ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ฟีโนไทอาซีน (Phenothiazine) เป็นยาที่นำมาใช้รักษาความผิดปกติของจิตใจ อารมณ์ ซึ่งบางคนมีอาการถึงขั้นรุนแรง นอกจากนี้ยังนำมารักษาอาการ คลื่นไส้ อาเจียน อาการสะอึก อีกด้วย

ยาฟีโนไทอาซีน มีอนุพันธุ์หรือจำแนกเป็นกลุ่มย่อยๆได้อีกหลายตัว เช่น Chlorpromazine, Fluphenazine, Levomepromazine, Mesoridazine, Methotrimeprazine, Perphenazine, Promazine, Prochlorperazine, Triflupromazine, Trifluoperazine, และ Thioridazine การใช้ยากลุ่มฟีโนไทอาซีนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ (ผลข้าง เคียง/อาการข้างเคียง) ที่เด่นๆติดตามมาหลังจากหยุดการใช้ยาอยู่อย่างหนึ่ง คือ การควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า หรือการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติไป ก่อนการใช้ยาแพทย์ควรต้องแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดตามมาหลังการใช้ยาทุกครั้ง จะเป็นการดีถ้าผู้ป่วยแจ้งแพทย์ถึงโรคที่ตนเองเป็นอยู่ทั้งหมดในขณะเข้ารับการรักษา เพราะบางอาการของโรคเมื่อมีการใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมด้วย จะก่อให้เกิดผลเสียและทำให้อาการแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างโรคเหล่านั้น เช่น มีแผลในกระเพาะอาหาร ป่วยโรคตับ โรคไต โรคปอด เป็นต้น ฟีโนไทอาซีน อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้อีกมากมาย ทั้งมีข้อห้ามใช้และเงื่อนไขของการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นขนาดและวิธีการการบริหารยา/การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น

ฟีโนไทอาซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟีโนไทอาซีน

ยาฟีโนไทอาซีนมีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาอาการทางจิต ความผิดปกติทางอารมณ์
  • รักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียน (เช่น จากการให้ยาเคมีบำบัด) และอาการสะอึก
  • ทำให้ผู้ป่วยสงบก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • รักษาอาการโรค Porphyria (โรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่อาจก่ออาการทางระบบประสาทได้ เช่น มีบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง) หรือใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อรักษาอาการโรคบาดทะยัก เพื่อช่วยให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ

ฟีโนไทอาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟีโนไทอาซีนมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งหน่วยรับ/ตัวรับในสมองที่เรียกว่า โพสไซแน็ปติก มีโซลิมบิก โดปามิเนอจิก รีเซ็ปเตอร์ (Postsynaptic mesolimbic dopaminergic recep tors) อีกทั้งยังกดการหลั่งไฮโปทาลามิก และไฮโปไฟเซียล ฮอร์โมน (Hypothalamic and hypophyseal hormones: ฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ รวมถึงด้านอารมณ์ /จิตใจ) ดัวยกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ฟีโนไทอาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีโนไทอาซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • รูปแบบยาเม็ดขนาดความแรง 2, 4, 5, 8 และ 16 มิลลิกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาฉีดขนาดความแรง 25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 25 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร

ฟีโนไทอาซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟีโนไทอาซีนมีขนาดรับประทานดังนี้

ก. สำหรับรักษาอาการทางจิต ความผิดปกติทางอารมณ์:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 10 - 25 มิลลิกรัม วันละ 2 - 4 ครั้ง
  • เด็ก: คำนวณจากน้ำหนักตัว 0.55 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง

ข. สำหรับอาการคลื่นไส้ อาเจียน:

  • ผู้ใหญ่และวัยรุ่น: รับประทาน 10 - 25 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
  • เด็กอายุ 6 เดือน - 12 ปี: คำนวณจากน้ำหนักตัว 0.55 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุกๆ 4 - 6 ชั่วโมง

ค. สำหรับสงบประสาทก่อนรับการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัม 2 - 3 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  • เด็ก: คำนวณจากน้ำหนักตัว 0.55 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 2 - 3 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

ง. สำหรับรักษาอาการสะอึก:

  • ผู้ใหญ่และวัยรุ่น: รับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง หากอาการสะอึกไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน ต้องเปลี่ยนเป็นการใช้ยาฉีดในการรักษาแทน
  • เด็ก: ขนาดยาและระยะเวลาการใช้ยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก และการใช้ยานี้ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น

