มะเร็ง (Cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 ตุลาคม 2561
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ มะเร็งคืออะไร?
- โรคมะเร็งต่างจากเนื้องอกอย่างไร?
- โรคมะเร็งเกิดได้อย่างไร?อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?
- โรคมะเร็งมีกี่ชนิด?
- โรคมะเร็งมีอาการอย่างไร?
- แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง?
- โรคมะเร็งมีกี่ระยะ?รักษาโรคมะเร็งได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งรักษาหายไหม?
- มีวิธีดูแลตนเองและดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไหม?
- มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งไหม?
- จะพบแพทย์ขอตรวจโรคมะเร็งได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เนื้องอก (Tumor)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H.pylori infection)
- เอดส์ (AIDS)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
บทนำ มะเร็งคืออะไร?
มะเร็ง/โรคมะเร็ง(Cancer)คือ โรคจากเซลล์ร่างกายเกิดเจริญแบ่งตัวรวดเร็วสูงกว่าปกติและร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งที่ทำลายเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดโรค ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และในที่สุดจะแพร่กระจายทางกระแสโลหิตและทางระบบน้ำเหลือง ส่งผลต่อเนื่องให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดมะเร็งและที่มีมะเร็งแพร่กระจายทำงานไม่ได้ตามปกติ จึงเกิดเป็นอาการผิดปกติต่างๆขึ้น และต่อมาอวัยวะต่างๆที่มีมะเร็งจึงล้มเหลว โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญคือ ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก ไขกระดูก) จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
โรคมะเร็ง เป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงในอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ส่วนในเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า
โรคมะเร็งที่พบบ่อยของชายไทย เรียงจากลำดับแรกลงไป 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็ง ตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว ช่องปากกระเพาะปัสสาวะ หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร
โรคมะเร็งพบบ่อยของหญิงไทย เรียงจากลำดับแรกลงไป 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็ง เต้านม ปากมดลูก ตับ ลำไส้ใหญ่ ปอด รังไข่ ต่อมไทรอยด์ ต่อมน้ำเหลือง มดลูก และ เม็ดเลือดขาว
โรคมะเร็งพบบ่อยในเด็กไทย เรียงจากลำดับแรก 4 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคเนื้องอก/มะเร็งสมอง และโรคมะเร็งนิวโรบลาสโตมา/Neuroblastoma (มะเร็งของประสาทซิมพาทีติก)
โรคมะเร็งต่างจากเนื้องอกอย่างไร?
โรคมะเร็งต่างจากเนื้องอกที่ ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็ง โตเร็ว ลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าหลอดเลือด/กระแสโลหิต/กระแสเลือด และหลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย โดยมักแพร่สู่ ปอด ตับ สมอง กระดูก และไขกระดูก ดังนั้นโรคมะเร็งจึงเป็นโรคเรื้อรัง รุนแรง มีการรักษาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง
ส่วนโรคเนื้องอก ได้แก่ มีก้อนเนื้อผิดปกติ แต่โตช้า ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เพียงกด หรือ เบียดทับเมื่อก้อนโตขึ้น ไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ไม่แพร่กระจายทางกระแสโลหิต และทางกระแสน้ำเหลือง จึงเป็นโรคมักรักษาได้หายโดยเพียงการผ่าตัด
โรคมะเร็งเกิดได้อย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?
