ฟันเสียชีวิต (ตอนที่ 1)

ฟันเสียชีวิต-1

      

‘ฟัน’ อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร หากเกิดอันตรายกระทบกระแทกกับฟันหรือฟันผุอย่างรุนแรง ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อีกต่อไป เพราะอาจส่งผลให้ฟันสูญเสียเซลล์ต่างๆ ในการทำหน้าที่ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้จักภาวะที่เรียกว่า ‘ฟันตาย’

ทันตแพทย์หญิงวาสพรรณ วัฒนาสุวรรณ กล่าวว่า ฟันตาย (Non-Vital Discoloration) คือ ภาวะอันตรายในช่องปาก เนื่องจากเนื้อเยื่อฟันได้รับความเสียหายจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาเลี้ยงได้ หรือฟันที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงในโพรงประสาทฟัน ทำให้เซลล์ต่างๆ ในฟันตายไปในที่สุด

อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบริเวณฟัน ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฉีกขาด ฟันผุ ฟันสึก ฟันร้าว ฟันแตก จนถึงโพรงประสาทฟัน หรือเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง รวมถึงการดูแลทำความสะอาดช่องปากที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดการติดเชื้อ

ฟันเปลี่ยนสีโดยเฉพาะฟันหน้าเป็นสัญญาณเริ่มแรกของอาการฟันตาย สังเกตได้จากสีฟันที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับฟันซี่อื่น บางรายอาจมีตุ่มหนองที่เหงือก เหงือกบวมหรือกดเจ็บบริเวณรากฟัน มีอาการเคี้ยวเจ็บ หรือกัดเจ็บที่เกิดจากการอักเสบรอบปลายรากฟัน หรือเคยมีอาการเสียวฟันมากๆ เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น แต่อยู่ๆ ก็ไม่รู้สึก

ทันตแพทย์หญิงวาสพรรณ อธิบายว่า การรักษาฟันตาย สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การรักษารากฟัน เป็นการนำเอาเนื้อฟันส่วนที่ตายออกและทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อ ซึ่งวิธีนี้อาจต้องใช้เวลานาน แต่ไม่ต้องสูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไป และการถอนฟัน

ในกรณีที่ฟันติดเชื้อรุนแรงจนไม่สามารถบูรณะหรือรักษารากฟันได้แล้ว ซึ่งหากเกิดภาวะฟันตายผู้ป่วยควรรีบรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดการละลายของปลายรากฟัน และส่งผลให้เกิดอันตรายอื่นๆ ตามมาได้

ฟันตายสามารถป้องกันได้โดยการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างถูกต้องและเหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นกรด เช่น อาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม และหลีกเลี่ยงการรับประทานของแข็ง เพื่อลดโอกาสการเกิดฟันผุและฟันร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุของฟันตาย รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน

ฟัน (Teeth) เกิดจากส่วนประกอบของเนื้อเยื่ออ่อนและเนื้อเยื่อแข็ง มี 3 ชั้น ได้แก่ เคลือบฟัน (Enamel) เนื้อฟัน (Dentin) และ เนื้อเยื่อฟัน (Pulp) ซึ่งประกอบด้วยหลอดเลือดและเส้นประสาท

ฟันมีชีวิตเพราะเส้นประสาทในฟันยังทำงาน ต่อเมื่อเส้นประสาทถูกทำลาย ไม่มีเลือดไหลผ่าน จะทำให้เกิดฟันตาย (Dead tooth) หรือที่เรียกกันว่า ฟันไม่มีชีวิต (Non-vital tooth) ซึ่งฟันอาจจะตายอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วันหรือตายอย่างช้าๆ โดยใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี

สำหรับสาเหตุของฟันตายมี 2 กรณี ได้แก่

  • ฟันผุ – ไม่ได้รับการรักษา เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในฟันทำให้เกิดการอักเสบจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงฟัน ทำให้เส้นประสาทตาย
  • ฟันได้รับอุบัติเหตุ – เช่น กระแทกจากการเล่นกีฬาทำให้หลอดเลือดปริแตก เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงฟันได้ ดังนั้นเส้นประสาทและเนื้อเยื่อฟันจึงตาย

แหล่งข้อมูล:

  1. “ฟันตาย” ภัยร้าย! ในช่องปาก. https://siamrath.co.th/n/176715 [2020, August 28].
  2. Identifying and Treating a Dead Tooth. https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health/dead-tooth [2020, August 28].
  3. Everything you need to know about a dead tooth. https://www.medicalnewstoday.com/articles/319062#causes [2020, August 28].