ฟันผุซี่เดียวก่อปัญหาได้ทั่วตัว (ตอนที่ 3)

ฟันผุซี่เดียวก่อปัญหาได้ทั่วตัว-3

      

      ส่วนกรณีที่รุนแรงอาจทำให้

  • ปวดมากจนรบกวนต่อชีวิตประจำวัน
  • น้ำหนักลดหรือมีปัญหาเรื่องสารอาหารจากการกินหรือเคี้ยวไม่ได้
  • ฟันหลุด ทำให้เสียความมั่นใจในรูปลักษณ์
  • เป็นหนองติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เกิดโรคที่ร้ายแรงต่อชีวิตได้

      ทั้งนี้ หญิงมีครรภ์มีโอกาสในเกิดโรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) และโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) ได้สูง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและจำนวนแบคทีเรีย ดังนั้น จึงควรไปพบทันตแพทย์เพื่อดูแลช่องปาก ซึ่งเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์

      การป้องกันฟันผุที่ทำได้คือ

  • แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีสวนผสมของฟลูออไรด์หลังการกินอาหารหรืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดระหว่างซอกฟัน
  • กลั้วปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก (Mouth rinse) ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
  • ไปพบทันตแพทย์ตามกำหนด เพื่อตรวจและทำความสะอาดช่องปาก ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาแต่เนิ่นๆ
  • กินอาหารที่ประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้เพื่อเพิ่มน้ำลาย
  • หลีกเลี่ยงการกินของจุบจิบ เพราะทำให้แบคทีเรียสร้างกรดในปากบ่อยจนทำลายฟัน

      สำหรับการรักษาฟันผุขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการซึ่งอาจรักษาด้วยการ

  • ใช้ฟลูออไรด์ (Fluoride treatments) หากเพิ่งเริ่มมีอาการฟันผุ การรักษาด้วยฟลูออไรด์อาจช่วยเคลือบฟัน โดยฟลูออไรด์อาจอยู่ในรูปของของเหลว เจล โฟม หรือ น้ำยาเคลือบฟัน (Varnish)
  • อุดฟัน (Fillings / restorations) ด้วยวัสดุอุดฟันที่แตกต่างกันไป เช่น คอมโพสิตเรซิน (Composite resin) พอร์ชเลน (Porcelain) และอะมอลกัม (Amalgam)
  • รักษารากฟัน (Root canals)
  • ครอบฟัน (Crowns)
  • ถอนฟัน (Tooth extractions)

      ด้าน ผศ.ทพญ.ดร.จรัญญา หุ่นศรีสกุล หัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ได้ให้ความรู้และไขข้อสงสัยที่ว่า “ฟันผุนั้นอันตรายขนาดไหน?” โดยกล่าวว่า

      ฟันคนเราจะมี 3 ชั้น คือ เคลือบฟัน เนื้อฟัน และโพรงประสาทฟัน ในโพรงประสาทฟันมันจะมีเส้นเลือด เส้นประสาทที่รับความรู้สึกอยู่ ซึ่งบางคนก็จะปวด บางคนก็จะไม่ปวด แต่ประเด็นคือ ถ้าผุถึงตรงนี้แล้วลุกลามไปปลายรากฟัน ก็จะกลายเป็นหนองขึ้นมา

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Cavities/tooth decay. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cavities/symptoms-causes/syc-20352892 [2019, Jun 17].
  2. Dental Cavities (Dental Caries). https://www.medicinenet.com/cavities/article.htm[2019, Jun 17].