ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) คือ การรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยการให้ผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้ หรือ ให้สิ่งแปลกปลอม (Allergen) ที่ร่างกายแพ้อยู่ทีละน้อยๆเพื่อลดความไวของระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายผู้ป่วยต่อสารก่อภูมิแพ้/สิ่งแปลกปลอมนั้นๆ

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคพบบ่อย เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีความไว/การตอบสนองมากเกินปกติต่อสารก่อภูมิแพ้/สิ่งแปลกปลอมที่มากระตุ้น  ซึ่งเป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (ภูมิคุ้มกันฯ) ของร่างกาย

โดยทั่วไป  ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีหน้าที่ในการปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมภายนอกหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า’สารก่อภูมิแพ้/แอลเลอร์เจน (Allergen)’ หรือ ‘สารก่อภูมิต้านทาน/แอนติเจน (Antigen)’ โดยส่วนมากจะกล่าวถึง เชื้อโรค, สารเคมี, ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะทำการสร้างที่เรียกว่า’สารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibodies)’ เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอม  

แต่ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันฯมีความไวอย่างผิดปกติ แม้แต่สิ่งแปลกปลอมที่ในคนทั่วไปไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น ฝุ่น ซากแมลงสาบ เกสรดอกไม้ หญ้า อาหาร  ยา หรือ สารเคมีบางชนิด ร่างกายของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ก็จะสร้างสารภูมิต้านทานมาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวด้วย

ผลจากการสร้างสารภูมิต้านทานของร่างกายจะทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งแปลกปลอม นำมาซึ่งอาการแสดงต่างๆ เช่น การเพิ่มสารคัดหลั่งตามเยื่อบุจมูก เยื่อบุตา ลำคอ ทำให้เกิด อาการอักเสบ เกิดการบวม หรือมีสารเมือกออกมามากกว่าปกติ เช่น น้ำมูกไหล, อาการคันตามผิวหนังหรือจมูก, หายใจไม่สะดวก, หรือเกิดเป็นโรคหืด, ฯลฯ,  ซึ่งในรายที่เป็นรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

โรคภูมิแพ้ มีหลายประเภท เช่น โรคหืด (Asthma), โรคแพ้อากาศ/โรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis),  โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis), โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema หรือ Atopic dermatitis), รวมไปถึงโรคที่เกิดจากตัวกระตุ้นที่เฉพาะเจาะจง เช่น แพ้อาหาร (Food Allergy  เช่น แพ้นมวัว), แพ้ยา (Drug Allergy)บางชนิด เช่น แพ้ยา Penicillin,  หรือแพ้สารเคมี (Chemical Allergy)บางชนิด เช่น แพ้ผงซักฟอก, ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งเร้า/ตัวกระตุ้น และปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายที่รวมถึงพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน มียาที่ใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มยาแก้แพ้ชนิดรับประทาน หรือ กลุ่มยาแอนติฮีสตามีน (Antihistamines), ยาเสตียรอยด์  ทั้งชนิดรับประทานและชนิดสูดพ่น/ยาพ่นจมูก  อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยยาในรูปแบบดังกล่าวเป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการไม่ให้เกิดการกำเริบเท่านั้น

ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเข้าใจในหลักการเกิดโรคต่างๆมากขึ้นรวมถึงโรคภูมิแพ้ จึงนำไปสู่การพัฒนาวิธีรักษาที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ คือ การรักษาด้วย “ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)” โดยการให้ผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้หรือให้สิ่งแปลกปลอม (Allergen) ที่ร่างกายแพ้อยู่ทีละน้อยๆเพื่อลดความไวของระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้/สิ่งแปลกปลอมดังกล่าว ซึ่งเรียกการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดในโรคภูมิแพ้ว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy)”

ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้มีการนำมาใช้ในการรักษาโรคใดบ้าง?

 

ปัจจุบัน มีการนำวิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้มาใช้การรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ เช่น

