ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด (Uterine atony)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดคือภาวะ/โรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ทั่วไป เมื่อสตรีคลอดบุตรและรกคลอดเรียบร้อยแล้ว มดลูกจะต้องหดรัดตัวลงอย่างมากตามกลไกปกติของร่างกายเพื่อปิดเส้นเลือดที่ฉีกขาดในโพรงมดลูก, เพื่อช่วยลดการเสียเลือด, แต่หากมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด(Uterine atony)” จะทำให้เลือดออกจากโพรงมดลูกมากจนทำอันตรายแก่ชีวิต  โดยภาวะนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สตรีผู้มาคลอดตกเลือดหลังคลอดแบบเฉียบพลัน  

มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา พบภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดได้ประมาณ 1ใน40ของการคลอดทั่วไป ซึ่งภาวะนี้เป็นสาเหตุประมาณ 80% ของภาวะตกเลือดหลังคลอด

ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดมีความสำคัญอย่างไร?

 

หากมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดจะทำให้เลือดออกจากโพรงมดลูกมาก จนทำอันตรายแก่ชีวิต/ถึงตายได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ตกเลือดหลังคลอด), ซึ่งองค์การอนามัยโลก(ค.ศ. 2023)ระบุว่า  ภาวะตกเลือดหลังคลอด เป็นสาเหตุการตายของมารดาหลังคลอดที่สำคัญ 3 อันดับแรก โดยเป็นลำดับที่ 1, ส่วนลำดับที่ 2 คือ ภาวะติดเชื้อหลังคลอด,  และลำดับที่ 3   คือ ภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ (ครรภ์เป็นพิษ)

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด เช่น

  • กล้ามเนื้อมดลูกมีการขยายตัวมากเกินไป เช่น กรณีครรภ์แฝด หรือเคยมีการตั้งครรภ์หลายครั้ง
  • มีสิ่งกีดขวางการหดรัดตัวของมดลูก เช่น มีเนื้องอกมดลูก หรือมีรกเกาะต่ำ
  • มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อมดลูกจากการคลอด
  • ได้รับยาต้านการหดรัดตัวของมดลูก เช่น ยากลุ่ม Tocolytic drug
  • มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด?

สตรีผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด เช่น

  • สตรีตั้งครรภ์ที่อายุมาก
  • สตรีที่มีการตั้งครรภ์หลายครั้ง จึงทำให้กล้ามเนื้อมดลูกขยายตัวได้มากเมื่อตั้งครรภ์ จนส่งผลทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดีหลังคลอด
  • สตรีตั้งครรภ์ที่มีการขยายตัวของมดลูกมากกว่าปกติ เช่น ทารกตัวโตมาก  สตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์   การตั้งครรภ์แฝด   ภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ   มีเนื้องอกมดลูกร่วมด้วยขณะตั้งครรภ์
  • สตรีที่ได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกนานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกล้า จึงส่งผลให้การหดรัดตัวไม่ดี
  • สตรีที่มีรกเกาะต่ำ เกาะบริเวณส่วนล่างของมดลูก จึงทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี
  • มีการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
  • สตรีที่เคยมีประวัติตกเลือดหลังคลอดในครรภ์ก่อน
  • สตรีที่มีการดำเนินการคลอดเร็วมากเกินไป(Precipitating labor) จึงทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวตัวไม่ดี จึงสามารถทำให้เกิดการตกเลือดหลังคลอดได้
  • สตรีที่เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดที่ได้รับยาต้านการหดรัดตัวของมดลูก
  • สตรีที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ที่ได้รับยาป้องกันชัก/ยาต้านชัก ได้แก่  MgSO4(Magnesium sulfate) จะมีผลทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี

อาการของภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดมีอย่างไรบ้าง?

อาการของภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด เช่น

  • สตรีหลังคลอดจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก
  • ซีด 
  • ชีพจรเต้นเร็ว, ความดันโลหิตต่ำ
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดจำนวนมากผิดปกติหลังคลอดบุตร
  • หากคลำมดลูกทางหน้าท้อง จะพบว่า มดลูกอ่อนตัวนิ่ม ไม่หดรัดตัวเป็นก้อนแข็ง(เนื่องจากกลไกการหยุดเลือดที่ออกจากโพรงมดลูกจะเกิดจาก การหดรัดตัวของมดลูกเป็นหลัก)

ทั้งนี้ หากให้การช่วยเหลือหรือรักษาไม่ทันท่วงที  ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด สามารถทำให้มารดาถึงตายได้

รักษาภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดอย่างไร?

