ฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) หรือ ไพริเดียม (Pyridium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 ตุลาคม 2564
- Tweet
- บทนำ:คือยาอะไร?
- ยาฟีนาโซไพริดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาฟีนาโซไพริดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาฟีนาโซไพริดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาฟีนาโซไพริดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาฟีนาโซไพริดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนาโซไพริดีนอย่างไร?
- ยาฟีนาโซไพริดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฟีนาโซไพริดีนอย่างไร?
- ยาฟีนาโซไพริดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
- ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
- ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia)
- ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ (Chronic non-bacterial prostatitis or Chronic prostatitis/Chronic pelvic pain syndrome)
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ (Bacterial prostatitis)
บทนำ:คือยาอะไร?
ฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) คือ ยาที่เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ลดอาการปวดระคายเคืองในช่องทางเดินปัสสาวะเมื่อมีการอักเสบ หรือ หลังทำหัตถการ เช่น ผ่าตัดช่องทางเดินปัสสาวะ แพทย์มักใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการปวดจากโรคระบบทางเดินปัสสาวะให้ทุเลาเบาบางอย่างรวดเร็ว
ตัวยาฟีนาโซไพริดีนไม่ได้รักษาอาการอักเสบหรืออาการบาดเจ็บของร่างกาย แต่บรรเทาอาการปวดเท่านั้น ยานี้มักจะใช้แต่เพียง 1 - 2 วันแรก เมื่ออาการดีขึ้น ผู้ป่วยก็ควรต้องหยุดใช้ยา ตลาดยาทั้งต่างประเทศและในประเทศมักจะคุ้นหูกับชื่อการค้าของยานี้ว่า ‘ไพริเดียม (Pyridium)’
สำหรับการศึกษาเรื่องการกระจายตัวและการขับเคลื่อนของยาในร่างกายพบว่า ฟีนาโซไพ ริดีนจะออกฤทธิ์ที่ท่อปัสสาวะโดยตรงและถูกขับออกทางปัสสาวะ
ฟีนาโซไพริดีนจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย มีข้อกำหนด ข้อควรระวัง และความเหมาะสมในการใช้ยาของคนไข้แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เท่านั้น
ยาฟีนาโซไพริดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาฟีนาโซไพริดีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้รักษาและบรรเทาอาการปวดของ
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
- ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ
- กรวยไตอักเสบ
- และท่อปัสสาวะอักเสบ
ยาฟีนาโซไพริดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ฟีนาโซไพริดีนจะออกฤทธิ์ยับยั้งอาการปวดโดยตรงที่บริเวณผนังของท่อปัสสาวะ ทำให้อาการปวดทุเลาและดีขึ้น
ยาฟีนาโซไพริดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟีนาโซไพริดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- รูปแบบยาเดี่ยว ชนิดเม็ด ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาผสม ชนิดเม็ด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาฟีนาโซไพริดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟีนาโซไพริดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หากใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ ระยะเวลาการใช้ยานี้ได้สูงสุดไม่ควรเกิน 2 วัน
ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เช่น รับประทาน 12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งการรับประทานออกเป็น 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 2 วัน
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้ร่วมกับอาหารหรือหลังอาหาร
- ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดรับประทานยานี้เอง ควรใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟีนาโซไพริดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฟีนาโซไพริดีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟีนาโซไพริดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาฟีนาโซไพริดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟีนาโซไพริดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ปวดหัว
- มีผื่นคัน
- เป็นพิษกับตับ/ ตับอักเสบ
- เม็ดเลือดแดงแตกซึ่งจะตามมาด้วยอาการโรคซีด สังเกตได้จากสีปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสีน้ำปลา
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนาโซไพริดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนาโซไพริดีน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาฟีนาโซไพริดีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานเกินไป
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรค G6PD (ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี)
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบว่า ผิวหนังมีสีผิดปกติไป เช่น ซีด - ขาว หรือเทาคล้ำ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีนาโซไพริดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฟีนาโซไพริดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟีนาโซไพริดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟีนาโซไพริดีนร่วมกับยาที่ใช้รักษาพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide) เช่นยาโซเดียมไนไทรต์ (Sodium nitrite) สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงลดความสามารถในการจับกับออกซิเจน (ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด/ Methemoglobinemia) ซึ่งจะทำให้ออกซิเจนในเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง อาจพบอาการที่พัฒนาต่อไปอีก เช่น ผิวหนังมีสีออกเทาคล้ำรวมไปถึงปากและโคนเล็บ คลื่นไส้ ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ชีพจรเต้นเร็ว สับสน และวิตกกังวล จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาฟีนาโซไพริดีนร่วมกับยารักษาโรคมะเร็ง เช่นยา Methotrexate สามารถสร้างความเสียหายให้กับตับของผู้ป่วยได้ โดยสังเกตจากอาการมี ไข้ หนาวสั่น ปวดบวมตามข้อกระดูก มีผื่นคัน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ปัสสาวะมีสีคล้ำ/สีน้ำปลา หรือสีเหลืองเข็ม ตาและผิวหนังมีสีเหลืองขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาฟีนาโซไพริดีนอย่างไร?
สามารถเก็บยาฟีนาโซไพริดีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาฟีนาโซไพริดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟีนาโซไพริดีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anazo (เอนาโซ) | Medicine Products |
Phenazopyridine T Man (ฟีนาโซไพริดีน ทีแมน) | T. Man Pharma |
Phendiridine (เฟนดิริดีน) | T P Drug |
Pyrizole (ไพริโซล) | BJ Benjaosoth |
Sumedium (ซูมิเดียม) | Milano |
Uzone-T (ยูโซน-ที) | Utopian |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Phenazopyridine [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/phenazopyridine?mtype=generic [2021,Oct2]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=phenazopyridine [2021,Oct2]
- https://www.drugs.com/mtm/phenazopyridine.html[2021,Oct2]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682231.html#storage-conditions [2021,Oct2]