  • ผู้ป่วยที่ล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาภูมิแพ้ทั่วไป
  • ผู้ที่มีอาการโรคภูมิแพ้ที่รุนแรง
  • ผู้ป่วยที่แพ้ยาที่ต้องใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้
  • ผู้ป่วยที่มีความต้องการควบคุมและลดอาการภูมิแพ้ในระยะยาวในโรคต่อไปนี้ เช่น
    • การแพ้จากแมลงต่อย (Insect Bites and Stings): โดยทั่วไปเมื่อถูกแมลงต่อยคนส่วนมากจะเกิดอาการอักเสบ บวม แดง บริเวณที่ถูกต่อย แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการแพ้จากสารพิษ/สารก่อภูมิแพ้ของแมลงนั้นๆเมื่อถูกแมลงนั้นๆต่อย จึงมีการนำสารพิษที่แมลงปล่อยเวลาต่อยมาใช้ในการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้โดยการให้สารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นทีละน้อยๆ เรียกวิธีรักษานี้อีกอย่างหนึ่งว่า “ภูมิคุ้มกันบำบัดด้วยสารพิษ (Venom Immunotherapy; VIT)” เช่น ผึ่ง (Honeybees), ตัวต่อชนิด Yellow Jackets, แตน (Hornets), ต่อหัวเสือ (Paper wasps) และ มดคันไฟ (Fire ants)
    • โรคแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)จากสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งแปลกปลอมบางชนิด: สารก่อภูมิแพ้ที่นำมาใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ในปัจจุบัน เช่น  พืชหรือเกสรดอกไม้บางชนิด, หญ้า, ไรฝุ่น, สะเก็ดผิวหนังสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัขและแมว, เชื้อราบางชนิด,  ซากไรฝุ่นแมลงสาบ, ซึ่งบางครั้งสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหืด (Asthma)ได้ด้วย ดังนั้นผู้ป่วยโรคหืดจากตัวกระตุ้นเหล่านี้จึงสามารถใช้วิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้นี้ในการรักษาได้ด้วย
    • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema): เช่นเดียวกับโรคแพ้อากาศ สารก่อภูมิแพ้บางชนิด เช่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา ไรฝุ่น ดอกหญ้า อาจก่อให้เกิดอาการผื่นภูมิแพ้ฯได้ การใช้วิธีภูมิคุ้มกันบำบัดฯในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ แพทย์จะทำการค้นหาและระบุสารที่ผู้ป่วยแพ้ว่า ‘แพ้อะไร’ แล้วจะให้สารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวเช่นเดียวกับในการรักษาโรคแพ้อากาศ  

*อนึ่ง: การเลือกใช้วิธีการภูมิคุมกันบำบัดฯในโรคต่างๆจะอยู่ภายใต้ดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้มีกลไกการทำงานอย่างไร?

ระบบภูมิคุ้มกันฯ (Immune System) เป็นระบบที่มีความซับซ้อน เพื่อให้เข้าใจหลักการหรือกลไกของภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นจำเป็นต้องมีความเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันฯพื้นฐานของร่างกายเสียก่อน

ระบบภูมิคุ้มกันประกอบไปด้วย อวัยวะ เซลล์ และสารภูมิต้านทานต่างๆที่ช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อโรคหรือต่อต้านสิ่งแปลกปลอม/สิ่งกระตุ้นที่เข้าสู่ร่างกาย เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันฯจะไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆของร่างกายและทำการกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมด้วยวิธีการต่างๆ โดยระบบภูมิคุ้มกันฯจะผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันฯขึ้นเพื่อตอบสนองเมื่อได้รับการกระตุ้นโดยสิ่งแปลกปลอม หนึ่งในนั้นคือการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody Immunity) ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันร่างกาย สารภูมิต้านทานมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin; Ig) มี 5 ชนิด ได้แก่ IgA, IgD, IgE, IgG และ IgM, *แต่ชนิดที่สำคัญและมีบทบาททำให้เกิดอาการแพ้คือชนิดอี (IgE)

โดยทั่วไปร่างกายจะสร้างอิมมิวโนโกลบูลินอี (IgE) ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อโรคหรือ สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้นั้นระบบภูมิคุมกันฯจะมีความไวมาก กว่าปกติกล่าวคือ มีการสร้างอิมมิวโนโกลบูลินอีต่อต้านสารที่โดยทั่วไปไม่ได้ก่ออันตรายแก่ร่างกาย เช่น เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ซากฝุ่นจากแมลงสาบ หรือสารเคมีบางชนิด ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาภูมิ แพ้ขึ้นเมื่อได้รับสารนั้นๆ

สารก่อภูมิแพ้ เมื่อเข้าจับกับอิมมิวโนโกลบูลินอีบนเม็ดเลือดขาว จะทำให้เกิดการแตกของเซลล์ภูมิคุ้มกันและเกิดการหลั่งสารที่เรียกว่า ฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งมีบทบาทในการกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิแพ้โดยกระตุ้นเยื่อบุต่างๆ เช่น ในจมูก ตา ลำคอ ทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม หรือมีสารเมือกออกมามากกว่าปกติ ก่อให้เกิดอาการน้ำมูกไหล คันตามผิวหนัง และ/หรือคันจมูก หาย ใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีอาการหอบหืด เป็นต้น

วิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้นั้น เป็นการให้ยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายแพ้อยู่จากปริมาณน้อยๆและเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อยๆอย่างช้าๆเพื่อลดความไวของระบบภูมิคุ้มกันฯของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นๆลง โดยจะมีการวัดการตอบสนองของอิมมิวโนโกลบูลินอีเป็นช่วงๆประกอบไปด้วย 2 ช่วงคือ

ก. ช่วงแรก (Build-up Phase): เป็นการให้สารก่อภูมิแพ้เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆสัปดาห์ละ1-2 ครั้ง ระยะเวลาใช้ยาในช่วงนี้ขึ้นอยู่กับความถี่การบริหารและการตอบสนองของผู้ป่วย โดยส่วนมากจะอยู่ในช่วง 3 - 6 สัปดาห์

ข.  ช่วงประคับประคอง (Maintenance Phase): โดยเริ่มช่วงนี้เมื่อมีการให้ยาสารก่อภูมิแพ้เพิ่มขึ้นจนถึงขนาดที่แพทย์ต้องการ (ขนาดที่ต้องการขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้และการตอบสนองของร่างกายในการรักษาในช่วงแรก) ช่วงนี้ความถี่การให้ยาจะห่างขึ้น อาจบริหารยา/ให้ยาทุกๆ 2 - 4 สัปดาห์ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนด โดยทั่วไปแล้วหากการรักษาประสบความสำเร็จช่วงประคับประคองอาจต้องรักษาต่อเนื่องนาน 3 - 5 ปี

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนที่ประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้  ทั้งนี้อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น การได้รับยาสารก่อภูมิแพ้ในขนาดที่ไม่เพียงพอ, การอาศัยอยู่ในที่ที่สิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้อยู่จำนวนมาก, รวมไปถึงการได้รับสารอื่นที่ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้โดยตรงในการกระตุ้นอาการแพ้ เช่น การสูดควันบุหรี่ เป็นต้น

ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้มีวิธีบริหารอย่างไรบ้าง?

ทั่วไป รูปแบบการบริหารยา/ใช้ยาสารก่อภูมิแพ้ในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ คือ

  • ชนิดฉีดยาฯเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous): การบริหารยาสารก่อภูมิแพ้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เป็นวิธีการดั้งเดิม โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดของยาสารก่อภูมิแพ้ในแต่ละครั้งการบริหารยา (หรือการฉีดยา) ต้องฉีดโดยแพทย์หรือภายใต้การควบคุมดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังที่กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่า ในช่วงแรกผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการบริหารยาค่อยข้างถี่ ภายหลังการบริหารยาเสร็จสิ้นแล้วนั้นผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าระวังอาการภูมิแพ้หรืออาการข้างเคียงอื่นๆอีกอย่างน้อยนานประมาณ 30 - 45 นาที ข้อเสียของวิธีนี้คือผู้ป่วยต้องเข้ารับยาในโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง
  • ชนิดอมใต้ลิ้น (Sublingual): ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้ยาอมใต้ลิ้น คือ ผู้ป่วยไม่ต้องรับการฉีดยา และการนัดหมายกับแพทย์เพื่อติดตามอาการจะไม่ถี่เหมือนในวิธีการแรกที่ต้องมารับการบริหารยาที่สถานพยาบาล และวิธีนี้มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)น้อยกว่า อย่างไรก็ดีการใช้วิธี การนี้ ขนาดสารก่อภูมิแพ้ที่ใช้อาจต้องใช้มากกว่าเมื่อเทียบกับการฉีดเข้าใต้ผิวหนังทำให้มีราคาค่ารักษาที่สูงกว่า และการศึกษารูปแบบการให้แบบอมใต้ลิ้นยังอยู่ในวงจำกัดเมื่อเทียบกับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
    • การบริหารยาชนิดอมใต้ลิ้น  ส่วนใหญ่เป็นการบริหารในช่วงเช้าก่อนการรับประทานอาหาร โดยอมยาใต้ลิ้นหรือหยดยาใต้ลิ้นตามปริมาณที่แพทย์สั่งและอมไว้ห้ามกลืนเป็นเวลาประมาณ 2 นาที และให้กลืนได้หลังจากนั้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารหลังการบริหารยาไปแล้วอย่างน้อยประมาณ 15 นาที
  • ชนิดรับประทาน (Oral): อาจนำรูปแบบนี้มาใช้ในการรักษาโรคแพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว นม ไข่ เป็นต้น

ควรสอบถามอะไรบ้างจากแพทย์ก่อนเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีการภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้?

