มอร์โฟลาย (Morpholine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยามอร์โฟลาย/อนุพันธ์ยามอร์โฟลาย(Morpholine)เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี มีฤทธิ์เป็นยาต้านเชื้อรา ทั้งนี้ ประโยชน์ที่มนุษย์นำสารนี้มาใช้มีหลายประการ ดังนี้ เช่น

  • ใช้เป็นสารปรับความเป็นกรด–ด่างในน้ำมันปิโตรเลียมและระบบทำไอน้ำของ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
  • ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์อย่าง Enamines หรือใช้ในกระบวนการเตรียมยาปฏิชีวนะ Linezolid ยาต้านมะเร็ง เช่น Gefitinib รวมถึงยาแก้ปวด อย่างเช่นยา Dextromoramide ในบางครั้งยามอร์โฟลายยังถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายสำหรับปฏิกิริยาทางเคมีต่างๆอีกด้วย
  • ใช้เป็นสารลดแรงตึงผิวในกระบวนการเคลือบผิวผลไม้
  • มีอนุพันธ์ของมอร์โฟลายที่นำมาใช้ฆ่าเชื้อรา/ต้านเชื้อราในวงการเกษตรกรรมอย่างเช่น Fenpropimorph และ Tridemorph
  • ใช้เป็นยารักษาเชื้อรา/ยาต้านเขื้อรา เช่น อนุพันธ์ของมอร์โฟลายที่มีชื่อว่า อะมอโรลฟีน (Amorolfine) โดยมีลักษณะการใช้เป็นยาทาเล็บเพื่อรักษาการติดเชื้อราที่เล็บมือ–เล็บเท้า เภสัชภัณฑ์ที่พบเห็นการจัดจำหน่ายในประเทศไทยมีชื่อว่า “Loceryl” ซึ่งจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ดังนั้นการเลือกใช้เภสัชภัณฑ์ของกลุ่มยา มอร์โฟลาย จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

มอร์โฟลายมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

มอร์โฟลาย

อนุพันธ์ของมอร์โฟลลายที่มีชื่อว่ายา Amorolfine ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรคเชื้อราที่เล็บมือ–เล็บเท้า

มอร์โฟลายมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มอนุพันธ์ของสารมอร์โฟลาย(ยา Amorolfine) มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารประกอบที่เป็นปัจจัยการดำรงชีวิตของเชื้อรา ส่งผลต่อกลไกการดำรงชีวิตของเชื้อรา ส่งผลทำให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตและหยุดการแพร่พันธุ์ในที่สุด

มอร์โฟลายมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยามอร์โฟลาย มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาใช้ภายนอก เช่น ยาทาเล็บที่ใช้รักษาเชื้อราที่เล็บ

มอร์โฟลายมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้เภสัชภัณฑ์มอร์โฟลายต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ เท่าที่พบเห็นจะเป็น ยาใช้ภายนอกร่างกาย อย่างเช่นยา Amorolfine ซึ่งใช้ทาเล็บรักษาเชื้อราที่เล็บ สัปดาห์ละ 1–2 ครั้ง ขนาดและระยะเวลาการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยามอร์โฟลาย ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยามอร์โฟลาย อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมใช้ยามอร์โฟลาย สามารถใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาขนาดปกติ

มอร์โฟลายมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อนุพันธ์ของยามอร์โฟลาย เป็นยาใช้ภายนอกเฉพาะที่เล็บ เราสามารถพบเห็นผลข้างเคียงต่อผิวหนังได้ เช่น ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง แสบคันในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยานี้

มีข้อควรระวังการใช้มอร์โฟลายอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยามอร์โฟลาย เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • กรณีเป็นยาใช้ภายนอกที่รวมถึง ยามอร์โฟลาย ห้ามมิให้เภสัชภัณฑ์ยามอร์โฟลาย เข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก เข้าหู
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยามอร์โฟลายด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

มอร์โฟลายมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่มีรายงานพบยามอร์โฟลายที่ใช้เป็นยาใช้ภายนอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษามอร์โฟลายอย่างไร?

ควรเก็บยามอร์โฟลายภายใต้ข้อกำหนดในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

มอร์โฟลายมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยามอร์โฟลาย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้จำหน่าย/ผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Loceryl (โรเซริล)Galderma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Morpholine[2017,Aug12]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Fenpropimorph[2017,Aug12]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Amorolfine[2017,Aug12]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/loceryl[2017,Aug12]
  5. http://www.medindia.net/doctors/drug_information/amorolfine.html[2017,Aug12]