ภาวะขาดซีลีเนียม (Selenium deficiency)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำและแหล่งอาหาร

ภาวะขาดซีลีเนียม (Selenium deficiency) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับเกลือแร่หรือธาตุอาหารซีลีเนียม (Selenium) ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ซีลีเนียม เป็นเกลือแร่ที่มีอยู่ในดินและหิน ดังนั้นแหล่งอาหารซีลีเนียมสำหรับคน คือ พืช และเนื้อสัตว์ที่กินพืชนั้นๆ ดังนั้น ในประเทศที่ดินมีปริมาณซีลีเนียมต่ำ ประชาชนโดยเฉพาะเด็กๆมักจะมีภาวะขาดซีลีเนียม

ภาวะขาดซีลีเนียม พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โอกาสเกิดในทั้งสองเพศใกล้เคียงกัน ประเทศที่มีซีลีเนียมในดินต่ำ และไม่มีการเสริมซีลีเนียมในอาหาร ประชาชนโดยเฉพาะในเด็กจึงอาจมีภาวะขาดซีลีเนียม เช่น ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เป็นต้น

ร่างกายดูดซึมซีลีเนียมผ่านทางลำไส้เล็ก และเมื่อเข้าสู่กระแสโลหิต ซีลีเนียมจะถูกทำให้มีประสิทธิภาพในการที่ร่างกายนำไปใช้ได้เพิ่มขึ้นที่ตับ บางส่วนจะถูกเซลล์ต่างๆนำไปใช้ บางส่วนจะเก็บสะสมไว้ใน ตับ ไต และกล้ามเนื้อ ส่วนที่เหลือ ร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะผ่านทางไต และเป็นส่วนน้อยจะถูกกำจัดโดยตับผ่านทางน้ำดี เข้าสู่ลำไส้และทางอุจจาระในที่สุด นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ได้รับซีลีเนียมในปริมาณสูงมากๆ ร่างกายจะกำจัดซีลีเนียมออกทางลมหายใจด้วย ซึ่งจะทำให้ลมหายใจมีกลิ่นของซีลีเนียม (กลิ่นคล้ายกลิ่นกระเทียม)

แหล่งอาหาร:

อาหารที่มีซีลีเนียมสูง ได้แก่ ธัญพืชเต็มเมล็ด และอาหารเช้าซีเรียล(Cereal)ที่เสริมซีลีเนียม เนื้อสัตว์ ตับ ไต อาหารทะเล ไข่ และอาหารต่างๆที่เสริมอาหารด้วยซีลีเนียม

อนึ่ง ซีลีเนียมเป็นธาตุอาหารที่ไม่ถูกทำลายด้วยความร้อนจากการปรุงอาหาร

ร่างกายต้องการซีลีเนียมวันละเท่าไร?

ภาวะขาดซีลีเนียม

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณซีลีเนียมที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) ค.ศ. 2011 คือ

อายุ
ปริมาณซีลีเนียม (ไมโครกรัมต่อวัน)
.
.
ทั้งเพศชายและหญิง
0-6 เดือน
15
7-12 เดือน
20
1-3 ปี
20
4-8 ปี
30
ผู้ชาย
9-13 ปี
40
14-มากกว่า 70 ปี
55
ผู้หญิง
9-13 ปี
40
14-มากกว่า 70 ปี
55
หญิงตั้งครรภ์
14-50 ปี
60
หญิงให้นมบุตร
14-50 ปี
70

            

ซีลีเนียมมีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ซีลีเนียมมีประโยชน์และโทษ คือ

ก. ประโยชน์ หรือ หน้าที่ของซีลีเนียม คือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสสระ ช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ที่เสียหายสึกหรอจากการใช้พลังงานของร่างกาย, ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ของกล้ามเนื้อหัวใจ, ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค, และร่วมกับเกลือแร่ไอโอดีนในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน

ดั้งนั้น ถ้าร่างกายขาดทั้งซีลีเนียมและไอโอดีน มักก่อให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนอย่างรุนแรง ซึ่งเมื่อพบในทารกในครรภ์จะเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Cretinism) ส่งผลให้ไม่เจริญเติบโต แคระ และมีสติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์

ข. โทษ/ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของซีลีเนียม เกิดจากการกินอาหารที่มีซีลีเนียมสูงอย่างต่อเนื่อง หรือกินซีลีเนียมเสริมอาหารในปริมาณสูงต่อเนื่อง โดยผลข้างเคียงที่พบได้ คือ

  • อ่อนเพลีย
  • ผมร่วง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผื่นผิวหนังอักเสบ
  • เล็บ และฟัน มีลักษณะผิดปกติ
  • ชาตามร่างกายและปลายมือ ปลายเท้าจากเส้นประสาทอักเสบ
  • ซึมเศร้า
  • สับสน
  • หายใจมีกลิ่นกระเทียม (กลิ่นของซีลีเนียมที่ร่างกายกำจัดออกทางลมหายใจ)
  • อาจมีตับและไตทำงานผิดปกติ
  • และถ้าได้รับในปริมาณสูงมากๆ อาจมีไขสันหลังอักเสบ เป็นอัมพาตได้
  • นอกจากนั้น การบริโภคในปริมาณสูงต่อเนื่องขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงไม่ควรกินซีลีเนียมเสริมอาหารโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

ภาวะขาดซีลีเนียมมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ซีลีเนียมเป็นธาตุอาหารสำคัญ แต่ร่างกายต้องการเพียงในปริมาณเล็กน้อยเป็นไมโครกรัมต่อวัน ดังนั้นโดยทั่วไป จึงไม่พบภาวะขาดซีลีเนียม

อย่างไรก็ตาม พบสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดซีลีเนียมได้ในกรณีของ การขาดซีลีเนียมในอาหาร , และจากลำไส้ดูดซึมซีลีเนียมได้น้อยลง

ก. การขาดซีลีเนียมในอาหาร: ดังได้กล่าวแล้วในบทนำ แหล่งสำคัญของซีลีเนียม คือ ดิน ซึ่งจะมีซีลีเนียมแตกต่างกันในแต่ละภูมิประเทศ ซึ่งส่งผลให้ พืช และเนื้อสัตว์จากถิ่นนั้นๆมีปริมาณซีลีเนียมต่ำ เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังอาจพบได้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารได้ ต้องได้อาหารทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมักขาดซีลีเนียมถ้าไม่ได้รับการเสริมอาหารด้วยซีลีเนียม

ข. จากลำไส้ดูดซึมซีลีเนียมได้ลดลง: ซึ่งมักเกิดร่วมกับการขาด วิตามิน เกลือแร่ อื่นๆจากโรคเรื้อรังของลำไส้เล็ก เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือลำไส้เล็กอักเสบเรื้อรัง หรือในผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก

ภาวะขาดซีลีเนียมมีอาการอย่างไร?

อาการจากภาวะขาดซีลีเนียม ที่สำคัญ คือ

  • ปวดกล้ามเนื้อ และ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • อาการทางหัวใจจากกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะหัวใจวาย ที่เรียกว่า ‘โรค Keshan disease’ ทั้งนี้พบเกิดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือในเด็กที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่มีซีลีเนียมในดินต่ำ
  • กระดูกและข้ออักเสบ ที่พบได้ตั้งแต่เป็นเด็ก เรียกว่า ‘โรค Kaschin-beck disease’
  • ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และอาการมักรุนแรงเมื่อติดเชื้อไวรัส
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งถ้าเกิดกับทารกในครรภ์จะเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Cretinism)

แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดซีลีเนียมได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยภาวะขาดซีลีเนียมได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ถิ่นที่อยู่อาศัย โรคประจำตัวต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย
  • บางครั้งอาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด ดูปริมาณซีลีเนียมในเลือด
    • การตรวจปัสสาวะ24ชั่วโมง ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาค่าซีลีเนียมที่ร่างกายขับออกทางปัสสาวะ
    • การตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อบางชนิด เช่น เล็บ หรือ ผม เพื่อตรวจหาปริมาณซีลีเนียมในร่างกาย

รักษาภาวะขาดซีลีเนียมอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะขาดซีลีเนียม คือ

ก. การให้ซีลีเนียมเสริมอาหาร: ทั่วไปมักโดยการกินซีลีเนียมเสริมอาหาร และการเพิ่มอาหารที่มีซีลีเนียมสูงในทุกมื้ออาหาร

ข. การรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

ค. ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น การรักษาภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น

ภาวะขาดซีลีเนียมรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ภาวะขาดซีลีเนียม มักเป็นภาวะเรื้อรัง จึงมักรุนแรงโดยเฉพาะเมื่อก่อให้เกิดโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ และภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด

ทั้งนี้ ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการขาดซีลีเนียม ก็คือ โรคการเกิดโรคต่างๆดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ

    • การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดซีลีเนียมด้วยการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน และ
    • เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆที่ดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นใน 3-7 วัน ควรพบแพทย์เสมอ

ส่วนเมื่อป่วยด้วยภาวะขาดซีลีเนียม การดูแลตนเอง ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • กินอาหารมีซีลีเนียมสูงในทุกมื้ออาหาร
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรืออาการต่างๆเลวลง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
    • กังวลในอาการ

ป้องกันภาวะขาดซีลีเนียมอย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะขาดซีลีเนียม ได้เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการดูแลตนเองฯ’ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  • เมื่อรู้ว่าต้องไปอยู่ในถิ่นที่มีซีลีเนียมในดินต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องการเสริมอาหารด้วยซีลีเนียม

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  2. Fan, A., and Kizer. K. (1990). Selenium: nutrition,toxicologic,and clinical aspects. West J Med. 153,160-167.
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK482260/ [2020,March 28]
  4. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Selenium-HealthProfessional/ [2020,March 28]
  5. http://www.fao.org/3/Y2809E/y2809e0l.htm [2020,March 28]
  6. https://www.exrx.net/Nutrition/Antioxidants/Selenium [2020,March 28]
  7. http://www1.paho.org/English/CFNI/NyamnewsSept1-205.pdf [2020,March 28]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Selenium_deficiency [2020,March 28]