ภาวะขาดวิตามินบี-1 หรือ โรคเหน็บชา (Vitamin B-1 deficiency หรือ Beriberi)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม? และแหล่งอาหาร

ภาวะขาดวิตามินบี-1 (Vitamin B 1 deficiency) หรือเรียกอีกชื่อว่า โรคเหน็บชา (Beriberi) เป็นภาวะหรือโรคที่เกิดจากร่างกายขาดวิตามิน บี-1 (ที่เรียกอีกชื่อว่าThiamine หรือ Thiamin)

ปัจจุบันในประเทศที่เจริญแล้ว หรือคนที่อาศัยในเมืองจะมีภาวะขาดวิตามินบี-1 น้อยมาก ทั้งนี้เพราะอาหารสุขภาพในยุคใหม่ เช่น นม หรืออาหารเช้าซีเรียล (Cereal) จะมีการ เสริมวิตามินบี-1 ในปริมาณที่มากพอ ดังนั้น ปัจจุบันจึงมักพบการขาดวิตามินบี-1ได้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาและในบุคคลกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ “หัวข้อ ใครมีปัจจัยเสี่ยงฯ”

ภาวะขาดวิตามินบี-1 พบในคนทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

แหล่งอาหารวิตามินบี-1:

วิตามินบี-1 มีมากใน ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี/ธัญพืชเต็มเมล็ด (Whole grain) หรือซีเรียล/อาหารเช้าที่เสริมวิตามินบี-1/วิตามินบีรวม เนื้อสัตว์ ปลา เป็ด ไก่ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นมโดยเฉพาะที่เสริมวิตามิน บี-1/วิตามินบีรวม ผักใบเขียวต่างๆโดยเฉพาะ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วกินฝัก ถั่วเหลือง ลูกนัท พืชกินหัว มันฝรั่ง มะเขือเทศ และส้ม

วิตามินบี-1 ถูกทำลายได้ง่าย ด้วย แอลกอฮอล์ สารบางชนิด(เช่น Tannin)ในชาและกาแฟ และจากความร้อนในการหุงต้มมากกว่าจากการปิ้งย่าง รวมทั้งการเก็บ แหล่งอาหารนี้ไว้ในตู้เย็นนานๆ และเนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ จึงถูกกำจัดจากร่างกายได้ง่ายทางปัสสาวะ ดังนั้นจึงลดโอกาสเกิดการสะสมในร่างกายจนก่อโทษ

วิตามินบี-1มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ภาวะขาดวิตามินบี1

วิตามินบี-1มีประโยชน์และโทษ ดังนี้

ก: ประโยชน์ของวิตามินบี 1:

วิตามินบี-1 เป็นวิตามินที่ความสำคัญมาก มีหน้าที่หรือประโยชน์เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ (Enzyme)สำคัญในการใช้พลังงานของร่างกายจาก ไขมัน โปรตีน และโดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของกล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อทั่วไป และเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของเซลล์สมองและเซลล์ปลอกประสาท(Myelin sheath)ซึ่งมีหน้าที่รับส่งสัญญาณต่างๆระหว่างสมองกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ

ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดวิตามิน บี-1 จึงส่งผลถึงการทำงานของทุกอวัยวะ โดยเฉพาะของ หัวใจ สมอง ตับ ไต และกล้ามเนื้อ และเป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจวายและตายได้

ข. โทษของวิตามินบี 1:

เนื่องจาก วิตามินบี1 เป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ร่างกายจึงกำจัดส่วนเกินได้ง่ายออกทางปัสสาวะ ดังนั้นจนถึงปัจจุบัน จึงยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงหรือโทษจากการกินวิตามินบี-1จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือจากอาหารเสริม ในปริมาณที่ระบุในเอกสารกำกับยา

ร่างกายต้องการวิตามินบี-1 วันละเท่าไร?

ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินบี-1 ได้เอง ดังนั้นจึงต้องได้รับจากอาหาร/จากการบริโภคเท่านั้น

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปต่อปริมาณวิตามินบี-1 ที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies)ในปีค.ศ. 2011 คือ

ภาวะขาดวิตามินบึ-1มีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการขาดวิตามินบี-1 ได้แก่

  • ภาวะขาดอาหารที่มีวิตามินบี-1
  • ภาวะที่ลำไส้ลดการดูซึมวิตามินบี-1 เช่น โรคลำไส้อักเสบ
  • ร่างกายมีโรคหรือมีภาวะที่ทำให้สูญเสียวิตามินบี-1เพิ่มขึ้น
  • ร่างกายมีโรคหรือภาวะที่ต้องการวิตามินบี-1 เพิ่มขึ้น