อนึ่ง: เพื่อลดอาการระคายเคืองจากยานี้ต่อกระเพาะอาหาร ควรกินยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีโนไทอาซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนไทอาซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟีโนไทอาซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ฟีโนไทอาซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีโนไทอาซีนอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการหยุดยานี้ การควบคุมปาก ลิ้น แก้ม กราม ร่างกายรวมถึง แขน ขา ไม่เป็นปกติ
  • มีไข้
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • เหงื่อออกมาก
  • กลืนลำบาก
  • พูดติดขัด
  • ปัสสาวะอาจมีสีคล้ำ เป็นต้น

ซึ่ง ผลข้างเคียงที่เกิดจากการหยุดใช้ยานี้ ต้องให้ร่างกายค่อยๆปรับตัว โดยระยะเวลาของอาการจะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการใช้ยาว่านานมากน้อยเพียงใด

มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไทอาซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ฟีโนไทอาซีนดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา ฟีโนไทอาซีน
  • ห้ามหยุดยาเองก่อนได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาลดกรด ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของฟีโนไทอาซีนด้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรรับประทานในเวลาที่ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
  • ก่อนเข้ารับการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น ผ่าตัด หรือ ถอนฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ ทราบว่าใช้ยากลุ่มฟีโนไทอาซีนอยู่หรือไม่ด้วย การได้รับยาฟีโนไทอาซีนเพิ่มจากเดิมสามารถกดการทำงานในสมองของผู้ป่วยหรือทำให้ความดันโลหิตต่ำ
  • ระหว่างการใช้ยานี้ไม่ควรทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ด้วยในผู้ป่วยบางรายอาจมีอา การง่วงนอนจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  • ยานี้ก่อให้เกิดภาวะผิวหนังไว/ตอบสนองมากเกินปกติต่อแสงแดด ดังนั้นระหว่างการใช้ยาควรเลี่ยงการออกไปสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง เพราะผิวหนังอาจไหม้ได้
  • การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ๋หรือให้นมบุตร ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมฟีโนไทอาซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟีโนไทอาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟีโนไทอาซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจก่อให้เกิดภาวะกดการทำงานของสมองจนทำให้ถึงขั้นหมดสติ จึงห้ามการใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
  • การใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น Guanethidine อาจทำให้ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ฟีโนไทอาซีนร่วมกับยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ เช่น Metoclopramide สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของฟีโนไทอาซีนด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาฟีโนไทอาซีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาฟีโนไทอาซีน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดดและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ฟีโนไทอาซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีโนไทอาซีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ammipam (แอมมิปาม) MacroPhar
Chlopazine (คลอพาซีน) Condrugs
Chlorpromazine GPO (คลอโพรมาซีน จีพีโอ) GPO
Chlorpromed (คลอโพรเมด) Medifive
Matcine (แมทซีน) Atlantic Lab
Plegomazine (เพลโกมาซีน) Chew Brothers
Pogetol (โพจีทอล) Pharmasant Lab
Prozine (โพรซีน) Utopian
Deca (เดกา) Atlantic Lab
Fluzine-P (ฟลูซีน-พี) P P Lab
Pharnazine (ฟาร์นาซีน) Pharmaland
Conazine (โคนาซีน) Condrugs
Pernamed (เพอร์นาเมด) Medifive
Pernazine (เพอร์นาซีน) Atlantic Lab
Perzine-P (เพอร์ซีน-พี) P P Lab
Porazine (โพราซีน) Pharmasant Lab
Prochlorperazine Sriprasit Pharma (โพรคลอเพอราซีน ศรีประสิทธิ์ ฟาร์มา) Sriprasit Pharma
Proclozine (โพรโคลซีน) Pharmasant Lab
Stemetil (สเตเมทิล) sanofi-aventis
Dazine-P (ดาซีน-พี) P P Lab
Ridazine (ไรดาซีน) Atlantic Lab
Thiomed (ไทโอเมด) Medifive
Thiosia (ไทโอเซีย) Asian Pharm
Psyrazine (ไซราซีน) Condrugs
Triflumed (ไทรฟลูเมด) Medifive
Triozine (ไทรโอซีน) Pharmasant Lab

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Phenothiazine [2020,Jan4]
2 http://www.drugs.com/cons/phenothiazine-oral-parenteral-rectal.html [2020,Jan4]
3 http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/archives/fdaDrugInfo.cfm?archiveid=8111 [2020,Jan4]
4 http://ar.iiarjournals.org/content/37/11/5983.full [2020,Jan4]