ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 มิถุนายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาฟีโนบาร์บิทัลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาฟีโนบาร์บิทัลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาฟีโนบาร์บิทัลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาฟีโนบาร์บิทัลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาฟีโนบาร์บิทัลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลอย่างไร?
- ยาฟีโนบาร์บิทัลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฟีโนบาร์บิทัลอย่างไร?
- ยาฟีโนบาร์บิทัลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคลมชัก (Epilepsy)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
บทนำ
ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 4 คือ ประเภทอาจทำให้เกิดอาการเสพติดยาได้อย่างอ่อนๆ แต่ยังจัดเป็นยามีประโยชน์
ทางการแพทย์นำยาฟีโนบาร์บิทัลมารักษาและป้องกันโรคลมชัก ช่วยสงบประสาท (ยาคลายเครียด) ใช้เป็นยานอนหลับ องค์การอนามัยโลกได้รับรองให้ฟีโนบาร์บิทัลควรบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา
ผลิตภัณฑ์ยาฟีโนบาร์บิทัลถูกผลิตในรูปแบบของ ยาเม็ด ยาน้ำ และยาฉีด ทั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นความสะดวกของแพทย์ในการใช้ยากับสูตรตำรับที่เหมาะสม หากจะมองในด้านประสิทธิภาพ ยานี้ไม่ได้มีข้อด้อยกว่ายาป้องกันโรคลมชักตัวอื่น อย่างเช่น Phenytoin และ Carbamazepine
หลังจากผู้ป่วยได้รับยาฟีโนบาร์บิทัลเข้าสู่ร่างกาย พบว่ายาจะจับกับโปรตีนในกระแสเลือด 20 - 45% และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 53 - 118 ชั่วโมงในการกำจัดระดับยาในกระแสเลือดออก 50% (Half Life) โดยผ่านมา ทางปัสสาวะและอุจจาระ
ด้วยยาฟีโนบาร์บิทัลอาจมีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยเกิดการเสพติดจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเอง การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นรับประทาน เพราะนอกจากจะเกิดข้อผิดพลาดไม่ตรงกับอาการโรคแล้ว ยังจะก่อให้เกิดอันตรายอื่นๆ (ผลข้างเคียง /ผลไม่พึงประสงค์จากยา: อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์)จากยาติดตามมา
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาฟีโนบาร์บิทัล เช่น
- ใช้รักษาโรคลมชักทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลัน
- ใช้เป็นยานอนหลับ
- บรรเทา อาการวิตกกังวล และภาวะตึงเครียด (ยาคลายเครียด)
- ช่วยสงบประสาทของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด
อนึ่ง นอกจากนี้ ทางวงการสัตวแพทย์ยังใช้ยานี้รักษาอาการชักของสุนัขและแมวได้อีกด้วย
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยทำให้สารกาบา (GABA/ Gamma Aminobutyric acid: สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) ออกฤทธิ์ได้นาน และเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ด้วยกลไกเหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้ยารู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ รวมไปถึงฤทธิ์ในการบรรเทาความวิตกกังวลและอาการชักตามสรรพคุณของยา
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดขนาด 30, 32.5, 60, และ 65 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาน้ำขนาดบรรจุ 20 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. ผู้ใหญ่: เช่น
- ใช้เป็นยาสงบประสาท(ยาคลายเครียด): รับประทาน 30 - 120 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 - 3 ครั้ง
- ใช้เป็นยานอนหลับ: รับประทาน 100 - 320 มิลลิกรัม ก่อนนอน
- รักษาและป้องกันโรคลมชัก: รับประทาน 50 - 100 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง
ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น
- รับประทานโดยคำนวณการใช้ยา 1 - 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็ก 1 กิโลกรัม
ค. ในกรณีของยาฉีด: มักจะถูกนำมาใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการรับประทานยา หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ ซึ่งกรณีใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลในรูปแบบยาฉีด ต้อง เป็นการใช้ยาอย่างเคร่งครัดภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น
*อนึ่ง:
- ขนาดการรับประทานรวมถึงระยะเวลาในการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัล ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งแพทย์/เภสัชกรจะชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบถึงข้อปฏิบัติในการรับประทานยาอย่างเคร่ง ครัด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคลมชักไม่ให้ปรับขนาดการรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้อย่างกระทันหัน ด้วยจะก่อให้เกิดผลเสียและอันตรายติดตามมา
- *การได้รับยาฟีโนบาร์บิทัลเกินขนาด จะแสดงอาการซึมเศร้าออกมา การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ลำบาก ขาดสติ หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ ตัวเย็น และอาจเกิดภาวะ ปอดบวม ไตวายเฉียบพลัน และเกิดภาวะช็อกตามมา ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ หากพบเห็นอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีโนบาร์บิทัล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีโนบาร์บิทัลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟีโนบาร์บิทัล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีโนบาร์บิทัลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น
