ฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 เมษายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ฟีโนไฟเบรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟีโนไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟีโนไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟีโนไฟเบรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟีโนไฟเบรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไฟเบรตอย่างไร?
- ฟีโนไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟีโนไฟเบรตอย่างไร?
- ฟีโนไฟเบรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไฟเบรต (Fibrate)
- โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- โรคผิวหนังเกล็ดปลา โรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด (Ichthyosis vulgaris)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ผิวแห้ง (Dry skin)
บทนำ
ยาฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate) เป็นยาในกลุ่มไฟเบรต (Fibrate) มีโครงสร้างใกล้เคียงกับกรด ฟีโนไฟบริก (Fenofibric acid, กรดที่ทำงานช่วยลดไขมันในเลือด) ทางคลินิกใช้เป็นยาลดไขมันคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
ยาฟีโนไฟเบรตถูกนำมาใช้รักษาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) และเป็นที่แพร่หลายมาจน ถึงปัจจุบันตัวยาฟีโนไฟเบรตสามารถลดไขมันในเลือดชนิดแอลดีแอล (LDL-cholesterol) วีแอลดีแอล (VLDL-cholesterol) รวมถึงไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และช่วยเพิ่มระดับของไขมันที่ดีอย่างเฮชดีแอล (HDL-cholesterol) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน
หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ยาฟีโนไฟเบรตจะเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 99% และต้องใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
การใช้ยาฟีโนไฟเบรตกับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปเช่น
- แพทย์จะไม่ใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยทางคลินิกมารับรองการใช้ยานี้
- นอกจากนี้แพทย์ยังต้องพิจารณาประวัติสุขภาพของผู้ป่วยร่วมด้วยอาทิ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ในขั้นรุนแรง โรคของถุงน้ำดี ก็เข้าข่ายที่ไม่น่าใช้ยาฟีโนไฟเบรต หรือการจะใช้ยากับผู้ป่วยโรคเบา หวาน โรคหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์ และผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยตับอ่อนอักเสบ ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากก่อนที่จะใช้ยานี้
ทั้งนี้การใช้ยาฟีโนไฟเบรตให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดยังต้องอาศัยการรับประทานยานี้อย่างถูกต้อง โดยรับประทานพร้อมอาหารเพื่อช่วยการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น และต้องไม่ปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง กรณีที่ผู้ป่วยมียาอื่นรับประทานอยู่ก่อนเช่น Cholestyramine, Colesevelam (ยาลดไขมันในเลือด), Colestipol จะต้องรับประทานยาเหล่านี้ไปแล้ว 4 ชั่วโมงจึงจะรับประทานยาฟีโนไฟเบรต หรือไม่ให้รับประทานยาฟีโนไฟเบรตน้อยกว่า 1 ชั่วโมงก่อนที่จะรับประทานยาอื่นๆดังกล่าว
นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกาย และการพักผ่อนอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลล้วนแต่เป็นข้อสนับสนุนประสิทธิภาพของยาฟีโนไฟเบรตได้เป็นอย่างดี
ประการสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ผู้ป่วยต้องมาตรวจระดับไขมันในเลือดตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ผลการตรวจจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการใช้ยาว่ามีประสิทธิภาพจริง อาจต้องใช้ยาต่อเนื่องอีกสักระยะหรือสามารถหยุดการใช้ยาได้แล้วหรือต้องปรับแนวทางการรักษา
ยาฟีโนไฟเบรตมีผลข้างเคียงบางประการที่ต้องเฝ้าระวัง ด้วยตัวยาสามารถส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อลายสลายและมีอาการไตวายติดตามมา เราอาจจะสังเกตผลข้างเคียงดังกล่าวจากผู้ป่วยรู้สึกปวดกล้ามเนื้ออย่างไม่มีเหตุผลหรือกดบริเวณกล้ามเนื้อแล้วมีอาการเจ็บ เหนื่อยง่าย ปัสสาวะมีสีคล้ำจัด เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
ยาฟีโนไฟเบรตเป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยและจัดเป็นยาอันตราย การใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยเหมาะสมจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาฟีโนไฟเบรตได้ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนอีกทั้งมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป
ฟีโนไฟเบรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟีโนไฟเบรตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เป็นยาลดไขมันในเลือดทั้งไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL) วีแอลดีแอล (VLDL) ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดีอย่างเฮชดีแอล(HDL)
ฟีโนไฟเบรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาฟีโนไฟเบรต มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Lipoprotein lipase (เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการทำงานของไขมันในร่างกาย) ส่งผลให้เกิดการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) และส่งเสริมการเผาผลาญไขมันคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอลต(LDL) วีแอลดีแอล(VLDL) นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างไขมันดี เช่น เฮชดีแอล(HDL)เพิ่มมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการลดไขมันในเลือดตามสรรพคุณ
ฟีโนไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีโนไฟเบรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 145 และ 160 มิลลิ กรัม/เม็ด สำหรับประเทศไทยรูปแบบยานี้ที่ระบุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 100, 200 และ 300 มิลลิกรัม/แคปซูล
ฟีโนไฟเบรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟีโนไฟเบรตมีขนาดรับประทานเช่น
ก. สำหรับภาวะไขมันแอลดีแอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมีระดับสูง (Hyperchole sterolaemia type IIa + Hypertriglyceridaemia type IV):
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร
ข. สำหรับภาวะไขมันแอลดีแอลสูง (Hypercholesterolaemia type IIa):
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป : รับประทาน 145 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร
ค. สำหรับภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง (Hypertriglyceridaemia type IV):
