มดลูกทะลุ (Uterine perforation)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 20 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- มดลูกทะลุทะลุคืออะไร?
- มดลูกทะลุอันตรายหรือไม่?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อมดลูกทะลุ?
- อาการของมดลูกทะลุเป็นอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยมดลูกทะลุอย่างไร?
- รักษามดลูกทะลุอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนของมดลูกทะลุมีอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีมดลูกทะลุ
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- หากเคยมีมดลูกทะลุแล้ว นานแค่ไหนจึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้?
- หากตั้งครรภ์หลังจากเคยมีมดลูกทะลุจะเสี่ยงต่อมดลูกแตกหรือไม่?
- หากตั้งครรภ์หลังจากเคยมีมดลูกทะลุ สามารถคลอดเองได้หรือไม่?
- ป้องกันมดลูกทะลุได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ (Uterine rupture in pregnancy)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
- การขูดมดลูก (Fractional dilatation and curettage)
- การใส่ห่วงคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย (Intrauterine device birth control)
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)
- การผ่าท้องคลอดบุตร การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง (Caesarean section)
- การสวนล้างช่องคลอด (Vaginal douching)
มดลูกทะลุทะลุคืออะไร?
มดลูกทะลุ (Uterine perforation) คือ ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการทำหัตถการต่างๆทางการแพทย์ในโพรงมดลูก เช่น การขูดมดลูก, การใช้กล้องตรวจสอบโพรงมดลูก (Hysteroscopy), โดยที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ไปแทงทะลุกล้ามเนื้อมดลูก หรือไปตัดกล้ามเนื้อมดลูกลึกจนทะลุเข้าไปในช่องท้อง
อุบัติการณ์เกิดมดลูกทะลุจะแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาลโดยขึ้นกับจำนวนสตรีที่ได้รับการทำหัตการในโพรงมดลูก ซึ่งเคยมีรายงานจากโรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ พบมดลูกทะลุได้ประมาณ 0.002-1.7% ของสตรีที่ได้รับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
มดลูกทะลุอันตรายหรือไม่?
การที่มดลูกทะลุ หากเกิดจากอุปกรณ์ฯขนาดเล็กมักไม่ทำให้เสียเลือดมาก แต่หากอุปกรณ์ฯมีขนาดใหญ่ สามารถทำให้เกิดการฉีกขาดที่กล้ามเนื้อมดลูกมาก ทำให้เลือดออกมากได้
นอกจากนั้น:
- อุปกรณ์ฯ นั้นๆ ที่ทะลุออกไปนอกโพรงมดลูกสามารถทำอันตรายต่อเส้นเลือดในช่องท้อง และ/หรือเส้นเลือดที่ลำไส้ฉีกขาดได้ ทำให้เสียเลือดมากขึ้น
- หรือ อุปกรณ์ฯอาจพลาดไปทะลุลำไส้หรือทะลุกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องท้อง/เยื่อบุช่องท้องอักเสบตามมา
ดังนั้นหากวินิจฉัยภาวะนี้ได้ล่าช้า ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียเลือดมาก, และ/หรือ เกิดการติดเชื้อในช่องท้องรุนแรง, และ/หรือ มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อได้
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อมดลูกทะลุ?
สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดมดลูกทะลุ เช่น
- สตรีที่มีปากมดลูกตีบ(Cervical stenosis) ที่จำเป็นต้องได้รับการทำหัตถการในโพรงมดลูก ทำให้การใส่อุปกรณ์ฯผ่านรูปากมดลูกยาก ต้องใช้แรงมากจึงมีโอกาสพลาดมากขึ้นที่จะทำให้เกิดมดลูกทะลุเมื่อฝืนใส่อุปกรณ์ผ่านปากมดลูกเข้าไป อุปกรณ์ฯจึงอาจทะลุมดลูกเข้าไปในช่องท้อง หรือ ทะลุช่องคลอด ซึ่งสตรีที่มีปากมดลูกตีบ พบบ่อยใน
- สตรีวัยหมดประจำเดือน
- สตรีที่เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณปากมดลูก
- สตรีที่มีการทำแท้งโดยการใส่เครื่องมือ/อุปกรณ์ฯเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อขูดเอาชิ้นส่วนของทารกและของรกออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการอักเสบหรือติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)จะส่งผลให้กล้ามเนื้อมดลูกอ่อนแอ จึงมีโอกาสที่จะทะลุมากขึ้นเมื่อทำการขูดมดลูก
- สตรีที่มีประจำเดือนผิดปกติที่ได้รับการขูดมดลูกเพื่อการวินิจฉัยโรคหาสาเหตุที่ถูกต้อง
- สตรีที่ใส่ห่วงอนามัย: เนื่องจากก่อนใส่ห่วงอนามัย ต้องมีการวัดความลึกของโพรงมดลูกก่อนทำการใส่ห่วงอนามัย โดยแพทย์ใช้อุปกรณ์ฯเป็นแท่งโลหะยาว (Uterine sound) สอดเข้าไปในโพรงมดลูกก่อน ซึ่งทำให้มีโอกาสมดลูกทะลุได้
- สตรีที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกมดลูก, และ/หรือติ่งเนื้อในโพรงมดลูกผ่านทางกล้องส่องโพรงมดลูก (Hysteroscopic surgery)
อาการของมดลูกทะลุเป็นอย่างไร?