โดยแนวทางการรักษามีลำดับขั้นตอน เช่น

  • ให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดดำอย่างรวดเร็ว มักต้องเปิดเส้นเลือดดำ 2 เส้นพร้อมกัน
  • ให้เลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือด เช่น พลาสมา
  • ให้ออกซิเจนแก่สตรีหลังคลอด
  • สวนคาสายสวนปัสสาวะ
  • แพทย์ผู้ช่วย หรือ พยาบาลช่วยนวดคลึงมดลูกทางหน้าท้องตลอดเวลา เพื่อช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว
  • ให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งมียาหลายขนาน เช่น ยา Oxytocin เป็นต้น
  • พิจารณาให้ยาเหน็บทางทวาร เพื่อกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกร่วมด้วย เช่นยา Misoprostol
  • หากมดลูกยังหดรัดตัวไม่ดี มีเลือดไหลออกตลอดเวลา ต้องพิจารณาผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัด อาจเป็นการเย็บมัดมดลูกให้แน่น หรือผูกเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงมดลูก แต่หากยังไม่ดีขึ้น/ยังมีเลือดออกจากมดลูกมาก แพทย์จะพิจารณาตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตมารดา

มีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดที่พบได้ เช่น   

  • มารดาเสียชีวิต หากการรักษาไม่ทันท่วงที ในปัจจุบันภาวะตกเลือดหลังคลอดเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของสตรีตั้งครรภ์ทั่วโลก
  • มารดาต้องถูกตัดมดลูก หรือได้รับการผ่าตัดผูกเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก หากให้การรักษาด้วยยากระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวแล้วไม่ได้ผล
  • ผลจากการเสียเลือดมาก ทำให้มารดาไม่มีน้ำนมสำหรับเลี้ยงทารกที่เรียกว่า กลุ่มอาการชีแฮน (Sheehan Syndrome) เพราะต่อมใต้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงช่วงที่มีการเสียเลือดมาก  ทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับการสร้างน้ำนมได้
  • ทำให้มารดามีอาการจากภาวะซีด เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่สดชื่น
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับเลือดจำนวนมาก เช่น ติดเชื้อ มีการแพ้ผลิตภัณฑ์ของเลือด (เช่น เกล็ดเลือด, อาการเช่น มีไข้ ขึ้นผื่นตามตัว) และอาจเกิดความไม่สมดุลของแร่ธาตุ/เกลือแร่ในร่างกาย เช่น ภาวะซีดจากขาดธาตุเหล็ก

ดูแลตนเองที่บ้านอย่างไรเมื่อมีภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด?

การดูแลตนเองของมารดาหลังคลอดที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว  ขึ้นกับความรุนแรงของการไม่หดรัดตัวของมดลูก  และการได้รับการรักษาหลังคลอดที่ได้รับในโรงพยาบาล

ในกรณีที่มีภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวขั้นไม่รุนแรงที่สามารถรักษาในโรงพยาบาลด้วยยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกแล้วได้ผลดี: การดูแลตนเองหลังคลอด(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ระยะหลังคลอด)ที่บ้าน จะเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป คือ ดูแลแผลฝีเย็บ, สังเกต สี กลิ่น และปริมาณของน้ำคาวปลา, อาการปวดฝีเย็บ, ปวดมดลูก/ปวดท้องน้อย, หรือมีไข้, นอกจากนี้ อาจต้องรับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก(เช่นยา Ferrous sulfate)มากกว่าปกติ ตามคำแนะนำของแพทย์หากมีภาวะซีดมากจากการเสียเลือด

ในกรณีที่มีภาวะมดลูกไม่หดตัวแบบรุนแรงจนต้องได้รับการผ่าตัดเย็บมดลูก  ผูกเส้นเลือดฯ  หรือตัดมดลูก:  ต้องดูแลเหมือนสตรีที่ได้รับการผ่าตัดมดลูก และ/หรือการผ่าท้องคลอดบุตร  เช่น  ดูแลเรื่องแผลผ่าตัด,  อาการไข้,  ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด,  และต้องรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กมากกว่าปกติหากมีภาวะซีดมากจากการเสียเลือด

