ฟีนอล (Phenol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

ฟีนอล (Phenol) คือ สารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ในทางคลินิกได้นำมาผลิตเป็นยาประเภทสเปรย์พ่นเพื่อรักษาแผลในช่องปากและอาการเจ็บคอ ซึ่งการสัมผัสยาฟีนอลเข้มข้นกับผิวหนังโดยตรงอาจเป็นเหตุให้ผิวไหม้ได้

ฟีนอล เป็นสารประกอบอินทรีย์กลุ่มอะโรมาติก (Aromatic organic compound) มีลักษณะเป็นผลึกแข็งสีขาว ซึ่งยาฟีนอลจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากกระบวนการกลั่นปิโตรเลียม และในทางคลินิก ถึงแม้สูตรตำรับยาจะผสมและเจือจางยาฟีนอลได้อย่างเหมาะสมแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยก็อาจมีอาการระคายเคืองภายในช่องปากได้บ้างเล็กน้อย

ยาฟีนอลมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการชาและบรรเทาปวดก็จริง แต่การจะเลือกใช้ยานี้ต้องคำนึงถึงผู้ป่วยว่า เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้รวมถึงมีประวัติแพ้ยาชาอย่างเช่นยา Benzocaine หรือไม่ และถ้ามีความประสงค์จะใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา แพทย์จะเพิ่มความระมัดระวังของการใช้ยานี้มากขึ้น

วิธีการใช้ยาฟีนอลสเปรย์ได้อย่างถูกต้องนั้นให้สเปรย์ยาในบริเวณที่มีอาการอักเสบ-ระคาย เคืองและทิ้งไว้ประมาณ 15 วินาทีเป็นอย่างน้อยแล้วค่อยบ้วนทิ้ง กรณีใช้ยาฟีนอลแล้วมีอาการเจ็บคอมากขึ้นพร้อมกับมี ไข้สูง ปวดหัว คลื่นไส้หรืออาเจียน ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน และไม่ควรพ่นสเปรย์ยาเป็นปริมาณมากเกินกว่าที่แพทย์กำหนด การใช้ยานี้กับแผลในลำคอไม่ควรเกิน 2 วันและสำหรับแผลในปากไม่ควรเกิน 7 วัน

ยาสเปรย์ฟีนอล ไม่ควรนำมาใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีด้วยยังไม่ข้อมูลทางคลินิกเพียง พอ

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยหลังใช้ยาฟีนอลจะเป็นอาการชาที่กระพุ้งแก้ม-ลิ้นหรือทั้งปาก ปกติหลังการใช้ยาและทิ้งช่วงเวลาสักครู่อาการข้างเคียงดังกล่าวจะค่อยๆดีขึ้นเองโดยไม่ต้องใช้ยาอื่นใดมาช่วยรักษา

ถึงแม้ยาฟีนอลจะเป็นยาใช้ภายนอกก็จริงแต่การใช้ยาตามคำสั่งแพทย์จึงจะก่อให้เกิดประ สิทธิภาพในการรักษาอีกทั้งเหมาะสมและปลอดภัยกับผู้บริโภคมากที่สุด

ฟีนอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟีนอล

ยาฟีนอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษา: เช่น

  • บรรเทาอาการ เจ็บคอ/คออักเสบ เจ็บช่องปากอันเนื่องจากมีแผลอักเสบเกิดขึ้น เช่น แผลร้อนใน

ฟีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟีนอลมีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียช่วยทำให้รู้สึกชาในปากและลำคอ ซึ่งจากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ฟีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาสเปรย์ ขนาดความเข้มข้น 0.5%

ฟีนอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟีนอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป: พ่นสเปรย์ 1 ครั้งในปากหรือลำคอที่อักเสบหรือเป็นแผล ทิ้งไว้ประมาณ 15 วินาทีเป็นอย่างต่ำแล้วบ้วนยาทิ้ง ทั้งนี้สามารถพ่นยาได้ทุกๆ 2 ชั่วโมงหรือตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี: การใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปียังไม่ได้มีการศึกษาทางคลีนิก การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีไป

* อนึ่ง: การใช้ยานี้ควรอยู่ในช่วง 2 - 7 วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟีนอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟีนอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นสเปรย์ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมพ่นยาฟีนอล สามารถพ่นสเปรย์ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการพ่นยาในครั้งถัดถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ฟีนอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟีนอลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • หายใจลำบาก
  • มีไข้
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้
  • มีผื่นคัน
  • บวมบริเวณที่ใช้ยา
  • อาเจียน
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวด-บวม-แดง
    • หรือเกิดอาการระคายเคืองในบริเวณที่ใช้ยาฟีนอลมากยิ่งขึ้น
    • ***ซึ่งถ้าเกิดอาการเหล่านี้ให้หยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบด่วนกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

มีข้อควรระวังการใช้ฟีนอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟีนอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หากพบอาการแพ้ยานี้ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยา บาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน
  • หากใช้ยานี้ 7 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กเล็ก(นิยามคำว่าเด็ก)โดยที่ไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟีนอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟีนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาฟีนอลเป็นยาใช้ภายนอกจึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาชนิดรับ ประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาฟีนอลอย่างไร?

เก็บยาฟีนอล:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟีนอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟีนอล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Chloraseptic (คลอราเซพติก) Prestige Brands Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Phenol [2021,Sept25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Chloraseptic [2021,Sept25]
  3. https://www.drugs.com/cons/phenol-oromucosal.html [2021,Sept25]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/phenol?mtype=generic [2021,Sept25]