ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี (Neurologic Complication of SLE)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus ย่อว่า SLE) หรืออาจเรียกอีกชื่อว่า โรค ลูปัส หรือ ลูปุส (Lupus: โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี ในเว็บ haamor.com) เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยระบบภูมิคุ้มกันฯนี้เกิดการทำร้ายอวัยวะต่าง ๆของร่างกาย เช่น ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ไต ระบบเลือด ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งระบบประสาทซึ่งก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทขึ้นได้ เช่น ชัก สับสน เป็นต้น ผู้ป่วยเอสแอลอี และคนในครอบครัว ควรทราบเบื้องต้นเกี่ยวกับ ‘ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี’นี้ เพื่อการดูแลตนเองและคนที่เรารักให้มีสุขภาพที่ดี

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีเกิดได้อย่างไร?

เอสแอลอี

กลไกการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมีการทำงาน ผิดปกติ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันฯนั้น ไปทำลายเนื้อเยื่อต่างๆของระบบประสาทส่วนกลางและของระบบประสาทส่วนปลาย

นอกจากนี้ บางกรณี อาจเกิดจากผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น จากเกิดภาวะติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)ในผู้ป่วยเอสแอลอีที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯ จึงส่งผลให้ร่างกายที่รวมถึงสมองติดเชื้อต่างๆได้ง่าย

ผู้ป่วยเอสแอลอีกลุ่มใดมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท?

ผู้ป่วยเอสแอลอีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทสูงกว่าผู้ป่วยเอสแอลอีทั่วไป คือ

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดโรคในอวัยวะต่างๆ เช่น โรคไต โรคเลือด โรคผิวหนัง
  • และในผู้ป่วยเอสแอลอีที่มีอาการรุนแรงและ/หรือควบคุมโรคได้ไม่ดี

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีมีอาการอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของระบบประสาท ทั้งระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system : CNS) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system : PNS) ซึ่งอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่

1. ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่

  • ชัก (Seizure)
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • อาการจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • โรคหลอดเลือดดำสมองอุดตัน(Cerebral venous sinus thrombosis) เช่น ปวดศีรษะ /ปวดหัว ตามัว
  • มีอาการทางจิต มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ /ความประพฤติ สับสน
  • สมองเสื่อม (Dementia)
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
  • เนื้อสมองอักเสบ (Encephalitis)
  • ไขสันหลังอักเสบ (Myelitis)

2. ระบบประสาทส่วนปลาย ได้แก่

  • กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เส้นประสาทอักเสบ (Neuropathy) อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคเส้นประสาท

อาการผิดปกติทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีต่างจากอาการผิดปกติทางระบบประสาททั่วไปหรือไม่?

อาการผิดปกติทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี ไม่แตกต่างกับอาการทางระบบประสาทที่เกิดกับคนทั่วไปที่ป่วยด้วยโรคทางระบบประสาทที่ไม่ได้มีสาเหตุจากโรคเอสแอลอี ยกเว้นในกรณีการติดเชื้อในสมองที่เชื้อก่อโรคในผู้ป่วยเอสแอลอีนั้น มักเป็นเชื้อฉวยโอกาส ที่ไม่ค่อยพบเกิดในคนทั่วไป เช่น จากเชื้อแบคทีเรียโนคาร์เดีย(Nocardia) หรือจาก เชื้อรา

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยเอสแอลอี ควรรีบ พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด ในกรณี

  • ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติ เช่น ชัก แขน ขาอ่อนแรง สับสนฉับพลัน ซึมลง ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • กรณีอาการชาแขน ขา มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงที่ไม่ชัดเจน ปวดศีรษะ ให้สังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่ เป็นรุนแรงหรือไม่ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เป็นรุนแรง เป็นมากขึ้น ถึงแม้ว่าดูแลตนเองเบื้องต้นแล้วก็ตาม ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

การวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีทำได้อย่างไร?

การวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนเหตุเอสแอลอี ทำได้โดยพิจารณาจาก

  • อาการต่างๆ ประวัติการเป็นโรคเอสแอลอี อาการต่างๆของโรคเอสแอลอี ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย และ การตรวจร่างกายทางระบบประสาท ร่วมกับ
  • การวินิจฉัยแยกโรค จากโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ซึ่งถ้าไม่พบมีโรคทางระบบประสาทจากสาเหตุอื่นๆ แพทย์ก็จะให้การวินิจฉัยว่า เป็นอาการผิดปกติ/ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุจากเอสแอลอี

กรณีเป็นภาวะแทรกซ้อนจากกการติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบ)ของผู้ป่วยเอสแอลอีที่ได้ยากดภูมิคุ้มกันฯก็ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเหมือนในคนทั่วไป เช่น การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกนสมอง แต่ชนิดของเชื้อก่อโรค อาจแตกต่างกันดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการทางสมองจากเอสแอลอี กับจากโรคทางระบบประสาทอื่นๆ

รักษาภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีอย่างไร?

การรักษาภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีส่วนใหญ่ คือ

  • การให้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูง
  • ร่วมกับยารักษาตามอาการ เช่น
    • ภาวะสับสน หรืออาการทางจิต ก็ให้ยาควบคุมอาการทางจิต
    • กรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก การติดเชื้อ ก็จะให้ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาปฏิชีวนะ ตามชนิดเชื้อก่อโรคนั้น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผู้ป่วย ดังนี้

  • ภาวะแขน ขาอ่อนแรง กรณีเป็น โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต)หรือมีการติดเชื้อในสมอง(สมองอักเสบ)
  • อาการปวดศีรษะ ตามัว กรณีมีภาวะติดเชื้อในสมอง หรือมีภาวะหลอดเลือดดำอุดตันในสมอง
  • ภาวะสมองเสื่อมหรือความจำเสื่อมจากการที่มีรอยโรคในสมองหลายๆตำแหน่ง หรือในสมองใหญ่ส่วนกลีบขมับ รวมทั้งก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมจากการมีสมองเหี่ยว/สมองฝ่อ
  • โรคลมชัก เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้มีรอยโรคในสมอง เช่น การติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง
  • อาการขาอ่อนแรง ปัสสาวะลำบาก ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและอาการปวดประสาทจากรอยโรคในไขสันหลัง
  • อาการชามือ แขน ขาและอ่อนแรง จากความผิดปกติของเส้นประสาทอักเสบ
  • ภาวะซึมเศร้า จากกรณีผู้ป่วยมีความผิดปกติทางระบบประสาท ทำให้เกิดความพิการ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า

ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุ เอสแอลอี ส่วนใหญ่จะไม่ดี กล่าวคือ เมื่อรักษาดีขึ้น ก็อาจเกิดอาการซ้ำได้อีก และส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทำให้เกิดภาวะติดเชื้อต่างๆได้ง่ายกับอวัยวะทุกระบบทั่วร่างกาย รวมถึงระบบประสาท

ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ผู้ป่วยเอสแอลอีที่มีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท ควรดูแลตนเอง ดังนี้

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ควรทานยารักษาโรคเอสแอลอีให้สม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอพอควรกับสุขภาพ
  • ทานอาหารปรุงสุกอย่างทั่วถึง ไม่ทานอาหารดิบ หรือ สุกๆดิบๆ ร่วมกับการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และ
  • เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีป้องกันได้หรือไม่?

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอีนี้ ส่วนหนึ่งป้องกันได้ เพราะมักเกิดจากโรคเอสแอลอีที่รุนแรง ควบคุมโรคได้ไม่ดี และที่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงในระบบต่างๆ (เช่น ที่ไต ที่ผิวหนัง) ดังนั้นการป้องกัน คือ

  • ต้องให้การรักษาควบคุมโรคเอสแอลอีให้ได้ดี เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอสแอลอีในอวัยวะระบบต่างๆ