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

สตรีที่มีภาวะมดลูกไม่หดตัวหลังคลอดเมื่อกลับจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้าน หากมีอาการผิดปกติหลังคลอด หรือหลังผ่าตัด  เช่น  มีไข้,   มีตกขาวมีกลิ่นเหม็น,  น้ำคาวปลาผิดปกติ (เช่น มีกลิ่นเหม็น สีผิดปกติ ปริมาณมากผิดปกติ),  มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (เช่น  เลือดออกมาก), มีอาการปวดท้องมากกว่าปกติ,  ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ในกรณีที่มีภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดที่ไม่รุนแรง: การพยากรณ์โรคมักจะดี  สามารถรักษาได้ด้วยยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกสำเร็จ    

แต่ในกรณีที่มีภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวรุนแรง:  การพยากรณ์โรคมักไม่ดี  มักลงเอยด้วยการผ่าตัด  ซึ่งแพทย์จะรักษาโดยการเย็บผูกมดลูกให้แน่น (B-Lynch operation) หรือการผูกเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูก (Hypogastric artery ligation), และหากอาการเลือดออกรุนแรงมากขึ้น แพทย์จำเป็นต้องตัดมดลูกออก,  และ*ในกรณีที่เสียเลือดมาก จะมีภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติร่วมด้วย(เลือดไม่แข็งตัว จึงทำให้เลือดออกได้มาก) จะทำให้ผู้ป่วย/มารดามีการพยากรณ์โรคที่แย่ลง  จนอาจถึงตายได้

สตรีที่เคยมีภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้อีกไหม?

ในกรณีที่ไม่ได้รับการตัดมดลูก สตรีที่เคยมีภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด มีโอกาสเกิดภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดได้อีกในการคลอดครั้งต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเกิดมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในบทความนี้ หัวข้อ “สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง”  ดังนั้น เป็นหน้าที่ที่สตรีตั้งครรภ์ต้องบอกแพทย์ผู้ดูแลไว้เสมอว่า เคยได้เกิดเหตุการณ์ที่อันตรายต่างๆในการคลอดครั้งที่ผ่านมา ที่รวมถึงการเกิดภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด

ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไหร่?

ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด ทำให้เสียเลือดมาก สตรีในระยะหลังคลอดควรได้รับประทานธาตุเหล็กเสริมหลังคลอดตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด, และควรเว้นระยะมีบุตรออกไป 2-3 ปีเพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงเต็มที่, และเพื่อมีเวลาเลี้ยงดูบุตรคนก่อนให้เต็มที่

อนึ่ง: ทั่วไปทารกที่เกิดจากมารดาที่มีภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอด จะปกติเช่นเดียวกับทารกคลอดจากมารดาปกติทั่วไป

ป้องกันภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดได้อย่างไร?

ทั่วไป ป้องกันภาวะมดลูกไม่หดรัดตัวหลังคลอดได้โดย

  • ควรไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้องระหว่างตั้งครรภ์เกี่ยวกับการดูแลตนเอง และการรับประทานอาหาร 
  • ควรมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ที่เหมาะสม เช่น
    • สตรีตั้งครรภ์ที่ดัชนีมวลกาย (Body mass index ย่อว่า BMI) น้อยกว่าปกติ คือ (BMI </น้อยกว่า5): ควรมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวมารดาตลอดการตั้งครรภ์ 12-18 กิโลกรัม หรือ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
    • สตรีตั้งครรภ์ที BMI ปกติ คือ 5-24.9: ควรมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวมารดาตลอดการตั้งครรภ์ 11-16 กิโลกรัม หรือ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
    • สตรีตั้งครรภ์ที่ BMI มากกว่าปกติโดยค่า BMI อยู่ในช่วง 25 -29.9: ควรมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวมารดาตลอดการตั้งครรภ์ 7-11 กิโลกรัม หรือ 25 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
    • สตรีตั้งครรภ์ที่ BMI อ้วน (>/มากกว่า 30): ควรมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวมารดาตลอดการตั้งครรภ์ 5-9 กิโลกรัม หรือ 25 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  • หากมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
  • การตั้งครรภ์ที่เป็นครรภ์ความเสี่ยงสูง เช่น ตั้งครรภ์แฝด ภาวะน้ำคร่ำมากผิดปกติ ภาวะเนื้องอกมดลูกร่วมกับการตั้งครรภ์  มารดาจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสูติแพทย์
  • ควรปรึกษาสูติแพทย์เพื่อการวางแผนก่อนตั้งครรภ์เสมอ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฯนี้ซ้ำ  และเพื่อประเมินว่าสมควรตั้งครรภ์ได้อีกหรือไม่

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Uterine_atony [2023,April22]
  2. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/maternal-mortality [2023,April22]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK493238/ [2023,April22]