สาเหตุของโรคมะเร็งยังไม่ชัดเจน แต่แพทย์พบปัจจัยเสี่ยงได้หลายปัจจัยเสี่ยง และเชื่อว่า สาเหตุน่ามาจากหลายๆปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน โอกาสเกิดจากปัจจัยเดียวพบได้น้อยมาก โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคมะเร็ง ได้แก่
- มีพันธุกรรมผิดปกติ เป็นได้ทั้งพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ หรือ พันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด
- สูบบุหรี่ ที่รวมถึง สูบบุหรี่มือสอง
- ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- ขาดสารอาหารต่างๆ
- ขาดการกินผัก และผลไม้
- กินอาหารไขมัน และ/หรือ เนื้อแดงสูงต่อเนื่อง เป็นประจำ
- การสูดดมสารพิษบางชนิดเรื้อรัง เช่น สารพิษในควันบุหรี่ (สารก่อมะเร็ง หรือ สัมผัสสารก่อมะเร็ง (Carcinogen https://en.wikipedia.org/wiki/Carcinogen) อย่างต่อเนื่องโดย เฉพาะในปริมาณสูง
- ร่างกายได้รับโลหะหนักเรื้อรังจาก การหายใจ อาหาร และ/หรือ น้ำดื่ม เช่น สารปรอท
- ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส เอชไอวี (HIV) ไวรัส เอชพีวี (HPV)
- ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อเอชไพโลริในกระเพาะอาหาร (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)
- ติดเชื้อพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ตับ
- การใช้ยาฮอร์โมนเพศต่อเนื่อง
- สูงอายุ เพราะเซลล์ผู้สูงอายุมีการเสื่อม และการซ่อมแซมต่อเนื่อง จึงเป็นสาเหตุให้เซลล์กลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้
- การได้รับรังสีบางชนิดเรื้อรัง โดยเฉพาะในปริมาณสูง เช่น รังสีเอกซ์ รังสียูวี/แสงแดด
- ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด
โรคมะเร็งมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งมีหลากหลายชนิด ขึ้นกับ เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดมะเร็ง ทั่วไปแบ่งมะเร็งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
ก. คาร์ซิโนมา(Carcinoma): เป็นมะเร็งกลุ่มใหญ่ที่พบบ่อยสุดของมะเร็งทั้งหมด มักพบเกิดในผู้ใหญ่ โดยเป็นมะเร็งของเนื่อเยื่อบุผิว และของเยื่อเมือก ของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด (แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง มะเร็งคาร์ซิโนมา แต่ละชนิดย่อยของมะเร็งกลุ่มนี้ได้ในเว็บ haamor.com)
ข. ซาร์โคมา(Sarcoma): เป็นมะเร็งกลุ่มพบได้น้อย พบทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก โดยเป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น มะเร็งกล้ามเนื้อลาย มะเร็งซาร์โคมามดลูก มะเร็งคาโปซิ มะเร็งกระดูก (แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง มะเร็งซาร์โคมา และแต่ละชนิดย่อยของมะเร็งกลุ่มนี้ได้ในเว็บ haamor.com)
ค. มะเร็งระบบโลหิตวิทยา/มะเร็งโรคเลือด(Hematologic malignancy) อีกชื่อ คือ Non-solid tumor เป็นมะเร็งในเนื้อเยื่อระบบโลหิตวิทยา เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความแต่ละชนิดย่อยของมะเร็งกลุ่มนี้ได้ในเว็บ haamor.com)
ง. เนื้องอกเจิมเซลล์ มะเร็งเจิมเซลล์(Germ cell tumor) คือมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อน(Germ cell)ของอวัยวะเพศ คือ อัณฑะในเพศชาย และรังไข่ในเพศหญิง เช่น มะเร็งอัณฑะ มะเร็งรังไข่ชนิดเจิมเซลล์ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมบทความเรื่อง เนื้องอกเจิมเซลล์ มะเร็งเจิมเซลล์ และบทความแต่ละชนิดย่อยของมะเร็งกลุ่มนี้ได้ในเว็บ haamor.com)
จ. มะเร็งบลาสโตมา(Blastoma) หรือ บลาสท์(Blast): คือมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อนที่เคยมีอยู่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์(Embryo) เป็นมะเร็งที่มักพบในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก พบน้อยมากๆๆในผู้ใหญ่ เช่น มะเร็งจอตา มะเร็งนิวโรบลาสโตมา มะเร็ง/เนื้องอกวิมส์/มะเร็งไตในเด็ก
โรคมะเร็งมีอาการอย่างไร?