ก. ภาวะขาดอาหารที่มีวิตามินบี-1: เช่น

  • กินอาหารที่มีเอนไซม์ย่อยสลายวิตามินบี-1มากเป็นประจำ เช่น ปลาน้ำจืด หรือหอย ดิบๆ
  • หรือกินอาหารที่ขาดวิตามินบี-1 เช่น ธัญพืชที่ขัดสีโดยกินในปริมาณสูงต่อเนื่อง
  • หรือกินอาหารหมักดองต่อเนื่อง
  • หรือการได้รับอาหารมีประโยชน์ไม่เพียงพอ/ภาวะขาดอาหารจากปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ในค่ายอพยพ ทารกที่ได้นมแม่จากแม่ที่ขาดสารอาหาร/วิตามินบี-1 คนที่ต้องทำงานในเรือติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆเดือน หรือเป็นปี
  • หรือในเด็ก และในผู้สูงอายุ ที่ขาดคนดูแล

ข. ลำไส้ลดการดูดซึมวิตามินบี-1: เช่น

  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีสารลดการดูดซึมวิตามินบี-1 เช่น กาเฟอีน( เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง), แอลกอฮอล์
  • หรือการสูบบุหรี่/หรือสูบบุหรี่มือสอง (ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง)
  • หรือในผู้ที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารรักษาโรคอ้วน

ค. ร่างกายมีโรคหรือภาวะที่ทำให้สูญเสียวิตามินบี-1เพิ่มขึ้น: เช่น

  • การสูญเสียวิตามินบี1ทางอุจจาระ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • การสูญเสียทางปัสสาวะ(เพราะวิตามินบีละลายอยู่ในน้ำปัสสาวะ) เช่น
    • จากใช้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ เช่น ในโรคหัวใจล้มเหลว, ในโรคความดันโลหิตสูง, หรือในภาวะมีอาการบวมน้ำ
    • โรคไตเรื้อรังชนิดที่ทำให้มีปัสสาวะมาก
    • การดื่มสารกาเฟอีนปริมาณสูง/วันต่อเนื่อง เพราะนอกจากลดการดูดซึมวิตามินบีแล้ว กาเฟอีนยังส่งผลเพิ่มการปัสสาวะ
  • การสูญเสียทางอาเจียน เช่น การแพ้ท้องในการตั้งครรภ์ หรือ ในโรคความผิดปกติในการกินอาหาร (โรคบูลิเมีย Bulimia nervosa)
  • จากการล้างไตทางหน้าท้อง หรือการฟอกเลือดล้างไตในภาวะไตวาย
  • และจากการที่ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมวิตามินบี-1 ได้ตามปกติ เช่น ในโรคตับแข็ง เพราะตับเป็นแหล่งสะสมวิตามินบี-1 เมื่อเกิดโรคตับ ร่างกายจึงขาดวิตามินบี-1 ได้ง่าย

ง. ร่างกายมีโรคหรือภาวะที่ต้องการวิตามินบี-1 เพิ่มขึ้น: เช่น

  • การตั้งครรภ์
  • การให้นมบุตร
  • คนที่กินอาหารคาร์โบไฮเดรตปริมาณสูงเป็นประจำ
  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
  • โรคเบาหวาน
  • การใช้แรงงาน หรือการออกกำลังกายหักโหม ที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี-1?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี-1 คือ

  • หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ผู้ที่ขาดอาหาร หรือมีภาวะทุโภชนาการ
  • ผู้ป่วยล้างไต หรือฟอกไต (การล้างไต การบำบัดทดแทนไต)
  • ผู้ซึ่งผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อรักษาโรคอ้วน
  • ผู้ใช้แรงงาน

ภาวะขาดวิตามินบี-1 มีอาการอย่างไร?

อาการจากการขาดวิตามินบี-1 ที่พบบ่อย ได้แก่

ก. อาการทั่วไป: เป็นอาการที่ไม่จำเพาะ พบได้ในเกือบทุกโรค รวมทั้งโรคจากภาวะขาดอาหารด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น

  • เหนื่อยง่าย
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • ท้องผูก จากลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อยจากขาดวิตามิน บี –1
  • ปวดกล้ามเนื้อ มักเป็นกับกล้ามเนื้อน่อง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงเดินลำบาก
  • เป็นตะคริวง่าย
  • และไม่มีสมาธิ

ข. อาการ ‘Wet beriberi (โรคเหน็บชาแบบเปียก): เป็นอาการขาดวิตามินบี-1 ที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ อาการ เช่น

  • เหนื่อยง่าย
  • หายใจลำบาก
  • ตื่นกลางคืนจากหายใจลำบาก
  • บวม เท้า และขา
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • และอาการชา แขน ขา มือ เท้า

ค. อาการ ‘Dry beriberi (โรคเหน็บชาแบบแห้ง)’: เป็นอาการขาดวิตามินบี-1ที่มีผลต่อเซลล์สมอง และเซลล์ประสาทโดยเฉพาะในส่วนปลอกประสาท ส่งผลให้มีอาการ เช่น

  • ชาทั่วตัว แต่มักเป็นมากที่ มือ และเท้า
  • สับสน
  • พูดช้า
  • ไม่มีสมาธิ
  • มีลูกตาเคลื่อนผิดปกติ/ตากระตุกแก่วง (Nystagmus)
  • กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงจึงกลั้นน้ำลายไม่ได้ มีน้ำลายไหล
  • และอาเจียน