หากแพทย์แนะนำการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ถึงรูปแบบและกระบวนการรักษาเพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาอย่างครบถ้วน เช่น

  • รูปแบบภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดใดที่แพทย์แนะนำ
  • ทำไมถึงแนะนำรูปแบบภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นๆ
  • เป้าหมายของการรักษาคืออะไร
  • จะใช้วิธีการอื่นใดร่วมในการรักษาหรือไม่ หรือใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้เพียงวิธีเดียว
  • มีวิธีการให้ยาสารภูมิคุ้มกันบำบัดฯอย่างไร ต้องให้บ่อยแค่ไหน
  • ภูมิคุ้มกันบำบัดฯอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง
  • วิธีการรักษาจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการออกกำลังกายหรือไม่ อย่างไรบ้าง

เมื่อเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ควรแจ้งแพทย์พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อจะเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการ แพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันฯร่างกาย เช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยาไมโคฟิโนเลต (Mycophenolate) ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยาซิโรไลมัส (Sirolimus) ยาเสตียรอยด์ ยาแก้แพ้ในกลุ่มปิดกั้นตัวรับฮีสตามีน/Antihistamines (เช่น ยาเซทิไรซีน/Cetirizine, ยาลอราทาดีน/Loratadine, ยาคลอเฟนิรามีน/Chlorpheniramine) กลุ่มยาลดความดันที่ปิดกั้นตัวรับเบต้า/Beta-Blockers (เช่น ยาบีโซโพรลอล/Bisoprolol, ยาอะเทโนลอล/Atenolol) ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวิร์ต ทิง/Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors (เช่น ยาอีนาลาพริล/Enalapril, ยาไลซิโนพริล/Lisinopril)
  • ประวัติโรค ทั้งโรคที่เป็นมาในอดีต และโรคต่างๆที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด   โรคภูมิแพ้ตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune Disease) โรคเอชไอวี (HIV infection)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังอยู่ในระหว่าง  การตั้งครรภ์  การวางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร เนื่องจากสารหรือยาบางชนิดที่ใช้ในภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/สารภูมิต้านทานตามกำหนดเวลาต้องทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ใช้ยาหรือสารภูมิต้านทานที่ใช้ในภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ตามกำหนดนั้น ให้แจ้งให้แพทย์/พยาบาลผู้ทำการรักษาทราบโดยทันที โดยอาจติดต่อไปยังสถานพยาบาลที่ท่านกำลังเข้ารับการรักษาอยู่และทำการนัดหมายวันได้รับยาโดยเร็วที่สุด

การรักษาโดยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้อาจก่ออาการไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การรักษาโดยวิธีการภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้าง เคียง/อาการข้างเคียง) บางประการ เช่น

  • ผู้ป่วยที่รับการบริหารสารก่อภูมิแพ้ด้วยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง: อาจมีอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยาได้ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาอื่นๆเพื่อบรรเทาอาการ และภายหลังการบริหารยาแล้วผู้ป่วยยังต้องอยู่เฝ้าระวังอาการข้างเคียงจากยาในสถานพยาบาลต่ออีกประมาณ 30 - 45 นาทีภายใต้ความดูแลของแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะไม่เกิดอาการแพ้เช่น การมีผื่นคันตามผิวหนัง อาการบวมของริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา น้ำมูกหรือสารคัดหลั่งอื่นไหลออกมามากกว่าปกติ รวมไปถึงอาการหอบหืด หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการบริหารยาด้วยวิธีการอมใต้ลิ้น: อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์บางประการเช่น ระคายเคือง หรือเกิดอาการบวม คัน เล็กน้อยในปาก/ริมฝีปาก อาจพบว่ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้บ้าง ซึ่งหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

*อนึ่ง: หากเกิดอาการแพ้ยาขึ้นหลังการได้รับยาสารก่อภูมิแพ้ เช่น มีผื่นคันเกิดขึ้นตามผิวหนัง มีอาการบวมตามริมฝีปาก เปลือกตา ใบหน้า หรือมีอาการหายใจไม่สะดวก *ให้รีบด่วนพบแพทย์/มาโรง พยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาลหากเกิดอาการรุนแรงดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

อาการไม่พึงประสงค์ฯที่กล่าวไปในข้างต้น เป็นอาการไม่พึงประสงค์ฯที่อาจเกิดขึ้นได้โดยทั่วไปจากการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ แต่ยาหรือสารเคมี/สารก่อภูมิแพ้ที่ใช้ในกระบวนการนี้มีความหลากหลายละเอียดอ่อนและแตกต่างกันไป ผู้ป่วยจึงควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นและสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังในระหว่างการได้รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยสูงสุดแก่ตัวผู้ป่วยเอง

ข้อควรระวังในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้มีอะไรบ้าง?