ภายหลังการทำหัตถการทางการแพทย์ในโพรงมดลูก อาการที่อาจบ่งบอกว่ามีมดลูกทะลุ เช่น
- ปวดท้อง: อาการปวดท้องจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดรูที่มดลูกที่ถูกแทงทะลุ
- ถ้าแผลทะลุมีขนาดใหญ่ ทำให้มีเลือดออกมาก ก็จะทำให้ปวดท้องมาก หรือนอกจากมดลูกทะลุแล้ว อุปกรณ์ฯ ไปทำอันตรายต่อลำไส้ ก็ทำให้ปวดท้องอย่างมากด้วย
- แต่หากรูทะลุมีขนาดเล็ก มีเลือดออกเล็กน้อย หรือไม่มีเลือดออก อาการปวดท้องอาจมีเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการปวดท้องเลยก็ได้
- มีภาวะช็อก, ความดันโลหิตต่ำ, หากมีการเสียเลือดมาก
- มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก
- ท้องอืด แน่นท้อง ผิดปกติ
- ปัสสาวะเป็นเลือดหลังทำหัตถการ
- มีไข้
- ในกรณีที่รูทะลุที่มดลูกมีขนาดเล็ก ไม่มีเลือดออกในช่องท้องมาก, อาจไม่มีอาการเลยก็ได้
แพทย์วินิจฉัยมดลูกทะลุอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยมดลูกทะลุได้โดย
- วินิจฉัยภาวะนี้ขณะทำหัตถการในโพรงมดลูก เช่น ขูดมดลูก, หากพบว่าสามารถใส่อุปกรณ์เข้าไปในโพรงมดลูกได้ลึกผิดปกติ เกินขนาดของมดลูกที่ตรวจได้
- ในกรณีที่รูมดลูกทะลุมีขนาดใหญ่ อาจพบไขมันในช่องท้อง (Omentum) ติดอุปกรณ์ขูดมดลูกออกมาด้วย, หรือ อาจมองเห็นลำไส้ออกมาทางช่องคลอดได้
- ในกรณีที่ทำการผ่าตัดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกมดลูกในโพรงมดลูกด้วยขดลวดไฟฟ้า หากตัดลึกเข้าไปในเนื้อมดลูกจนทะลุ จะสังเกตเห็นอวัยวะในช่องท้องหรือในโพรงมดลูกแฟบ ไม่ขยายตัว, หรือของเหลวที่ใส่เข้าในโพรงมดลูก หมดไปอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีของเหลวส่วนที่ไหลกลับมาจากปากมดลูก
- มีเลือดออกจากโพรงมดลูกมากผิดปกติ
- สัญญาณชีพผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงผิดปกติ
- ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมากผิดปกติ
- *ในรายที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ต้นในขณะผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล ผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว, ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดท้อง ท้องอืด มีไข้ มีเลือดปนหนองออกทางปากช่องคลอด
รักษามดลูกทะลุอย่างไร?