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป : รับประทาน 145 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร
ง. สำหรับภาวะไขมันแอลดีแอล วีแอลดีแอลและไตรกลีเซอไรด์สูง (Hyperlipidemia type IIb and type III):
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18ปี ขึ้นไป: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้งพร้อมอาหาร
*อนึ่ง
- เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ขนาดรับประทานของเด็กให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ปกติไม่แนะนำการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟีโนไฟเบรต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนไฟเบรตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟีโนไฟเบรตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาฟีโนไฟเบรตตรงเวลา
ฟีโนไฟเบรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีโนไฟเบตรสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง มีเอนไซม์การทำงานของตับ เช่น ทรานซามิเนส (Transaminase) ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อลายสลาย
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีภาวะท้องอืด อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้อง ผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย เกิดกลุ่มอาการลูปัส (Lupus-like syndrome) มีภาวะศีรษะล้าน ผิวแห้ง ผิวหนังเกล็ดปลา
- ผลต่อการทำงานของไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์ทางเพศถดถอย วิงเวียน วิตกกังวล และรู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะไซนัสอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ไอ
- ผลต่อตา: เช่น ระคายเคืองตา ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับฮีโมโกลบินลดลง เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวต่ำ อาจเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรง (Thrombocytopenia) และเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง (Agranulocytosis)
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะเต้านมโตโดยเฉพาะในเพศชาย
มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไฟเบรตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนไฟเบรตเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟีโนไฟเบรต
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับโรคไตในระยะรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคถุงน้ำดี ผู้ป่วยด้วยโรคตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลัน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามซื้อยานี้มารับประทานเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ระวังการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายที่อาจสังเกตจากมีอาการปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย กดตามร่างกายแล้วมีอาการปวด
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานจะทำให้ระดับครีเอตินิน (Creatinine, สารที่เกี่ยวข้องกับไตและกล้ามเนื้อ) ในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นระหว่างการใช้ยานี้ต้องมีการตรวจสอบระดับครีเอตินินในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ตามแพทย์สั่ง
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ใบหน้าบวม ผื่นขึ้นตามตัว จากนั้นรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดและเพื่อตรวจระดับไขมันในเลือดว่าเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีโนไฟเบรตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ฟีโนไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีโนไฟเบรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับยา Glimepiride สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำมาก สังเกตจากมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน คลื่นไส้ หิวอาหาร ร่างกายมีภาวะสั่น อ่อนแรง เหงื่อออกมาก เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับยาลดไขมันเช่น Simvastatin เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายและเป็นเหตุให้ไตเสียหาย/ไตวายติดตามมาจนทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับยา Warfarin สามารถทำให้มีภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาฟีโนไฟเบรตร่วมกับ Ciclosporin/Cyclosporine อาจทำให้ความเข้มข้นของ Ciclo sporin ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลให้เป็นพิษกับไตจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
ควรเก็บรักษาฟีโนไฟเบรตอย่างไร?
ควรเก็บยาฟีโนไฟเบรตที่อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้ พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ฟีโนไฟเบรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีโนไฟเบรตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Adfen-160 (แอดเฟน) | Meditab Specialities |
Colestrim (โคเลสทริม) | Mega Lifesciences |
Febrate (ฟีเบรท) | Umeda |
Fenomed-200 (ฟีโนเมด-200) | Mediorals |
Fenox (ฟีนอค) | Abbott |
Fibril (ไฟบริล) | Berlin Pharm |
Lexemin (เลซีมิน) | Unison |
Lipanthyl (ไลแพนทิล) | Abbott |
Lipothin 200 (ไลโปทิน) | T. O. Chemicals |
Stanlip (สแตนลิป) | Ranbaxy |
Supralip NT145 (ซุปราลิบ เอ็นที 145) | Abbott |
Trilipix (ไตรไลปิค) | Abbott |
บรรณานุกรม
- http://www.drugs.com/fenofibrate.html [2016,March26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fenofibrate [2016,March26]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/48#item-8441 [2016,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Fenox/?type=brief [2016,March26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperlipidemia [2016,March26]
- https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Fenofibrate [2016,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Adfen-160/?type=brief [2016,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Colestrim/?type=brief [2016,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Supralip%20NT%20145/?type=full#Indications [2016,March26]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lexemin/?type=BRIEF [2016,March26]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/fenofibrate-i[2016,March26]ndex.html?filter=3&generic_only= [2016,March26]
- http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21704241 [2016,March26]
- http://www.drugs.com/monograph/fenofibric-acid-fenofibrate.html [2016,March26]