- ผลต่อระบบประสาท : เช่น รู้สึกสับสน หงุดหงิด ฝันร้าย นอนไม่หลับ วิตกกังวล วิงเวียน ประสาทหลอน
- ผลต่อระบบการหายใจ : เช่น หายใจแผ่วเบา ไปจนถึงหยุดหายใจ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร : เช่น มีอาการ คลื่นไส้-อาเจียน และท้องผูก
- ผลต่อผิวหนัง : เช่น อาจมีผื่นคัน
- ผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น: เช่น ปวดศีรษะ /ปวดหัว มีไข้ ตับทำงานผิดปกติ ภาวะโลหิตจางชนิด Megaloblastic anemia
- สำหรับเด็ก: อาจมีอาการที่เรียกว่า Hyperactivity คือ เด็กจะมีอาการลุกลี้ลุกลน ซนอยู่ไม่สุข
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาฟีโนบาร์บิทัล เช่น
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ยา ฟีโนบาร์บิทัล
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ ด้วยยาฟีโนบาร์บิทัลส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์มารดา โดยอาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด หรือการแท้งบุตรได้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคตับในระยะรุนแรง
- การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลไปนานๆอาจก่อให้เกิดภาวะดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าการใช้ยาไม่มีประสิทธิผล จนผู้ป่วยต้องการปรับขนาดการรับประทาน ซึ่งควรต้องให้แพทย์ทำความเข้า ใจกับผู้ป่วย และเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานหรือเปลี่ยนตัวยา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะช่องทางเดินหายใจอุดตัน
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ระหว่างการใช้ยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการควบคุมเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามหยุดการใช้ยานี้กระทันหันโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่รับประทานยาเพื่อป้องกันโรคลม ชัก เพราะอาจเกิดการกำเริบของโรคจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
- มีการทำวิจัยการใช้ยานี้อาจมีผลสัมพันธ์ต่อการเกิดเนื้องอกสมองในเด็ก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาฟีโนบาร์บิทัลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีโนบาร์บิทัล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ วิง เวียน ง่วงนอน มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาแก้ปวดบางตัว สามารถทำให้ตับทำงานหนัก ควรหลีก เลี่ยงการรับประทานร่วมกัน ยาแก้ปวดดังกล่าว เช่นยา Paracetamol
- การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะส่งผลให้ปริมาณยาต้านการแข็งตัวของเลือดในพลาสมา (Plasma) ลดต่ำลงจนอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้อยตามลงไป ยาต้านการแข็งตัวของเลือดดังกล่าว เช่นยา Dicumarol, Phenprocoumon, และ Warfarin หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์ผู้ตรวจรักษาอาจปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม
- การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว จะทำให้ร่างกายเร่งการขับออกของยาปฏิชีวนะนั้นๆ ทำให้ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะนั้นๆลดลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Doxycycline
- การใช้ยาฟีโนบาร์บิทัลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุม กำเนิดลดลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรต้องปรับระยะเวลาในการรับประทาน ไม่ให้ตรงกัน ยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าว เช่นยา Estradiol, Estrone, Progesterone
ควรเก็บรักษายาฟีโนบาร์บิทัลอย่างไร?
สามารถเก็บยาฟีโนบาร์บิทัล:
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาฟีโนบาร์บิทัลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีโนบาร์บิทัล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Belladonna Alkaloids w/ Phenobarbital (เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ ดับเบิ้ลยู/ฟีโนบาร์บิทัล) | Samakeephaesaj (Union Drug Lab) |
Elixir Phenobarb (อิลิเซอร์ ฟีโนบาร์บ) | Suphong Bhaesaj |
Neuramizone (นูรามิโซน) | Sriprasit Pharma |
Phenobarb (ฟีโนบาร์บ) | P P Lab |
Phenobarbital Acdhon (ฟีโนบาร์บิทัล แอ็คฮอน) | Acdhon |
Phenobarbital Atlantic (ฟีโนบาร์บิทัล แอทแลนติค) | Atlantic Lab |
Phenobarbital Chew Brothers (ฟีโนบาร์บิทัล ชิว บราเทอร์) | Chew Brothers |
Phenobarbitone GPO (ฟีโนบาร์บิโทน จีพีโอ) | GPO |
Phenobarbitone New Life Pharma (ฟีโนบาร์บิโทน นิว ไลฟ์ ฟาร์มา) | New Life Pharma |
Phenoco Elixir (ฟีโนโค อิลิเซอร์) | T.O. Chemicals |
Phenotal (ฟีโนทอล) | Asian Pharm |
บรรณานุกรม
1. http://www.drugs.com/cdi/phenobarbital.html [2020,June27]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fphenobarbital%2f [2020,June27]
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Phenobarbital [2020,June27]
4. http://www.rxlist.com/phenobarbital-drug.htm [2020,June27]