แนวทางการรักษามดลูกทะลุ ได้แก่
- ในกรณีที่วินิจฉัยได้ทันทีขณะทำหัตถการในโพรงมดลูก:
- แพทย์จะหยุดหัตถการนั้นๆทันที และให้เฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยเกี่ยวกับการเสียเลือดในโรงพยาบาล
- ให้ผู้ป่วยงด น้ำและอาหาร, ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
- มีการตรวจสัญญาณชีพของผู้ป่วยเป็นระยะๆ
- ประเมินอาการ/อาการแสดงของผู้ป่วยที่บ่งว่ามีเลือดในช่องท้อง เช่น อาการปวดท้องอย่างมาก, อาการแข็งเกร็งบริเวณท้อง
- หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปสังเกตอาการต่อที่บ้านได้
- ในกรณีที่แผลจากมดลูกทะลุมีขนาดใหญ่, หรือตัดกล้ามเนื้อมดลูกไปมากจนทะลุ มีการเสียเลือดมาก: ผู้ป่วยจะปวดท้องมาก, สัญญาณชีพไม่คงที่, แพทย์ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยไปผ่าตัด เช่น เย็บบริเวณมดลูกที่ทะลุ เพื่อหยุดยั้งเลือดออก, และมีการให้เลือดและสารน้ำทดแทน
- ในกรณีที่เกิดภยันตรายต่อลำไส้ร่วมด้วย จะทำให้เกิดการอักเสบในช่องท้อง, ต้องมีการผ่าตัดช่องท้องเพื่อเข้าไปซ่อมแซมส่วนลำไส้ที่ถูกแทงทะลุ, และมีการให้ยาปฏิชีวนะต่างๆเพื่อควบคุมการติดเชื้อ
ภาวะแทรกซ้อนของมดลูกทะลุมีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของมดลูกทะลุที่อาจพบได้ เช่น
- มีเลือดออกในช่องท้อง ซึ่งหากเสียเลือดมาก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดช่องท้องฉุกเฉินเพื่อหยุดภาวะเลือดออก
- มีภยันตรายต่อลำไส้ เช่น ลำไส้ทะลุ ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดช่องท้องฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมอวัยวะในช่องท้องที่ได้รับภยันตราย
- ในระยะยาวอาจทำให้เกิดพังผืดในช่องท้องได้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และ/หรือ เกิดภาวะมีบุตรยากในอนาคตได้
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีมดลูกทะลุ?
การดูแลตนเองเมื่อมีมดลูกทะลุและแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ได้แก่
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
- รับประทานยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ
- รับประทานอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
- งด/ห้ามการสวนล้างช่องคลอด
- สังเกตอาการผิดปกติต่างๆที่ต้องรีบด่วนไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เช่น ปวดท้องมากผิดปกติ มีไข้ ตกขาวผิดปกติ เช่น กลิ่นเหม็น และ/หรือมีเลือดปน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องมากผิดปกติ มีไข้ ตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น และ/หรือมีเลือดปน ควรต้องรีบด่วนมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่นนัดเสมอ
หากเคยมีมดลูกทะลุแล้ว นานแค่ไหนจึงจะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้?
ไม่มีการศึกษาที่แน่นอนว่า ต้องเว้นระยะการตั้งครรภ์ไปนานเพียงใดหลังการมีมดลูกทะลุ
- แต่ส่วนมาก โดยทั่วไป แพทย์มักแนะนำ การคุมกำเนิดไปประมาณ 3 เดือน ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ครั้งใหม่ในกรณีที่รูแผลทะลุที่มดลูกไม่ใหญ่
- แต่สำหรับในรายที่รูทะลุใหญ่ที่ต้องมีการผ่าตัดเข้าไปเย็บซ่อมมดลูก แพทย์อาจแนะนำคุมกำเนิดไปประมาณ 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ ก่อนวางแผนการตั้งครรภ์ครั้งใหม่
หากตั้งครรภ์หลังจากเคยมีมดลูกทะลุจะเสี่ยงต่อมดลูกแตกหรือไม่?
หากแผล/รูมดลูกทะลุเป็นรูขนาดเล็ก ร่างกายจะมีกลไกในการซ่อมแซมผนังมดลูกด้วยตนเอง และโอกาสเกิดมดลูกแตกในสตรีตั้งครรภ์จึงมักจะน้อย
แต่หากรูมดลูกทะลุใหญ่มาก กล้ามเนื้อมดลูกบริเวณที่แพทย์เย็บซ่อม มักอ่อนแอกว่าบริเวณอื่นๆ มดลูกจึงมีโอกาสแตกได้ง่าย แพทย์ผู้ดูแลสตรีตั้งครรภ์ มักต้องแนะนำให้สตรีตั้งครรภ์ผ่าตัดคลอดบุตรก่อนการเจ็บท้องคลอดบุตร
*ดังนั้นเวลามีการฝากครรภ์ ผู้ป่วยที่มีประวัติเย็บซ่อมแซมมดลูก จึงต้องบอกแพทย์ พยาบาล ผู้ดูแลด้วยเสมอ
หากตั้งครรภ์หลังจากเคยมีมดลูกทะลุ สามารถคลอดเองได้หรือไม่?
วิธีการคลอดหลังเคยมีมดลูกทะลุ:
- หากแผลมดลูกทะลุเป็นรูขนาดเล็ก: สามารถคลอดทางช่องคลอดได้เอง
- แต่หากรูมดลูกทะลุใหญ่มาก: กล้ามเนื้อมดลูกบริเวณที่เย็บซ่อมมักอ่อนแอกว่าบริเวณอื่นๆ แพทย์มักแนะนำการผ่าท้องคลอดบุตร