ข้อควรระวังในการรักษาด้วยวิธี/ยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ เช่น

  • เฝ้าระวังอาการแพ้ยาทุกครั้งภายหลังการบริหารยา พบแพทย์โดยทันทีหากมีอาการแพ้เกิดขึ้น (อาการแพ้ได้กล่าวใน หัวข้อ “การรักษาโดยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประ สงค์อย่างไร?”)
  • หลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีการนี้ในหญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการรักษาด้วยวิธีการนี้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มปิดกั้นตัวรับเบต้า (Beta-Blockers) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด, และ/หรือ เป็นยาลดความดัน เช่น ยาบีโซโพรลอล (Bisoprolol)  ยาอะเทโนลอล (Atenolol), และยาลดความดันโลหิตกลุ่มยับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซินคอนเวิร์ตทิง (Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors) เช่น ยาอีนาลาพริล (Enalapril) ยาไลซิโนพริล (Lisinopril), เนื่องจากประสิทธิภาพในการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้อาจลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยาในกลุ่มดังกล่าว และยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ชนิดรุนแรงหรือแอแนฟิแล็กซิส  (Anaphylaxis Reaction) หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้นี้
  • ระมัดระวังการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดฯนี้ในผู้ป่วยโรคภูมิต้านตนเอง และผู้ป่วยติดเชื้อ เอชไอวี

ข้อปฏิบัติในการรับสารก่อภูมิแพ้ในการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดมีอะไรบ้าง?

ข้อควรปฏิบัติในการรับยา/สารก่อภูมิแพ้ในการรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้เช่น

  • เข้ารับยาสารก่อภูมิแพ้ตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีความจำเป็นต้องเลื่อนวันนัดหมายควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า ไม่หยุดการรักษาด้วยตนเอง หากไม่ประสงค์ที่จะทำการรักษาต่อเนื่องก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเช่นกัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากต้องการซื้อยาหรือใช้ยาอื่นใดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อยประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนและหลังการรับยาสารก่อภูมิแพ้ เนื่องจากอาจส่งผลให้ยาสารภูมิแพ้ที่ได้รับนั้นเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วเกินไปจนอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาสารก่อภูมิแพ้ด้วยวิธีการฉีด ส่วนใหญ่รอยบวมแดงตามบริเวณที่ฉีดยาจะหายไปภายใน 4 - 8 ชั่วโมง หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมงหรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ /พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยที่ทราบว่า ตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ใด
    • ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีสารก่อภูมิแพ้นั้น
    • หากเป็นสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
    • หากแพ้สารจำพวกไรฝุ่น ห้องนอนควรหลีกเลี่ยงการใช้พรมในการตกแต่งหรือการเก็บตุ๊กตาหรือหนังสือในห้องนอนเนื่องจากเป็นสิ่งสะสมฝุ่น
    • นอกจากนั้นควรเลิกบุหรี่
    • และควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ

บรรณานุกรม

  1. Australia Society of Clinical Immunology and Allergy (ASCIA). Allergen Immunotherapy. 2014
  2. Akdis M, Akdis CA. Mechanisms of allergen-specific immunotherapy. J Allergy Clin Immunol. Feb 2007
  3. Bousquet PJ et. Sub-Lingual Immunotherapy - World Allergy Organisation Position Paper 2009. WAO Journal Nov 2009: 233-281
  4. Peter S Creticos, et al. Subcutaneous Immunotherapy for allergic disease: Indication and Efficacy. Uptodate. 2016
  5. Uyenphuong HL, Burks AW. Oral and sublingual immunotherapy for food allergy. World Allergy Organization Journal. 2014; 7 (1): 35
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Allergen_immunotherapy [2023,Jan21]
  7. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/allergy-shots/about/pac-20392876 [2023,Jan21]
  8. https://www.medscape.com/viewarticle/773582 [2023,Jan21]
  9. https://www.webmd.com/allergies/insect-stings  [2023,Jan21]