ฟันผุซี่เดียวก่อปัญหาได้ทั่วตัว (ตอนที่ 1)

ฟันผุซี่เดียวก่อปัญหาได้ทั่วตัว-1

      

      ใครจะไปคิดว่าเรื่องใกล้ตัวคนทุกเพศทุกวัย อย่าง “ปัญหาฟันผุ” จะเป็นสาเหตุของการเกือบได้สูญเสียดวงตา! แชร์สนั่นโลกออนไลน์ หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก ของ พญ.อารีย์ นิมิตวงศ์สกุล จักษุแพทย์ จากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์(วัดไร่ขิง) ได้โพสต์ภาพดวงตาของผู้ป่วยคนหนึ่ง ที่ด้านในแดงและบวมเป่งไปทั้งเบ้า ใกล้กันนั้นมีภาพของฟันที่ถูกถอนออกมา 2 ซี่

      พญ.อารีย์ ได้บรรยายภาพดังกล่าวว่า "ฟันผุ อย่าละเลย ฟันผุสามารถเป็นสาเหตุของการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ไซนัสและลามมาในเบ้าตาด้านหลังลูกตาได้ เช่นเคสนี้เป็นต้น ตาปูดโปน มองจนเห็นแค่นิ้วลางๆ ปวดตามาก CT พบหนองในไซนัสและในเบ้าตา และแถวรากฟัน ได้ผ่าตัดถอนฟัน และผ่าตัดระบายหนองหลังเบ้าตาและไซนัส รวมถึงให้ยาฆ่าเชื้อ จนกลับมามองเห็นได้ปกติ แต่รายอื่นๆ หากรักษาไม่ทันอาจไม่โชคดีกลับมามองได้แบบรายนี้นะคะ"

      และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาการฟันผุส่งผลกระทบร้ายแรงมากกว่าแค่อาการปวด เพราะก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน ก็มีกรณีของเด็กชายคนหนึ่ง มีอาการฟันผุหมดปาก จนทะลุถึงโพรงประสาทฟัน และเกิดการติดเชื้อ ต้องถอนฟันและเจาะระบายหนองออกจากบริเวณคาง แถมยังต้องได้รับยาฆ่าเชื้อและนอนดูอาการที่โรงพยาบาลอีก 1 อาทิตย์ และล้างแผลต่อเนื่อง จนกลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนั้น

      ฟันผุ (Cavities / tooth decay / caries) เป็นปัญหาที่พบมากของคนทั่วโลก โดยเฉพาะในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยในระยะแรกเราอาจไม่สังเกตได้ถึงอาการ แต่เมื่อผุมากขึ้นก็อาจแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดฟันเมื่ออยู่เฉยๆ โดยไม่มีสาเหตุ
  • เสียวฟันเมื่อกินหรือดื่มอาหารร้อนหรือเย็น
  • มีรูที่ฟัน
  • มีคราบน้ำตาลหรือขาวอยู่บนผิวฟัน
  • ปวดเมื่อเคี้ยวหรือกัด

      โดยฟันผุมีกระบวนการในการเกิดดังนี้

  • มีคราบฟัน (Plaque forms) เป็นฟิลม์ใสๆ ที่เคลือบฟันอยู่ เกิดจากการกินน้ำตาลหรือแป้งแล้วไม่ทำความสะอาดฟันให้ดี แบคทีเรียที่อยู่ในปากจะใช้น้ำตาลที่ติดอยู่ตามซอกฟันเป็นแหล่งพลังงาน เพื่อสร้างกรดและสารพิษ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ แคลเซียมในอาหารก็จะเข้ามาเกาะรวมอยู่ด้วย จนทำให้เกิดเป็นคราบแข็งที่ติดแน่นมาก จนกลายเป็นหินปูนที่เกาะอยู่ตามซอกฟัน (Tartar)
  • ในขณะที่กรดในคราบจะกัดกร่อนเคลือบฟันทำให้เป็นรูซึ่งเป็นขั้นต้นของฟันผุ และเมื่อเคลือบฟันที่ผิวฟันถูกทำลาย แบคทีเรียและกรดก็จะเข้าสู่ชั้นฟันถัดไปที่เรียกว่า Dentin หรือเนื้อฟัน ซึ่งเป็นชั้นที่อ่อนกว่าเคลือบฟันและทนต่อกรดได้น้อยกว่า โดย Dentin จะมีการเชื่อมต่อโดยตรงกับประสาทฟันซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเสียวฟัน
  • ในขั้นต่อไป แบคทีเรียและกรดจะเข้าสู่เนื้อในโพรงฟัน (Pulp) ซึ่งประกอบด้วยเส้นประสาทและหลอดเลือด ทำให้ Pulp บวมและอักเสบจากแบคทีเรีย เนื่องจากฟันที่มีเนื้อที่จำกัดเมื่อเกิดอาการบวมจะทำให้เส้นประสาทถูกกดทับและเป็นสาเหตุของอาการปวด

      

แหล่งข้อมูล:

  1. ฟันผุไม่ใช่เรื่องเล่นๆ! “ติดเชื้อ – หนองลาม – ตาเกือบบอด”!! https://mgronline.com/live/detail/9610000117587[2019, Jun 15].
  2. Cavities/tooth decay. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cavities/symptoms-causes/syc-20352892 [2019, Jun 15].