ฟลูออไรด์ (Fluoride)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ฟลูออไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ฟลูออไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูออไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูออไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟลูออไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออไรด์อย่างไร?
- ฟลูออไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูออไรด์อย่างไร?
- ฟลูออไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟันผุ (Dental caries)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate)
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) ยาอลัมมิล (Alum milk)
บทนำ
ฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นสารอนินทรีย์ที่เกิดจากธาตุฟลูออรีน (Fluorine สัญลักษณ์/Symbol ของธาตุนี้คือ F) ที่รับอิเล็กตรอน (Electron) เข้ามา 1 อิเล็กตรอน ทำให้เรียกฟลูออรีนที่มีประจุลบจากอิเล็กตรอนว่า “ฟลูออไรด์” ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้นำเอาฟลูออไรด์ไปผสมกับผลิตภัณฑ์ ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ด้วยฟลูออไรด์จะช่วยทำให้เคลือบฟันของคนเราแข็งแรงป้องกันฟันผุ ผู้ที่บริโภคน้ำที่มีปริมาณฟลูออไรด์น้อยเกินไปมักจะพบปัญหาเรื่องสุขภาพของฟัน มีรายงานทางคลินิกได้ระบุว่าการให้ฟลูออไรด์กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการฉายรังสีรักษาที่บริเวณคอหรือศีรษะสามารถช่วยป้องกันการผุกร่อนของฟันได้
ผู้ป่วยที่สามารถรับยาประเภทฟลูออไรด์ได้นั้นจะต้องไม่ใช่ผู้ป่วยที่ถูกจำกัดการบริโภคเกลือแร่ชนิดต่างๆซึ่งรวมถึงยาฟลูออไรด์ด้วย นอกจากนี้ยังห้ามบริโภคยาฟลูออไรด์พร้อมกับนมหรือยาลดกรดที่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบเช่น Calcium carbonate ด้วยเกลือแคลเซียมสามารถรบกวนการดูดซึมยาฟลูออไรด์จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้
มีหน่วยงานด้านสาธารณสุขและทันตกรรมของบางประเทศที่ในดินและในน้ำที่เป็นแหล่งสำคัญของฟลูออไรด์ มีฟลูออไรด์ต่ำมาก แนะนำให้ใช้ยาฟลูออไรด์กับเด็กไปจนกระทั่งมีอายุ 13 ปี บางประเทศระบุให้เสริมยาฟลูออไรด์กับเด็กไปจนกระทั่งอายุ 16 ปี แต่ประเทศไทยไม่มีนโยบายนี้เนื่องจากน้ำธรรมชาติของเรามีปริมาณฟลูออไรด์สูงเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยาฟลูออไรด์มีทั้งยาหยดชนิดน้ำและยาเม็ดสำหรับรับประทาน
ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจแพ้ยา/แพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการเกิดผื่นคันตามผิวหนัง หายใจลำบาก และ/หรือมีอาการหน้า-ปาก-ลิ้น-คอบวม
กรณีที่มีการบริโภคฟลูออไรด์มากเกินขนาดก็อาจพบเห็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ชาตามร่างกาย รวมถึงอาจเกิดอาการชักได้ด้วย
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาโซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium fluoride) อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนควรมียาฟลูออไรด์สำรองไว้เพื่อให้บริการแก่ประชาชน และการใช้ยานี้ควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์หรือทันตแพทย์เท่านั้น ไม่แนะนำให้ผู้บริโภคไปซื้อหายาฟลูออไรด์มาใช้เองโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน ด้วยการใช้ยานี้ที่ผิดขนาดอาจเกิดผลเสียต่อฟันโดยทำให้ฟันมีสีซีดผิดไปจากสีธรรมชาติ
ฟลูออไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟลูออไรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อใช้เสริมสร้างป้องกันฟันผุ ซึ่งสามารถพบเห็นการใช้ยาฟลูออไรด์ในคลินิกทันตกรรมและคลินิกทางกุมารเวช
ฟลูออไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
อาจกล่าวโดยกระชับว่ากลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูออไรด์คือ ตัวยาฟลูออไรด์จะเข้ารวมตัวกับเกลือแคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) ในฟัน และได้สารประกอบที่มีชื่อเรียกว่า ฟลูออราปาไทด์ (Fluorapatide) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเคลือบฟันที่ช่วยป้องกันฟันผุ
ฟลูออไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูออไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 0.25 มิลลิกรัมของโซเดียมฟลูออไรด์/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทานแบบหยดขนาด 0.1 มิลลิกรัมของฟลูออไรด์/8 หยด
*หมายเหตุ โซเดียมฟลูออไรด์ขนาด 2.2 มิลลิกรัมจะเทียบเท่าฟลูออไรด์ 1 มิลลิกรัม
ฟลูออไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟลูออไรด์มีขนาดรับประทานเช่น
- เด็กอายุ 6 เดือน - 3 ปี: รับประทานวันละ 0.25 มิลลิกรัม
- เด็กอายุ 3 - 6 ปี: รับประทานวันละ 0.5 มิลลิกรัม
- เด็กอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: รับประทานวันละ 1 มิลลิกรัม
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนถึงประโยชน์และโทษของการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- ผู้ใหญ่: การใช้ยานี้กับผู้ใหญ่ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
*อนึ่ง
- กรณีเป็นยาเม็ดควรเคี้ยวยานี้ก่อนกลืน
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูออไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลูออไรด์สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ฟลูออไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูออไรด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน
*หากมีอาการแพ้ยาฟลูออไรด์จะพบอาการแน่นหน้าอก/เจ็บหน้าอก ใบหน้าบวม ขึ้นผื่นทั้งตัว เป็นต้น ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวหลังบริโภคยานี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออไรด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูออไรด์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาโซเดียมฟลูออไรด์ขนาด 1 มิลลิกรัมกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีลงมา
- ห้ามรับประทานร่วมกับอาหารหรือยาที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมสูงอย่างเช่น นม ยาลดกรดที่มีแคลเซียมสูงเช่น Calcium carbonate
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- หากพบอาการฟันเปลี่ยนสีหรือมีฟันผุมากขึ้นหลังการใช้ยานี้ ควรรีบมาพบแพทย์/ทันตแพทย์ /มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ควรรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์/ทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยานี้นานเกินกว่าที่แพทย์/ทันตแพทย์กำหนด
- มาพบแพทย์/ทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูออไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ฟลูออไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูออไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาฟลูออไรด์ร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของธาตุ Aluminium เช่น Aluminium hydroxide, Calcium เช่น Calcium carbonate และ Magnesium เช่น Magnesium sulfate ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยาฟลูออไรด์จากระบบทางเดินอาหารต่ำลง
- ห้ามรับประทานยาฟลูออไรด์พร้อมกับอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น นม นมเปรี้ยว เนย ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยาฟลูออไรด์จากระบบทางเดินอาหารต่ำลง
ควรเก็บรักษาฟลูออไรด์อย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูออไรด์ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ฟลูออไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูออไรด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Flu-Ride (ฟลู-ไรด์) | The United Drug (1996) |
Zymafluor (ซายมาฟลอร์) | Rottapharm |
Fluorabon drops USP (ฟลูออราบอน ดร็อปส์ ยูเอสพี) | Kirkman |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fluoride [2016,July9]
- https://www.drugs.com/mtm/fluoride.html [2016,July9]
- http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=fluoride [2016,July9]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/147#item-8878 [2016,July9]
- http://dentalcare.com/en-US/dental-education/continuing-education/ce94/ce94.aspx?ModuleName=coursecontent&PartID=5&SectionID=-1 [2016,July9]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/sodium%20fluoride/ [2016,July9]
- https://www.drugs.com/sfx/fluoride-side-effects.html [2016,July9]