ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก (Neonatal hyperbilirubinemia / Neonatal jaundice)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 24 เมษายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- อาการตัวเหลืองเกิดได้อย่างไร?
- มีกลไกการเกิดและการกำจัดสารสีเหลืองบิลิรูบินอย่างไร?
- สารสีเหลืองบิลิรูบินเป็นสารที่เกิดตามปกติหรือไม่?
- เด็กตัวเหลืองมีสาเหตุจากอะไร?
- แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าเด็กตัวเหลือง?
- สารสีเหลืองบิลิรูบินมีมากเกินไป เกิดผลเสียอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุเด็กตัวเหลืองอย่างไร?
- แพทย์รักษาเด็กตัวเหลืองอย่างไร?
- การส่องไฟรักษาทำอย่างไร? และช่วยรักษาได้อย่างไร?
- การเปลี่ยนถ่ายเลือดทำอย่างไร? มีอันตรายหรือไม่?
- นมแม่ทำให้เด็กตัวเหลือง ต้องหยุดให้นมแม่หรือไม่?
- เมื่อไรควรพาเด็กไปพบแพทย์?
- ป้องกันภาวะตัวเหลืองในเด็กได้อย่างไร?
- ภายหลังการรักษาเมื่อเด็กกลับบ้านควรดูแลเด็กอย่างไร? ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- โรคเลือด(Blood Diseases)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคเด็ก(Childhood: Childhood diseases)
- ตับอักเสบ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- ไวรัสตับอักเสบ(Viral hepatitis)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- ธาลัสซีเมีย(Thalassemia)
- เอชไอวี (HIV: HIV infection)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- ยา (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
บทนำ
ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก (Neonatal hyperbilirubinemia/Neonatal jaundice) พบบ่อยและเป็นปัญหาสำคัญ ต้องให้การวินิจฉัยและรักษาในเวลาที่เหมาะสม หากวินิจฉัยไม่ได้หรือมาพบแพทย์เมื่อพ้นระยะเวลาที่จะรักษาได้ผลดี ย่อมทำให้ผู้ป่วยมีอาการมาก หรือสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะบางอวัยวะจนไม่สามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้
ในเด็กคลอดครบกำหนดพบภาวะตัวเหลืองได้ประมาณ 25 - 50% และพบมากขึ้นในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด แต่ส่วนใหญ่เป็นภาวะตัวเหลืองที่เกิดตามปกติ
อาการตัวเหลืองเกิดได้อย่างไร?
อาการตัวเหลืองเกิดจากการมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) จำนวนมากกว่าปกติคั่งอยู่ในอวัยวะต่างๆ ทำให้เห็นว่ามีผิวหนังทั่วตัวและตาขาวเป็นสีเหลือง
มีกลไกการเกิดและการกำจัดสารสีเหลืองบิลิรูบินอย่างไร?
สารสีเหลือง/บิลิรูบินนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเม็ดเลือดแดงแตกได้สารที่เรียกว่า บิลิเวอร์ดิน (Biliverdin) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสารชื่อบิลิรูบินอยู่ในกระแสเลือด โดยปกติสารนี้จะถูกนำ เข้าไปสู่ตับ มีการเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ของตับ เปลี่ยนจากสารที่ละลายน้ำไม่ได้ (แต่ละลายได้ในไขมัน) เป็นสารที่ละลายน้ำได้ แล้วขับออกจากร่างกายผ่านไปในทางเดินน้ำดี เข้าสู่ลำไส้ และขับออกทางอุจจาระ ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยถูกดูดซึมจากลำไส้กลับเข้าสู่กระแสเลือด และขับออกทางปัสสาวะ
สารสีเหลืองบิลิรูบินเป็นสารที่เกิดตามปกติหรือไม่?
