ฟันผุเรื้อรังถึงตายได้ (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 21 มีนาคม 2563
- Tweet
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุถึง ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นฝีหนองเนื้อเยื่อใต้คาง เนื่องจากฟันผุเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า โรค Ludwig's angina
โดยผู้ป่วยเป็นชายอายุ 40 ปี ฟันกรามผุเรื้อรังมานาน โดยไม่สนใจไปรักษา ปวดฟัน ซื้อยาร้านยามากินเอง 7 วันก่อนมาโรงพยาบาล มีไข้ ปวดฟันกรามมาก และซื้อพลาสเตอร์ปิดลดปวดที่แก้ม โดยผู้ป่วยเริ่มปวดบวมแดงร้อนที่คาง ลามไปรอบคอด้านหน้า หน้าอกตอนบนอย่างรวดเร็ว ลิ้นจุกคับปาก กลืนน้ำลาย น้ำ อาหารไม่ลง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว
นพ.อารักษ์ ระบุอีกว่า ก่อนมาโรงพยาบาล 1 วัน ผู้ป่วยเป็นไข้หนาวสั่นมาก หายใจติดขัด เมื่อเข้าห้องฉุกเฉิน หมอได้รีบให้สารน้ำแก้ภาวะขาดน้ำ งดน้ำและอาหาร ช่วยหายใจ ให้ออกซิเจนทางจมูก พอหายใจเองได้เล็กน้อย ออกซิเจนในเลือดต่ำลง ให้ยาต้านเชื้อทางเส้นเลือด รีบส่งห้องผ่าตัดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูกเป็นการด่วน
ลำดับแรกที่แพทย์ ทีมงานต้องทำ คือ การเจาะคอแบบฉุกเฉิน ช่วยการหายใจให้ได้ก่อนเป็นการเร่งด่วน แล้วให้ยาสลบ ตามมาด้วยการผ่าฝีหนองออกเพื่อลดอาการบวม ได้หนองประมาณ 150 ซีซี โดยหนองขังอยู่ในโพรงใต้คางและดันเข้าไปโพรงใต้ลิ้น ยกลิ้นขึ้นมาจนปิดช่องปาก
ทั้งนี้ ผู้ป่วยหลังผ่าตัดต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เข้ารักษาในห้องไอซียู 5 วัน จึงเอาเครื่องออกได้ แต่ยังคงต้องคาท่อที่เจาะคอช่วยหายใจเอาไว้จนกว่าจะยุบบวมหมด หลังจากนั้นค่อยส่งพบหมอฟันมาจัดการเรื่องต้นเหตุฟันผุกันต่อ โรคนี้ปัจจุบันเจอได้น้อย แต่รุนแรงมาก
โรค Ludwig's angina ได้ถูกเรียกชื่อตาม Wilhelm Frederick von Ludwig ในปี พ.ศ.2379 หมายถึง การอักเสบติดเชื้อของชั้นเนื้อเยื่อในโพรงใต้คาง (Submandibular space) หรือบริเวณพื้นปากใต้ลิ้น เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีการพัฒนาของยาต้านจุลชีพ
โดยอัตราการเสียชีวิตลดลงจาก 50% ในปี พ.ศ.2483 ก่อนที่จะมีการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาการติดเชื้อที่เหงือกและฟัน (Odontogenic infection) เหลือเพียง 10% หลังจากมีการใช้ยาต้านจุลชีพ
Ludwig's angina เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบมากคือ Streptococcus และ Staphylococcus ซึ่งอาจเกิดจากฟันผุโดยมีการสะสมของหนองในส่วนกลางของฟัน หรืออาจเกิดจาก
- การไม่ดูแลรักษาความสะอาดในช่องปาก
- การได้รับบาดเจ็บหรือเป็นแผล (Lacerations) ในปาก
- การถอนฟัน
โรคนี้มักเกิดในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยอาการของ Ludwig's angina ที่พบ ได้แก่
- ปวดหรือบวมที่พื้นปากซึ่งอยู่ใต้ลิ้น
- กลืนลำบาก
- น้ำลายไหล (Drooling)
- มีปัญหาเรื่องการพูด เสียงพูดเหมือนมีวัตถุอยู่ในปาก
- ปวดคอ
- คอบวม
- คอแดง
แหล่งข้อมูล:
- ฟันผุ อย่านิ่งนอนใจ ระวังเป็นฝีหนองใต้คาง ปิดกั้นการหายใจ เสี่ยงตายได้. https://www.thairath.co.th/news/society/1708408?cx_testId=2&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=2#cxrecs_s [2020, March 20].
- Ludwig's Angina. https://www.healthline.com/health/ludwigs-angina [2020, March 20].
- Ludwig’s angina. https://www.mountsinai.org/health-library/diseases-conditions/ludwig-s-angina [2020, March 20].