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยที่แตกต่างคือ มักเป็นอาการที่เลวลงเรื่อยๆและเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการต่างๆนานเกิน 1-2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม อาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ได้แก่
- มีก้อนเนื้อโตเร็ว หรือ มีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการดูแลตนเองในเบื้องต้น
- มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักโตเกิน1 ซม. มักแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อยๆ
- ไฝ ปาน หูด ที่โตเร็วผิดปกติ หรือ เป็นแผลแตก
- หายใจ หรือ มีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้) อาจปนกับน้ำมูกเป็นมูกเลือด
- ไอเรื้อรัง หรือ ไอเป็นเลือด
- มี เสมหะ น้ำลาย หรือ เสลด ปนเลือดบ่อย
- อาเจียนเป็นเลือด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือ เป็นมูกเลือด
- ท้องผูก สลับท้องเสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือ มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือ หลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นอึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีไข้ต่ำๆหาสาเหตุไม่ได้
- มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้
- ผอมลงมากใน 6 เดือน มักตั้งแต่ 10%ขึ้นไปของน้ำหนักตัวเดิม
- มีจ้ำห้อเลือดง่าย หรือ มีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
- ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือ แขน/ขาอ่อนแรง หรือ ชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
- ปวดหลังเรื้อรัง และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจร่วมกับ แขน/ขาอ่อนแรง
- เหงื่อออกกลางคืนจนชุ่มตัว ต่อเนื่อง โดยหาสาเหตุไม่ได้
แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง?
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งได้จาก ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจภาพเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่มีอาการด้วย เอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ เจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา (ตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางพยาธิวิทยา)
โรคมะเร็งมีกี่ระยะ?
ระยะโรคมะเร็ง คือ ตัวบอกความรุนแรงของโรค/การพยากรณ์โรค คือบอกถึง การลุกลามและแพร่กระจาย บอกแนวทางการรักษา และแพทย์ใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1-4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น เอ (A) บี (B) หรือ ซี (C) หรือ เป็น หนึ่ง หรือ สอง เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา
ทั้งนี้ 4 ระยะหลักของโรคมะเร็ง คือ
- ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
- ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ
- ระยะที่ 3: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
- ระยะที่ 4: ก้อน/แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง จนทะ ลุ และ/หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/หรือ มีหลากหลายต่อม และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/หรือ หลอดน้ำเหลือง/กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
**ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์(0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์มีเพียง ลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive)ออกนอกเยื่อบุผิว เรียกอีกชื่อว่า Carcinoma in situ ย่อว่า CIS
รักษาโรคมะเร็งได้อย่างไร?
วิธีรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ได้แก่ ผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง รังสีร่วมรักษา และการรักษาประคับประคองตามอาการด้วยอายุรกรรมทั่วไป
การรักษาโรคมะเร็งอาจเป็นวิธีใดวิธีเดียว หรือ หลายวิธีร่วมกันซึ่งปัจจุบันเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ โดยเฉพาะใน มะเร็งชนิดรุนแรง ระยะโรครุนแรง ทั้งนี้วิธีรักษาขึ้นกับ
- ระยะโรค
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง
- เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะใด
- ผ่าตัดได้หรือไม่ หลังผ่าตัด ยังคงหลงเหลือก้อนมะเร็งหรือไม่
- ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร
- อายุ และ
- สุขภาพผู้ป่วย
โรคมะเร็งรักษาหายไหม?
โรคมะเร็งเป็นโรครักษาได้หาย แต่ทั้งนี้ โอกาสรักษาหาย ขึ้นกับ
- ระยะโรค
- ชนิดเซลล์มะเร็ง
- ผ่าตัดได้หรือไม่ ถ้าผ่าตัดได้ สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดหรือไม่
- มะเร็งเป็นชนิดดื้อต่อ รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด และ/หรือยารักษาตรงเป้า หรือไม่
- อายุ และ
- สุขภาพผู้ป่วย
อนึ่ง ในภาพรวมโดยประมาณ อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี (โอกาสรักษามะเร็งได้หาย) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง คือ
- โรคระยะ 0: 90-100%
- โรคระยะที่1: 70-90%
- โรคระยะที่2: 70-80%
- โรคระยะที่3: 20-60%
- โรคระยะที่4: 0-15%
มีวิธีดูแลตนเองและดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?
การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด จะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ที่รวมถึงในมะเร็งเด็ก แนะนำอ่านเพิ่มเติมวิธีดูแลตนเองและวิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้ ในบทความต่างๆในเว็บ haamor. com เรื่อง
- การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
- รังสีรักษา
- ยาเคมีบำบัด
- ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา
- ผลข้างเคียงและการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณปอด
- ผลข้างเคียงและการดูแลในการฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านม
- ผลข้างเคียงและวิธีดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน
- การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ
- การดูแลแผลบริเวณฉายรังสี
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง
- การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
- มะเร็งเด็ก
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไหม?
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ การตรวจให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ (มักเป็นมะเร็งในระยะ 0 หรือระยะ 1) ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งในระยะนี้ มีโอกาสรักษาได้หายสูงกว่าโรคมะเร็งในระยะอื่นๆ
- การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ การตรวจที่เมื่อพบโรคแล้ว ภายหลังการรักษา ผู้ป่วยจะมีอัตรารอดจากโรคมะเร็งสูงขึ้น หรือมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลงนั่นเอง
- ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ ตรวจคัดกรองโรค มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ส่วนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ตับ ปอด ต่อมลูกหมาก เยื่อบุโพรงมดลูก และรังไข่ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ในหมู่แพทย์ ถึง ข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงจากการตรวจ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการตรวจว่า เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และควรพิจารณาให้การตรวจเฉพาะกับบุคคลกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเหล่านี้เท่านั้น
มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งไหม?
ปัจจุบัน วิธีป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่หลีกเลี่ยงได้ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ทุกวัน ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือ ผอม เกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพ สม่ำเสมอ
- รับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดมีประสิทธิภาพดังได้กล่าวแล้ว
- หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง
จะพบแพทย์ขอตรวจโรคมะเร็งได้อย่างไร?
การเตรียมตัวพบแพทย์เพื่อ ตรวจ และ/หรือ รักษา โรคมะเร็ง ได้แก่
- เตรียมเอกสารสิทธิต่างๆให้พร้อม
- เอกสาร/ยา/ผลตรวจต่างๆ/เอกซเรย์ เมื่อเคยรักษาโรคต่างๆมาก่อน รวมทั้งใบส่งตัวจากต้นสังกัด หรือ จากแพทย์ต้นสังกัด (เมื่อเป็นการส่งตัวรักษาต่อ)
- ใส่เสื้อผ้า รองเท้า ที่สวมสบาย เปลี่ยน ถอดง่าย เพราะในการตรวจอาจต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้า รองเท้า
- สมุดจดบันทึก เพื่อจดบันทึกสิ่งที่แพทย์แนะนำ หรือ ต้องการเพิ่มเติม รวมทั้งจดบันทึกคำถามต่างๆที่ต้องการถามแพทย์
- ญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คน (สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือ บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว) กรณีพบแพทย์เพื่อการรักษา ทั้งนี้เพื่อร่วมปรึกษา รับฟัง และเซ็นยินยอมรักษา
- งดอาหาร และน้ำดื่ม อย่างน้อย 8 ชั่วโมง เผื่ออาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins
- Edge, S. et al. (2010). AJCC: Cancer staging handbook. New York: Springer
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
- Imsamran, W. et al. 2015. Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Khuhaprema, T., Srivatanakul, P., Attasara, P., Sriplung, H., Wiangnon,S., and Sumitsawan, Y. (2010). Cancer in Thailand. Volume IV, 2001--2003. National Cancer Institute. Thailand
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cancer [2018,Sept8]