สารสีเหลือง/บิลิรูบินนี้โดยภาวะปกติก็เกิดอยู่แล้ว เพราะเม็ดเลือดแดงมีการแตกตัวตามอายุขัยของมัน คนปกติเม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน แต่ในเด็กแรกเกิด เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าผู้ใหญ่คืออายุประมาณ 80 - 90 วัน และเด็กแรกเกิดมีปริมาณเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่
เด็กแรกเกิดปกติจะมีการสร้างบิลิรูบินวันละประมาณ 6 - 10 มิลลิกรัม (มก.)/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม (กก.) แต่ผู้ใหญ่จะมีการสร้างบิลิรูบินวันละ 3 - 4 มก./ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. อีกทั้งตับของเด็กแรกเกิดยังทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้พบภาวะตัวเหลืองได้บ่อยในเด็กแรกเกิด (ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ สารสีเหลืองจะผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของแม่และขับออกทางตับของแม่)
เด็กตัวเหลืองมีสาเหตุจากอะไร?
เมื่อทราบกระบวนการที่ทำให้เกิดสารสีเหลือง/บิลิรูบิน และระบบการขับถ่ายสารนี้ออกจากร่างกายแล้ว จึงไม่ยากที่จะนึกถึงสาเหตุของภาวะตัวเหลืองซึ่งได้แก่
1. มีสารบิลิรูบินสร้างมากขึ้นกว่าปกติ: โดยมีสาเหตุได้หลายอย่างทั้งสาเหตุจากมารดาและ ตัวเด็กเอง เช่น มีการแตกของเม็ดเลือดแดงของลูกเนื่องจากหมู่เลือดของแม่และของลูกไม่ตรงกัน จึงมีสารที่เป็นภูมิต้านทาน (แอนติบอดี/Antibody) จากแม่มาสู่ลูกโดยผ่านทางรก สารดังกล่าวจะไปจับที่ผนังของเม็ดเลือดแดงของลูก ซึ่งร่างกายลูกมีกระบวนการกำจัดเม็ดเลือดแดงเหล่านี้จึงทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกแตก
นอกจากนี้การมีเลือดออกในเด็กแรกเกิดและคั่งอยู่ในที่ใดที่หนึ่งจำนวนมาก เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกก็จะได้สารบิลิรูบินมาก
การติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียตั้งแต่ในครรภ์ เช่น ติดเชื้อหัดเยอรมัน, ซิฟิลิส, หรือเชื้อซีเอ็มวี (CMV, Cytomegalovirus), เป็นต้น
การติดเชื้อในกระแสเลือดหลังคลอด เช่น เชื้อแบคทีเรียและเชื้ออื่นๆก็ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้
เม็ดเลือดแดงผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ไม่ว่าจะเกิดจากรูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ การมีส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทั้งความผิดปกติของการสร้างสารสีแดงที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในโรคธาลัสซีเมีย (มักเกิดจากกลุ่มที่เป็น ธาลัสซีเมียชนิดอัลฟา) หรือจากการที่มีเอนไซม์ (Enzyme) ที่จำเป็นสำหรับความแข็งแรงของเม็ดเลือดแดงผิดปกติเช่น ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ล้วนทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
