสีวิทยา) โดยสะแกนกระดูก ถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่กระจายไปกระดูก
  • ปรึกษาทันตกรรมเพื่อดูแลช่องปากและฟันก่อนเริ่มทำการรักษาด้วยการฉายรังสี (รังสีรักษา)

อนึ่ง การตรวจต่างๆดังกล่าว อาจไม่ได้ทำการตรวจครบในผู้ป่วยทุกราย ขึ้นอยู่กับ ระยะโรค สุขภาพผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

มะเร็งช่องปากมีกี่ระยะ?

มะเร็งช่องปากแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร(ซม.) และโรครุกราน/ลุกลามลงลึกไม่เกิน 5 มิลลิเมตร(มม.)
  • ระยะที่ 2 ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตไม่เกิน2ซมก้อนแต่รุกรานลงลึกมากกว่า 5 มม., และ/หรือ ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร และโรครุกรานลึกไม่เกิน10มม.
  • ระยะที่ 3 ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน4ซม. แต่โรครุกรานลึก มากกว่า 10มม.,และ/หรือ ก้อนมะเร็งโตเกิน4ซม. แต่โรคลุกลามลึกไม่เกิน10มม., และ/หรือ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ 1 ต่อมที่ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม. และอยู่ข้างเดียวกั บรอยโรค
  • ระยะที่ 4 แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ4A ก้อน/แผลมะเร็งโตมากกว่า4ซม.และรุกรานลึกมากกว่า10มม., และ/หรือ ลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือกระดูก และ/หรือ โพรงไซนัส, และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอคอ 1 ต่อมด้านเดียวกับรอยโรคแต่มีขนาดโตกว่า 3 แต่ไม่เกิน6ซม., และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอหลายต่อม, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ข้าง, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเฉพาะด้านตรงข้าม, แต่ต่อมน้ำเหลืองแต่ละต่อมโตไม่เกิน6ซม.
    • ระยะ4B ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามเข้ากระดูกฐานสมอง และ/หรือกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวอาหาร และ/หรือเข้าผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองคอโตมากกว่า 6 ซม.
    • ระยะ4C โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น รักแร้ หรือ ช่องอก หรือขาหนีบ, และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต)ไปทำลายอวัยวะอื่นๆได้ทั่วตัว ที่พบได้บ่อยคือ ปอด ตับ และกระดูก

อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS เป็นระยะที่แพทย์โรคมะเร็งหลายท่านยังไม่จัดให้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non invasive)ทะลุผ่านชั้นเยื่อบุผิว/ เยื่อเมือกของช่องปาก เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก ถ้าผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ90%ขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม เป็นโรคระยะที่พบได้น้อยมาก

รักษามะเร็งช่องปากอย่างไร?

ในการดูแลรักษาโรคมะเร็งช่องปากนั้น มีการรักษาหลักๆ 3 วิธี คือ การผ่าตัด, รังสีรักษา, และยาเคมีบำบัด, ส่วนยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา และยายังมีราคาแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยากลุ่มนี้ได้

  • การผ่าตัด: มักใช้รักษาโรคระยะที่ 1 ระยะที่ 2 หรือระยะที่ 3 ซึ่งจะผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งร่วมกับเนื้อเยื่อปกติรอบๆก้อนมะเร็งออก และอาจทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองลำคอ ออกด้วย หลังผ่าตัดแล้วหากมีข้อบ่งชี้ อาจให้การรักษาต่อด้วยการใช้ รังสีรักษา และ/หรือ การให้ยาเคมีบำบัด
  • การใช้รังสีรักษา: ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ การฉายรังสี และการฝังแร่ วิธีเลือกการรักษานั้นขึ้นอยู่กับขนาด และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง โดยทั้ง 2 วิธีนี้เป็นการรักษาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และการรักษาอาจใช้รังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว หรือใช้ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือการใช้ยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และดุลพินิจของแพทย์
  • การให้ยาเคมีบำบัด: เป็นการให้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย โดยการรักษาอาจใช้ร่วมกับ การผ่าตัด และ/หรือ การใช้รังสีรักษา หรืออาจให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวหากเป็นการรักษาในผู้ป่วยที่มีโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด หรือ ตับ

การรักษามะเร็งช่องปากมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) จากการรักษาในแต่ละวิธีนั้นจะแตกต่างกันตามแต่ละวิธีที่ผู้ป่วยได้รับ และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลายๆวิธีร่วมกัน

ตัวอย่างผลข้างเคียงจากวิธีรักษาแต่ละวิธี ได้แก่

  • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด: เช่น อาการปวด การมีเลือดออกจากแผลผ่าตัด การติดเชื้อ การสูญเสียเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ผ่าตัด และการบาดเจ็บจากผ่าตัดถูกอวัยวะข้างเคียง
  • ผลข้างเคียงจากการรังสีรักษา: เช่น ในเรื่องของผิวหนัง และเนื้อเยื่อต่างๆที่ได้รับรังสี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • ผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัด: เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ไขกระดูกทำงานต่ำลง ทำให้มีภาวะซีด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออกได้ง่าย และมีเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)

มะเร็งช่องปากเป็นโรครุนแรงไหม?

ความรุนแรงของโรคมะเร็งช่องปาก ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย ได้แก่

  • ระยะของโรค คือ ระยะที่ 1 และ 2 โรครุนแรงน้อยกว่าระยะที่ 3 และ 4
  • อายุ คือ ผู้ป่วยอายุน้อย มักจะทนการรักษาได้ดีกว่าผู้ป่วยสูงอายุ จึงมีผลการรักษาที่ดีกว่า
  • สุขภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วย คือ ถ้าผู้ป่วยมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์จะสามารถทนการรักษาได้ดีกว่า จึงมีผลการรักษาที่ดีกว่า
  • โรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง อาจเป็นอุปสรรคต่อการรักษาและเพิ่มผลข้างเคียงจากการรักษา ให้สูงขึ้นกว่าคนปกติ

อนึ่ง โดยทั่วไป หลังการรักษาโรคมะเร็ง

  • ในโรคระยะที่ 1-2 อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 60-80%
  • โรคระยะที่ 3 อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 50-60%
  • โรคระยะที่ 4 กลุ่มยังไม่มีโรคแพร่กระจาย อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 0-30% และ
  • โรคระยะที่ 4 เมื่อมีการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 0-5%

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งช่องปากตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นจึงควรสังเกตความผิดปกติของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของช่องปาก หากพบความผิดปกติ เช่น มีแผลที่รักษาไม่หายใน 2-3 สัปดาห์ มีฝ้าขาว หรือฝ้าแดง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งช่องปากได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งช่องปาก แต่มีข้อแนะนำ เพราะอาจลดปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้บ้าง คือ

  • การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค(ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ)ที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญดังกล่าวแล้ว

นอกจากนั้น ควรดูแลสุขภาพในช่องปากทุกวัน ที่สำคัญคือ

  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน
  • ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้งก่อนแปรงฟันเข้านอน และ
  • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากและฟัน ทุกๆ 6-12 เดือน หรือบ่อยตามทันตแพทย์แนะนำ

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งช่องปาก จะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น เจ็บ/ปวดแผลมะเร็ง/อวัยวะต่างๆมากขึ้น แผลช่องปากติดเชื้อมีหนอง
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกเรื้อรัง ขึ้นผื่นทั้งตัว
    • เมื่อกังวลในอาการ

นอกจากนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด