ฟลูออโรเมโทโลน (Fluorometholone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟลูออโรเมโทโลน (Fluorometholone) เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticoste roid) ถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดตา (Refractive eye surgery) โดยช่วยลดการปวดอักเสบของตา ยานี้มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาหยอดตาชนิดน้ำแบบแขวนตะกอน การใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

สำหรับเงื่อนไขบางประการที่ใช้เป็นเกณฑ์หรือทางเลือกว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะใช้ยาฟลูออโรเมโทโลนนี้หรือไม่นั้นเป็นดังนี้เช่น

  • ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาฟลูออโรเมโทโลนมาก่อน
  • ต้องไม่ใช่ผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อวัณโรคในตา
  • ต้องไม่อยู่ในภาวะถูกกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคด้วยการฉีดวัคซีนใดๆ
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆทุกประเภทรวมถึงยาฟลูออโรเมโทโลนด้วย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงควรใช้ยาต่างๆตามคำสั่งแพทย์ ไม่ควรซื้อยาต่างๆใช้เอง
  • ผู้ป่วยต้องแจ้งถึงสถานะอาการป่วยของตนเองโดยละเอียดว่ามีโรคของตา (เช่น เป็นต้อกระ จก ต้อหิน จอตาเสื่อม) หรือโรคประจำตัว (เช่น เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น) ใดๆอยู่บ้าง

นอกจากนี้ก่อนการใช้ยาฟลูออโรเมโทโลน ผู้ป่วยจะต้องเรียนรู้วิธีการใช้ยานี้ที่ถูกต้องถูกขนาด และถูกสุขอนามัยอาทิเช่น

  • เขย่าขวดยาทุกครั้งเพื่อช่วยให้ยานี้กระจายตัวได้ดีก่อนหยอดตาทุกครั้ง
  • ล้างมือก่อนหยอดตา แล้วใช้นิ้วช่วยดึงเปลือกตา/หนังตาล่างโดยดึงลงเบาๆเพื่อเพิ่มขยายเนื้อที่สัมผัสยาในตา จากนั้นจึงหยอดยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง
  • ใช้นิ้วคลึงรอบตาข้างที่ทำการหยอดยาเพียงเบาๆและห้ามกระพริบตาแบบถี่ๆ
  • เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในขวดยา ห้ามมิให้ปลายหลอดยาหยอดตาสัมผัสกับตา เปลือกตา และนิ้วมือ เป็นต้น
  • หลังหยอดตาห้ามสวมใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าแพทย์จะอนุญาต
  • กรณีที่แพทย์สั่งจ่ายยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมด้วย ให้ผู้ป่วยทำการหยอดยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเช่น หยอดยาหยอดตาชนิดใดก่อน ทิ้งช่วงเวลาห่างกันกี่นาทีแล้วจึงหยอดยาชนิดที่ 2 หรือที่ 3
  • ควรหยอดยาตามกำหนดของคำสั่งแพทย์ หลีกเลี่ยงการหลงลืมการหยอดตา

ทั้งนี้ยาหยอดตาฟลูออโรเมโทโลนอาจทำให้มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เหมือนยาหยอดตาชนิดอื่นโดยทั่วไปเช่น ตาพร่าหลังหยอดยา หรือมีอาการแสบคันเล็กน้อย ในระยะมีตาพร่าควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือทำงานกับเครื่องจักรด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และหากใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 2 วันอาการของตาไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ยาฟลูออโรเมโทโลนเป็นหนึ่งในรายการยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยมีเงื่อนไขและข้อกำกับการใช้ยานี้ดังนี้

  • เพื่อใช้รักษาเยื่อตาอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเช่น โรคภูมิแพ้ หรือการระคายเคืองตาจากการผ่าตัดตา
  • การใช้ยานี้ต้องระวังการติดเชื้อราที่กระจกตา และการเกิดต้อหิน (Steroid glaucoma)
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานยังอาจเกิดต้อกระจก (Steroid cataract) ได้

อนึ่งหากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาฟลูออโรเมโทโลนเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

ฟลูออโรเมโทโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟลูออโรเมโทโลน

ยาฟลูออโรเมโทโลนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดอาการอักเสบ ปวด บวม แดงของตา และของเปลือกตา ที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโรคต่างๆ

ฟลูออโรเมโทโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟลูออโรเมโทโลนมีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ทั่วไป โดยจะช่วยลดการอักเสบ อาการบวม แดง และส่งผลต่ออาการปวดให้ทุเลาลง ยานี้ไม่ได้บำบัดอาการติดเชื้อในตา เพียงช่วยเรื่องลดปฏิกิริยาการอักเสบของเนื้อเยื่อตาเท่านั้น จึงควรทำความเข้าใจเพื่อที่จะใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องและตรงกับวัตถุประสงค์ของการรักษา

ฟลูออโรเมโทโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูออโรเมโทโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาหยอดตาชนิดน้ำขนาดความเข้มข้น 0.1%
  • ยาขี้ผึ้งป้ายตาขนาดความเข้มข้น 0.1%

ฟลูออโรเมโทโลนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฟลูออโรเมโทโลนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. สำหรับยาขี้ผึ้งป้ายตา:

  • ผู้ใหญ่: ให้ป้ายยาเฉพาะตาข้างอักเสบโดยป้ายที่ด้านในหนังตาล่างเป็นทางยาวประมาณ ½ นิ้ว ใช้ยาวันละ 1 - 3 ครั้ง

ข. สำหรับยาหยอดตา:

  • ผู้ใหญ่: หยอดยา 1 - 2 หยดเฉพาะตาข้างอักเสบวันละ 2 - 4 ครั้ง ในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรงแพทย์อาจปรับเป็นหยอดยาทุกๆ 4 ชั่วโมง

*อนึ่ง:

  • ระยะเวลาของการใช้ยานี้อยู่ที่ประมาณ 1 - 2 วันหรือตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุมากกว่า 2 ปี: ขนาดการใช้ยานี้ของเด็กวัยนี้ให้เป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูออโรเมโทโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออโรเมโทโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดหรือป้ายตาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาฟลูออโรเมโทโลนสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการหยอดหรือป้ายตาเป็นสองเท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรใช้ยาหยอดหรือยาป้ายตาฟลูออโรเมโทโลนตามคำสั่งแพทย์

ฟลูออโรเมโทโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูออโรเมโทโลนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ ดังนี้เช่น เพิ่มความดันในลูกตาซึ่งจะส่งผลให้ปวดตาร่วมกับมีตาแดง, เส้นประสาทตาอาจเกิดความเสียหายส่งผลถึงการมองเห็นภาพไม่ชัดเจน และอาจเกิดภาวะต้อกระจกและ/หรือต้อหิน

อนึ่งหากมีแผลในตาหลังใช้ยานี้ แผลอาจหายช้ากว่าปกติ นอกจากนั้นอาจมีการติดเชื้อต่างๆในตาตามมาได้ง่าย จึงต้องระวังเรื่องการปนเปื้อนต่างๆระหว่างที่มีการใช้ยานี้

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออโรเมโทโลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการยาใช้ฟลูออโรเมโทโลนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีการติดเชื้อที่ตาอย่างเช่น เชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย รวมเชื้อวัณโรคด้วย
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนต่างๆเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ยานี้ใช้รักษาเฉพาะการอักเสบ ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อโรค การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำแนะนำ ของแพทย์โดยเคร่งครัด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติป่วยด้วยโรคต้อหิน หรือมีประวัติติดเชื้อรา และเชื้อไวรัสที่ตา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ระวังการเกิดบาดแผลในตา
  • หากใช้ยานี้ไปแล้วอาการเลวลงหรืออาการไม่ดีขึ้นในประมาณ 2 วัน ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูออโรเมโทโลนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฟลูออโรเมโทโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาฟลูออโรเมโทโลนเป็นรูปแบบยาใช้ภายนอก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) คือเป็นยาหยอดตา/ยาป้ายตา จึงยังไม่พบรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาฟลูออโรเมโทโลนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูออโรเมโทโลนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟลูออโรเมโทโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูออโรเมโทโลนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Flarex (ฟลาเรค)Alcon
Flu Oph (ฟลู ออฟ)Seng Thai
Flucon (ฟลูคอน) Alcon
FML (เอฟเอ็มแอล)Allergan
FML forte (เอฟเอ็มแอล ฟอร์ท)Allergan

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/fluorometholone.html [2016,July2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Fluorometholone [2016,July2]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/fluorometholone?mtype=generic [2016,July2]