เด็กที่มีภาวะขาดออกซิเจน, เด็กที่มีแม่เป็นโรคเบาหวาน, เด็กที่เกิดก่อนกำหนด, และเด็กที่มีภาวะหายใจลำบาก, ทำให้สร้างบิลิรูบินมากกว่าปกติ
2. ความผิดปกติในกระบวนการนำสารบิลิรูบินในเลือดไปสู่เซลล์ตับ: สารบิลิรูบินจะไปที่เซลล์ตับโดยมีโปรตีน (อัลบูมิน/Albumin หรือไข่ขาว) ในเลือดเป็นตัวนำไป หากโปรตีนต่ำมากๆจะขาดตัวนำสารนี้ไปที่ตับ
เมื่อไปที่ตับ จะมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารบิลิรูบินจากที่ไม่ละลายน้ำไปเป็นสารที่ละลายน้ำ และขับออกจากร่างกายได้ หากเอนไซม์นี้ผิดปกติ หรือหากมียาหรือสารชนิดอื่นมาแย่งจับ หรือขัดขวางการทำงานเอนไซม์นี้ จะทำให้สารบิลิรูบินไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นสารที่จะขับออกได้ จึงมีสารบิลิรูบินคั่งอยู่ในเลือด/ในร่างกายมาก
3. กระบวนการขับถ่ายออก: คือเมื่อสารบิลิรูบินถูกเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ของตับแล้ว จะถูกนำออกจากตับโดยผ่านทางท่อน้ำดีแล้วไปออกสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น จากนั้นขับออกทางอุจจาระ ท่อน้ำดีในตับเปรียบเหมือนคลองเล็กคลองน้อยที่จะนำน้ำดีออกสู่แม่น้ำใหญ่คือลำไส้
ดังนั้นหากมีการอุดตันของท่อน้ำดีโดยสาเหตุที่เกิดจากกายวิภาคคือ ท่อน้ำดีตีบตัน (Biliary atresia) หรือเกิดจากเซลล์ตับอักเสบและบวมมาก จนท่อน้ำดีถูกเบียดหรือมีสารบิลิรูบินเข้มข้นอยู่จำนวนมากเหมือนโคลนไปทับถม ทำให้สารบิลิรูบินที่สร้างมาใหม่ๆไหลออกมาไม่ได้ ล้วนมีผลทำให้เกิดอาการตัวเหลืองได้ และแม้แต่การมีลำไส้อุดตันหรือภาวะที่ลำไส้ขยับตัวเคลื่อนไหวน้อยในเด็กแรกเกิดที่ยังรับนมแม่ได้น้อย เนื่องจากแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอในช่วง แรกๆ (Breastfeeding jaundice) จึงส่งผลทำให้มีการคั่งของน้ำดี ทำให้น้ำดีถูกดูดซึมเข้ากระ แสเลือดมากขึ้นจึงเกิดตัวเหลืองได้
ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของบิลิรูบินจากที่ไม่ละ ลายน้ำมาเป็นสารที่ละลายน้ำได้น้อยกว่าปกติ จึงขับถ่ายบิลิรูบินได้น้อยกว่าปกติ
แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าเด็กตัวเหลือง?
ในเด็กแรกเกิดแพทย์ต้องให้อยู่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการตัวเหลืองสัก 2 - 3 วัน ส่วน ใหญ่แพทย์จะมองเห็นว่าเด็กตัวเหลือง อาการตัวเหลืองจะเริ่มเห็นจากใบหน้าเด็กก่อนแล้วไปที่ตัว ขา และเท้า แต่จะบอกละเอียดไม่ได้ว่าเหลืองเท่าใด แพทย์จึงต้องเจาะเลือดไปตรวจดูระดับความเหลือง และหากเด็กตัวเหลืองถึงระดับหนึ่งแพทย์อาจต้องเจาะเลือดติดตามระดับสารสีเหลือง/บิลิรูบินอยู่บ่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้สารบิลิรูบินนี้มีมากเกินไปจนเกิดอันตราย
ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเข้าใจว่า การเจาะเลือดตรวจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะพ่อแม่ส่วนมากจะไม่อยากให้ลูกถูกเจาะเลือด สงสารกลัวลูกเจ็บ
สารสีเหลืองบิลิรูบินมีมากเกินไป เกิดผลเสียอย่างไร?
สารสีเหลือง/บิลิรูบินถ้ามากเกินไปโดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในไขมัน (Unconjugated bilirubin) หากมากเกินกว่าที่อัลบูมินในเลือดจะจับไว้ได้หมด ส่วนที่เหลือจะผ่านเข้าไปสู่สมอง ไปจับที่เนื้อสมองทำให้สมองผิดปกติเรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus)
ซึ่งในระยะต้นของภาวะเคอร์นิกเทอรัส เด็กจะมีอาการเกร็ง ซึม ดูดนมไม่ดี อาเจียน ร้องเสียงแหลม หลังจากนั้นมีการเกร็งมากขึ้น ชักหลังแอ่น มีไข้ ตาเหลือกขึ้นข้างบน เด็กหลายรายจะตายในระยะนี้
หากเด็กรอดชีวิตผ่านระยะดังกล่าวไป จะไปสู่ระยะท้ายคือหลังแอ่นชัดเจน ความตึงหรือเกร็งของกล้ามเนื้อลดลง หยุดหายใจ หมดสติ หรือเสียชีวิต แต่หากไม่เสียชีวิตจะเกิดความพิการถาวร เช่น ชัก เกร็ง การเคลื่อนไหวผิดปกติ หูหนวก ปัญญาอ่อน และมีพัฒนาการช้า
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุเด็กตัวเหลืองอย่างไร?
เมื่อพบว่าเด็กแรกเกิดตัวเหลือง แพทย์จะแยกจากภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากภาวะปกติของ เด็กเสียก่อน (Physiologic jaundice) ซึ่งภาวะนี้เกิดจากมีการแตกของเม็ดเลือดแดงในเด็กเร็วกว่าในผู้ใหญ่ และตับของเด็กแรกเกิดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาการตัวเหลืองดังกล่าวจะมีระดับสารสีเหลือง/บิลิรูบินไม่สูงมาก มักเกิดหลังวันแรกของชีวิต ส่วนใหญ่เกิดวันที่ 2 - 3 และสารบิลิรูบินในเลือดจะไม่สูงขึ้นเร็ว กล่าวคืออาการเหลืองจะไม่มาก เด็กจะไม่ซึม และไม่มีอาการอื่นๆ เช่น ภาวะติดเชื้อ โดยทั่วไปภาวะเหลืองปกติจะหายไปภายใน 7 วันหรืออย่างมากไม่เกิน 10 วันในเด็กคลอดครบกำหนด แต่เด็กคลอดก่อนกำหนดอาการตัวเหลืองจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์
อาการตัวเหลืองที่ไม่ปกติ คือ เหลืองภายในวันแรกของชีวิตและเหลืองขึ้นรวดเร็ว เด็กมีอาการซึม หรือปริมาณสารสีเหลือง/บิลิรูบินในเลือดสูงเกินจากระดับปกติ ซึ่งแพทย์จะต้องหาสาเหตุ แพทย์มักจะมีแนวทางการค้นหาสาเหตุตามระยะเวลาที่เกิดอาการเหลือง ซึ่งแพทย์จะแบ่งว่าตัวเหลืองเร็วคือภายใน 7 วัน กับตัวเหลืองหลัง 7 วัน
ตัวเหลืองภายใน 7 วัน ยังแบ่งเป็นเกิดอาการเหลืองในวันแรก กับเกิดอาการเหลืองวันที่ 2 ถึงวันที่ 7
โดยแพทย์มีแนวทางในการหาสาเหตุต่างๆดังได้กล่าวไว้ตอนต้น เช่น แพทย์จะตรวจหมู่เลือดของแม่และลูก, ตรวจการทำงานของตับ,เพื่อเป็นแนวทางว่ามีการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีหรือไม่ ตรวจหาว่ามีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี หรือมีการติดเชื้อไวรัสหลายชนิดตั้งแต่ก่อนคลอดหรือหลังคลอด, หรือหลักฐานการติดเชื้ออื่นๆหลังคลอด ,หรืออาการตัวเหลืองเกี่ยวข้องกับนมแม่ คือ ช่วงเด็กแรกเกิดเกิดจากนมแม่ไม่พอ (Breast feeding jaundice), หรือช่วงหลังซึ่งหลังเด็กอายุตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไปจะเกิดจากตัวนมแม่เอง (Breast milk jaundice, อ่านเพิ่มเติมในหัว ข้อของเรื่องนี้)
หากเหลืองหลังอายุ 7 วันไปแล้ว: แพทย์จะดูว่ามีตับอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือมีท่อน้ำดีตีบตัน หรือจากมีถุงน้ำในท่อน้ำดี (Choledochal cyst) ไปทำให้มีการอุดตันของทางเดินน้ำดีหรือไม่ ซึ่งอาจต้องเอกซเรย์ตามข้อบ่งชี้ หรือบางภาวะที่แพทย์ดูจากการวินิจฉัยอย่างอื่นแล้วแยกไม่ได้ว่ามีสาเหตุจากอะไร จำเป็นที่แพทย์ต้องผ่าตัดเข้าไปเพื่อฉีดสีและเอกซเรย์ว่าท่อน้ำ ดีตีบตันหรือไม่ ถ้ามีการตีบตันของท่อน้ำดี ต้องผ่าตัดทำทางระบายให้น้ำดีขับออกไปทางลำไส้ได้ จะได้ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อตับ
แพทย์รักษาเด็กตัวเหลืองอย่างไร?
แนวทางการรักษาเด็กตัวเหลืองคือ
1. แพทย์จะระวังไม่ให้ระดับของสารสีเหลือง/บิลิรูบินสูงมากเกินขนาดซึ่งจะไปทำอันตราย ต่อเนื้อสมอง โดยแพทย์อาจจะส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับสารสีเหลือง แต่หากไม่ได้ผลจะต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อกำจัดสารสีเหลืองออกไปให้มากที่สุดในเวลารวดเร็ว
2. แพทย์จะรักษาตามสาเหตุซึ่งบางสาเหตุรักษาไม่ได้ ได้แต่ป้องกัน ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำ ให้เกิดอาการมากขึ้นเช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากยาหรือจากสารเคมีก็ควรหลีกเลี่ยง หาก เกิดจากการตีบตันของท่อทางเดินน้ำดีต้องรีบแก้ไขโดยการผ่าตัดในเวลาที่เหมาะสม
การส่องไฟรักษาทำอย่างไร? และช่วยรักษาได้อย่างไร?
เมื่อเด็กตัวเหลืองถึงเกณฑ์ที่ต้องส่องไฟรักษา แพทย์จะใช้แสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent lamp) ชนิดพิเศษ (Special blue light) ส่องไปที่ตัวเด็ก ซึ่งจะใช้จำนวนหลอดไฟและระยะห่างจากตัวเด็กตามมาตรฐาน โดยถอดเสื้อผ้าเด็กและปิดตาเด็กไว้เพื่อป้อง กันภาวะแทรกซ้อนที่ตา แสงสีฟ้าที่ใช้มีความยาวคลื่นประมาณ 425 - 475 นาโนเมตร จะถูกดูดซึมโดยบิลิรูบินและจะช่วยเปลี่ยนบิลิรูบินให้เป็นชนิดที่ละลายน้ำ และถูกขับออกจากร่างกายผ่าน ทางน้ำดีออกทางอุจจาระ และผ่านไตออกทางปัสสาวะ
การส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองมีอันตรายหรือไม่?
การส่องไฟรักษาเด็กตัวเหลืองเป็นวิธีการทำกันมานานแล้วและปลอดภัย ช่วยลดการที่จะ ต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดได้มาก อาการข้างเคียงจากการส่องไฟมี ดังนี้
1. เด็กอาจมีอุณหภูมิกายสูงขึ้น ดังนั้นต้องให้นมหรือให้น้ำเด็กให้เพียงพอ
2. อาจมีผื่นขึ้นตามตัวได้บ้าง
3. อาจมีอุจจาระเหลว
4. ในเด็กที่มีสารไดเร็คบิลิรูบิน (Direct bilirubin, บิลิรูบินชนิดละลายน้ำได้) สูงอาจทำให้ผิวของเด็กดูเขียวๆเหลืองๆเป็นมันเรียกว่า บรอนซ์เบบี้ (Bronze baby) แต่ไม่อันตราย
การเปลี่ยนถ่ายเลือดทำอย่างไร? มีอันตรายหรือไม่?
การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นวิธีการรักษาที่จะช่วยนำสารที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ที่อยู่ในกระแสเลือดออกไปได้เร็ว หลักการคือ เอาเลือดของคนปกติที่ผ่านการตรวจสอบหมู่เลือดและการติดเชื้อในเลือดตามวิธีมาตรฐานสากล แล้วนำเลือดในจำนวนมากกว่าเลือดเด็กอีกหนึ่งเท่า ตัว (คำนวณว่าเด็กมีปริมาณเลือดเท่าใดแล้วคูณด้วยสอง) แล้วจึงค่อยๆดูดเลือดเด็กออก ใส่เลือดใหม่เข้าไปสลับกัน โดยการเปลี่ยนถ่ายเลือดต้องทำในห้องที่ปลอดเชื้อ มีการตรวจสอบสัญญาณชีพของเด็กโดยตลอด มีการทดแทนสารน้ำและเกลือแร่ในเลือดเช่น แคลเซียมที่อาจต่ำลงจากการเปลี่ยนถ่ายเลือด ดังนั้นโอกาสติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนจากกระบวนการทำจะมีน้อยมากเมื่อเทียบกับผลดีจากการรักษา
นมแม่ทำให้เด็กตัวเหลือง ต้องหยุดให้นมแม่หรือไม่?
เด็กบางคนอาจเกิดอาการตัวเหลืองจากนมแม่ (Breast milk jaundice) กลไกยังไม่แน่ชัดทั้งหมด แต่เมื่อลองหยุดนมแม่สัก 2 - 3 วัน สารบิลิรูบินจะลดลงมาก เป็นการพิสูจน์ว่าภาวะเหลืองเกิดจากนมแม่ หลังจากนั้นให้นมแม่ต่อได้เพราะเด็กจะไม่เหลืองมากไปกว่าเดิม และไม่เกิดภาวะสารบิลิรูบินไปจับที่สมอง อาการของเด็กในภาวะนี้จะปกติไม่ซึม
อาการเหลืองจากนมแม่เกิดเมื่อเด็กอายุหลังสัปดาห์ที่ 1 จนถึงสัปดาห์ที่ 2 - 3 หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้ ซึ่งต้องแยกจากตัวภาวะเหลืองเนื่องจากนมแม่มีน้อย (Breast feeding jaun dice) ซึ่งเกิดในช่วงอายุ 2 - 3 วันแรก ปัญหาหลังนี้เกิดจากลำไส้ของเด็กยังเคลื่อนตัวไม่ดี แต่จะดีขึ้นเมื่อให้ดูดนมแม่บ่อยๆทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนภาวะเหลืองจากนมแม่ (Breast milk jaundice) หากเหลืองมากจะดีขึ้นได้จากการรักษาด้วยการส่องไฟ
เมื่อไรควรพาเด็กไปพบแพทย์?
เมื่อสังเกตว่าเด็กตัวเหลืองควรพาเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
1. เมื่อเด็กตัวเหลืองได้รักษาจนอาการเหลืองลดลงและออกจากโรงพยาบาลแล้ว กลับบ้านมีอาการเหลืองขึ้นอีก ควรรีบพาไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพราะอาการเหลืองอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วม กัน อย่ามัวเอาลูกตากแดด เพราะหลายครั้งที่พบว่าเด็กเหลืองมากและเหลืองมานานกว่าจะมาโรงพยาบาล เนื่องจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายบางครอบครัวยังเชื่อว่า ถ้าเหลืองให้เอาลูกตากแดดจะหายเหลือง ทำให้เสียโอกาสในการรีบรักษาให้ได้ผลดี
2. ในเด็กที่อุจจาระสีซีดมาก: เรื่องนี้สำคัญมากโดยปกติอุจจาระเด็กจะมีสีเหลืองหรือสีเขียวหรือสีน้ำตาล แต่เด็กที่มีอุจจาระซีดบางคนซีดจนเหมือนกระดาษหรือแป้ง ภาษาแพทย์เรียกว่า Acholic stool และมีตัวเหลือง ปัสสาวะเข้ม แต่บางคนอาจมองเห็นตัวเหลืองไม่ชัดเจน ภาวะนี้ถือเป็นภาวะเร่งด่วนเพราะเป็นอาการของทางเดินท่อน้ำดีตีบตัน (Biliary atresia) เป็นภาวะที่ต้องรีบวินิจฉัยและผ่าตัดเปิดทางระบายน้ำดี
เวลาที่ดีที่สุดในการรักษาเด็กตัวเหลืองไม่ควรเกิน 2 เดือน (8 สัปดาห์) เพราะหากเด็กอายุมากแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ตับ การทำงานของตับเสียมากขึ้นจนในที่สุดเกิดภาวะตับวาย เมื่อมีภาวะตับวายแล้วจะไม่มีทางรักษาเลย นอกจากโชคดีจะได้เปลี่ยนตับซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ และผลการทำการเปลี่ยนตับไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ควรระลึกเสมอว่า เมื่อตับวายเด็กไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
สิ่งที่พบเสมอคือ พ่อแม่มักพาลูกที่มีอาการท่อน้ำดีตีบตันไปโรงพยาบาลล่าช้าเนื่องจาก เด็กดูสบายดี ไม่เจ็บไข้ มีแต่เหลืองอย่างเดียว พ่อแม่จึงนิ่งนอนใจผัดวันประกันพรุ่งจนสายเกิน ไปที่จะช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ป้องกันภาวะตัวเหลืองในเด็กได้อย่างไร?
แม้สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในเด็กหลายชนิดไม่สามารถป้องกันได้ แต่มีภาวะตัวเหลือง ในเด็กบางภาวะสามารถป้องกันได้ เช่น
1. ภาวะติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์: มารดาควรรีบฝากครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรก (3เดือนแรกที่ตั้งครรภ์) ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทั้งการเจาะเลือดตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมเช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง และตรวจหาภาวะติดเชื้อในแม่เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคซิฟิลิส ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/โรคเอดส์ ทำให้สามารถทราบว่าอาจมีการติดเชื้อในเด็กตั้งแต่ในครรภ์ โรคบางอย่างสามารถรักษาได้
2. เมื่อใกล้คลอดหรือในระหว่างให้ลูกกินนมแม่: แม่ต้องระวังการใช้ยาบางอย่าง เช่น ยา กลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide) ทำให้บิลิรูบินจับกับอัลบูมินได้ไม่ดีหรือทำให้มีเม็ดเลือดแดง แตกในเด็กที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) อาจทำให้เกิดตัวเหลืองในเด็กแรกคลอด
3. ในเด็กแรกเกิดแม่ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่เร็วที่สุด ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆให้ได้ 10 - 12 ครั้งต่อวัน เพราะจะทำให้ลำไส้ของลูกเคลื่อนตัวทำงานได้ดี ช่วยขับสารสีเหลือง/บิลิรูบินออก ไปได้ดี
4. ไม่อบผ้าอ้อมด้วยลูกเหม็นซึ่งเป็นสารที่อาจทำให้เด็กที่ขาดเอนไซม์จีซิกพีดีเกิดภาวะ เม็ดเลือดแดงแตกมากขึ้น ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่ซื้อมาใหม่ๆควรซักให้สะอาดก่อนใช้เพราะอาจถูกอบด้วยสารกันแมลง
ภายหลังการรักษาเมื่อเด็กกลับบ้านควรดูแลเด็กอย่างไร? ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ ไร?
ในเด็กที่มีอาการตัวเหลือง เมื่อรักษาสาเหตุและระดับของสารบิลิรูบินลดลงจนไม่อยู่ในระดับที่มีอันตราย ร่วมกับอาการทั่วไปของเด็กดีไม่ซึม แพทย์จะอนุญาตให้พาเด็กกลับบ้านได้และแพทย์อาจนัดติดตามอาการอีกตามความจำเป็นและตามข้อบ่งชี้
การเลี้ยงดูเด็กเมื่อกลับบ้าน มารดาบิดาควรช่วยกันเลี้ยงลูก อาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กในวัยนี้คือนมแม่อย่างเดียวจนถึงอย่างน้อยหกเดือน หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัยร่วมกับนมแม่ต่อไป
ดังนั้นในช่วงที่ลูกตัวเหลืองยกเว้นช่วง 2 - 3 วันที่แพทย์ต้องการพิสูจน์ว่าเหลืองจากนมแม่หรือไม่เท่านั้นที่แพทย์อาจให้ลองงดนมแม่ นอกเหนือจากนี้แม่ควรให้ลูกกินนมแม่ตลอด ใน ช่วงที่ลูกหยุดนมแม่ แม่ต้องปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกิน (เก็บไว้ในตู้เย็นหรือแช่แข็งถ้าต้องการเก็บไว้ นาน) การให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธีและดูดบ่อยๆทำให้นมแม่มีมากพอให้ลูกกิน เพราะนมแม่เป็นอาหารดีที่สุดของเด็กอ่อน
เด็กที่มีสุขภาพดีจะดูมีความสุขคือ ไม่ซึม กินได้ดี ดูดนมแรง กินนมอิ่มก็หลับได้ เล่นได้ ร้องเสียงดัง อุจจาระปัสสาวะปกติ เด็กกินนมแม่อาจถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้ง แต่น้ำหนักขึ้นดี
หากเด็กซึม ไม่ดูดนม ไม่ค่อยร้อง มีไข้ หรือตัวเย็นกว่าปกติ เหลืองมากขึ้น ท้องอืด อา เจียน ท้องเสียเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นมูกหรือเลือดปนแม้แต่ครั้งเดียว ตาลอย กระตุกหรือชักเกร็ง หอบ เขียว อาการหนึ่งอาการใดหรือหลายอาการร่วมกันต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดหรือพบแพทย์ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
มารดาบิดาควรศึกษารายละเอียดให้เข้าใจในสมุดพกประจำตัวเด็กในการเลี้ยงดูติดตาม ดูแลเด็ก ทั้งเรื่องการให้วัคซีน, การเจริญเติบโต, พัฒนาการในด้านต่างๆ, การให้อาหารเด็ก
บรรณานุกรม
1. Ambalavanan N, Carlo WA. Jaundice and hyperbilirubinemia in the newborn. In: Kliegman RM, Stanton BF, St. Geme JW, Schor NF, Behrman RE, eds. Nelson Textbook of Pediatrics 19 th edition. Philadelphia: Elsevier, 2011. p603-7.
2. A-kader HH, Balistreri WF. Biliary atresia. In: Kliegman RM, Stanton BF, St. Geme JW, Schor NF, Behrman RE, eds. Nelson Textbook of Pediatrics 19 th edition. Philadelphia: Elsevier, 2011. p1385-87.
3. ผกาพรรณ เกียรติชูสกุล. ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด. ใน: สุขชาติ เกิดผล, อวยพร ปะนะมณฑา, จามรี ธีรตกุลพิศาล, ชาญชัย พานทองวิริยะกุล, ณรงค์ เอื้อวิชญาแพทย์, จรรยา จิระประดิษฐา. วิชากุมารเวชศาสตร์. ขอนแก่น. แอนนาออฟเซตการพิมพ์, 2552 หน้า 75-90.