ง. อาการขาดวิตามินบี1ในเด็กอ่อน (Infantile beriberi): เป็นอาการพบในเด็กอายุต่ำกว่า 1ปี มักพบในช่วงอายุ 2-6เดือน โดยเด็กจะมีอาการ เช่น

  • หายใจลำบาก
  • อาการเขียวคล้ำ ร่วมกับมีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • อาจพบมีเสียงแหบ
  • น้ำหนักตัวลด
  • อาเจียนบ่อย
  • ท้องเสีย
  • ผิวหนังซีด
  • เนื้อตัวบวม
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • และอาจมีอาการชัก

จ. อาการอื่นๆ: เช่น

  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร(Gastrointestinal beriberi): เช่น
    • ปวดท้อง เรื้อรัง
    • คลื่นไส้ อาเจียน เรื้อรัง
  • อาจมีภาวะเลือดเป็นกรดจากมีสาร Lactate(สารที่เกิดจากการใช้พลังงานของเซลล์)ในเลือดสูงที่เรียกว่า Lactic acidosis ซึ่ง มีอาการเช่น อ่อนเพลีย และคลื่นไส้

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-1 ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี-1 ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่ย ประวัติอาการ ประวัติการกินอาหาร การเป็นกลุ่มเสี่ยง ประวัติโรคประจำตัวทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูค่าวิตามินบี-1 และดูค่าสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิตามินบี-1
  • และอาจตรวจค่าวิตามินบี-1 ในปัสสาวะถ้าสงสัยว่ามีการสูญเสียวิตามินนี้ทางปัสสาวะมากผิดปกติ

รักษาภาวะขาดวิตามินบี-1 อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดวิตามินบี-1 คือ

  • การให้วิตามินบี-1 เสริมอาหาร ซึ่งอาจเป็น การกิน หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งขึ้นกับ ความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์
  • ร่วมกับการกินอาหารที่มีวิตามินบี-1 สูง

นอกจากนั้น คือ

  • การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ที่ผลสืบเนื่องจากขาดวิตามินบี 1(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘หัวใจล้มเหลว’)
  • และการรักษาประคับประคองตามอาการ อื่นๆ เช่น
    • ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ เป็นต้น

ภาวะขาดวิตามินบี-1 รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของภาวะขาดวิตามินบี-1 คือ เป็นภาวะรุนแรงโดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการชนิดเปียก (Wet beriberi) เพราะสามารถเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จากภาวะหัวใจล้มเหลว แต่เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันทวงที ก็เป็นภาวะที่รักษาให้หายได้ แต่อาการต่างๆก็ย้อนกลับเป็นซ้ำได้อีกเมื่อยังคงมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’

ในส่วนผลข้างเคียงจากภาวะขาดวิตามินบี-1 คือ

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • และอาการทางสมองซึ่งอาจทำให้คนคิดว่าผู้ป่วยเสียสติ/มีปัญหาทางจิตเวชได้

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วในหัวข้อ “อาการฯ” คือการรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

โดยหลังจากพบแพทย์ และได้รับการวินิจฉัยว่าขาดวิตามินบี 1แล้ว การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ รวมทั้งวิตามินบี-1 เสริมอาหาร (แพทย์อาจให้ในรูปแบบของวิตามินบีรวม) อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้ออาหาร
  • กินอาหารจืด งดอาหารเค็ม เพื่อลดโอกาสเกิดซ้ำของภาวะหัวใจล้มเหลว
  • เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เลิก/ไม่สูบบุหรี่, เพราะจะทำให้อาการโรค เลวลง
  • กินธัญพืชเต็มเมล็ด เพราะจะมีวิตามินบี1สูงกว่าชนิดถูกขัดสี
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย หรือท้องผูก มาก หรือคลื่นไส้มาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-1 อย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดวิตามินบี-1 ได้ด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกมื้อ หรืออย่างน้อยในทุกๆวัน และเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี1 (ดังกล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ”) ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร เพื่อกินวิตามินบีรวมเสริมอาหาร

นอกจากนั้น คือ

  • เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มมีสารกาเฟอีนมากเกินไปต่อเนื่อง เพราะนอกจากมีสารบางตัว ที่ลดการดูดซึมวิตามินบี กาเฟอีนยังมีผลให้ร่างกายขับน้ำเพิ่มขึ้น
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
  • ตรวจสุขภาพไต ในการการตรวจสุขภาพ ทุกปี เพื่อการป้องกันและการรักษาโรคไตแต่เนิ่นๆ

บรรณานุกรม

  1. Doung-ngern, P. et al. (2007). Berberi outbreak among commercial fishermen Thailand, 2005. Southeast Asian J Trop Med Public Health.38,130-135. (PubMed)
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Thiamine_deficiency[2019, June15]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/116930-overview#showall[2019, June15]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t2/?report=objectonly[2019, June15]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Thiamine[2019, June15]
  6. http://www.ndhealthfacts.org/wiki/Vitamin_B1[2019, June15]