ฟลูราซีแพม (Flurazepam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- ฟลูราซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ฟลูราซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ฟลูราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ฟลูราซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ฟลูราซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ฟลูราซีแพมอย่างไร?
- ฟลูราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาฟลูราซีแพมอย่างไร?
- ฟลูราซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants drugs)
- ลมชัก (Epilepsy)
บทนำ
ยาฟลูราซีแพม(Flurazepam หรือ Flurazepam hydrochloride) เป็นยาอนุพันธ์ของยาเบนโซไดอะซิปีน(Benzodiazepine) สามารถออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทเป็นระยะเวลานาน ทางคลินิกใช้เป็นยาคลายความวิตกกังวล ยับยั้งอาการโรคลมชัก ช่วยสงบประสาท/ยาคลายเครียด และเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ ยานี้มีวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970(พ.ศ.2513) รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ด้วยตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี
ยาฟลูราซีแพมในกระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนได้ 97 % โดยประมาณ ยานี้สามารถซึมผ่านรกของมารดาได้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.3 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ทางคลินิก แพทย์จะใช้ยาฟลูราซีแพมเมื่อเริ่มต้นในปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป กรณีในผู้ป่วยสตรี ขนาดที่ใช้เริ่มต้น คือ 15 มิลลิกรัมวันละครั้ง และ 30 มิลลิกรัมวันละครั้งสำหรับบุรุษ เพราะการกำจัดยาออกจากร่างกายในสตรีจะทำได้ช้ากว่าผู้ชาย
ข้อห้ามและข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาฟลูราซีแพม คือ
- เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน
- ผู้ป่วยมีภาวะ/โรคต้อหิน มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นผู้ป่วยโรคตับ โรคไต มีภาวะซึมเศร้า มีประวัติทำร้ายตนเอง ฆ่าตัวตาย หรือมีประวัติติดยา/สารเสพติด
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกตัวซึ่งรวมยาฟลูราซีแพม ด้วยจะเกิดผลข้างเคียงจากยาต่างๆได้สูง ดังนั้น การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงควรต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ผู้ที่มีการใช้ยาบางชนิดอยู่ก่อน เช่นยา Clozapine, Digoxin, Hydantoins, ด้วยการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาฟลูราซีแพม จะทำให้ได้รับผลข้างเคียงจากยาดังกล่าวเหล่านั้นมากขึ้น
- การใช้ยาฟลูราซีแพมกับผู้สูงอายุ ต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยานี้ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น อาทิเช่น รู้สึกสับสน ง่วงนอน เวียนศีรษะ เป็นต้น
- การใช้ยาฟลูราซีแพมมักจะใช้เวลานานกว่า 1 ถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงไม่ควรหยุดใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ การหยุดใช้ฟลูราซีแพมทันทีทันใดนั้น อาจจะมีอาการถอนยาเกิดขึ้นได้ โดยแสดงออกในลักษณะอาการ ปวดท้องมาก กล้ามเนื้อเป็นตะคริว อาเจียน เหงื่อออกมาก
- กรณีที่ใช้ยาฟลูราซีแพมบำบัดอาการนอนไม่หลับ แพทย์จะสั่งจ่ายยานี้เพียงวันละครั้งก่อนนอน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาฟลูราซีแพมก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
อนึ่ง หากผู้บริโภคท่านใดมีความสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาฟลูราซีแพม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
ฟลูราซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาฟลูราซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการนอนไม่หลับ
- ช่วยสงบประสาท
- รักษาอาการวิตกกังวล
- รักษาโรคลมชัก
ฟลูราซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟลูราซีแพม มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง เช่น ส่งผลทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล ช่วยสงบประสาท ช่วยทำให้นอนหลับ ซึ่งระยะเวลาของการออกฤทธิ์ของยานี้ที่เกิดขึ้นต่อร่างกายจะประมาณ 7-8 ชั่วโมง จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ฟลูราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูราซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น ยาแคปซูลขนาด 15 และ 30 มิลลิกรัม/แคปซูล
ฟลูราซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาฟลูราซีแพม จะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ชนิดโรค ความรุนแรงของอาการอายุผู้ป่วย เพศ และโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาอื่นๆอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การใช้ยานี้จึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นกับปัจจัยดังกล่าวและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยานี้เฉพาะกรณี สำหรับบำบัดอาการนอนไม่หลับ ดังนี้ เช่น
- ผู้ใหญ่: สำหรับสตรี รับประทานยา 15 มิลลิกรัม ก่อนนอน สำหรับบุรุษ รับประทานยา 15-30 มิลลิกรัม ก่อนนอน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนในการใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฟลูราซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูราซีแพม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลูราซีแพม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาฟลูราซีแพม ตรงเวลา
ฟลูราซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูราซีแพมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ สับสน ตัวสั่น พูดไม่ชัด กระสับกระส่าย
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า มองเห็นภาพซ้อน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีอาการปัสสาวะขัด
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า พฤติกรรมเปลี่ยนไป ประสาทหลอน
- ผลต่อตับ: ค่าบิลิรูบิน(Bilirubin)ในเลือดเพิ่มขึ้น ตัว/ตาเหลือง เอนไซม์การทำงานบางตัวของตับในเลือดสูงขึ้น อย่างเช่น Alkaline phosphatase, SGOT(Serum glutamic-oxaloacetic transaminase), SGPT (Serum glutamic-pyruvic transaminase)
- ต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก มีผื่นคัน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะ Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ) Granulocytopenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Granulocyte ต่ำ)
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อื่นๆ: เช่น ความรู้สึกทางเพศเสื่อม
มีข้อควรระวังการใช้ฟลูราซีแพมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูราซีแพม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์เป็นส่วนประกอบ
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดยา/สารเสพติด ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- หากใช้ยานี้ไปแล้ว 7-10 วัน อาการไม่ดีขึ้น ให้กลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเสี่ยงกับการเกิด ภาวะวิงเวียน ง่วงนอน สับสน และเป็นลม
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นเวลานานเกิน 1-2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการดื้อยา ควรใช้ยานี้เฉพาะตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- กรณีใช้ยาเกิน 1-2 สัปดาห์ ไม่ควรหยุดการใช้ยาทันทีทันใดด้วยจะเกิดภาวะถอนยาตามมา โดยสังเกตได้จากอาการเป็นตะคริวที่ท้องหรือที่กล้ามเนื้อ อาเจียน เหงื่อออกมาก หรืออาจมีอาการชักร่วมด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว ควรต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งการใช้ยานี้เสมอ และเมื่อเกิดอาการดังกล่าว ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- การใช้ยาเกิน 2-3 สัปดาห์ ต่อเนื่องในขนาดรับประทานที่ค่อนข้างสูง และผู้ป่วย มีความประสงค์อยากใช้ยาต่อ นั่นอาจเป็นสัญญาณของการติดยาแล้ว ดังนั้นจึงควรใช้ยานี้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น
- หากมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะ หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูราซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ฟลูราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูราซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟลูราซีแพมร่วมกับการดื่มสุรา จะเกิดการกดการทำงานของประสาทส่วนกลางหรือสมองมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มฤทธิ์สงบประสาท กดการหายใจของร่างกายซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามการรับประทานยาฟลูราซีแพมร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- การใช้ยาฟลูราซีแพมร่วมกับยา Hydrocodone, Diphenhydramine, อาจทำให้เพิ่มอาการข้างเคียงของยาฟลูราซีแพม เช่น มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน สับสน การครองสติทำได้ยาก หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาฟลูราซีแพมร่วมกับยา Quinapril อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ เกิดอาการ ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม รวมถึงอัตราการเต้นของชีพจรผิดปกติ เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาฟลูราซีแพมอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาฟลูราซีแพม ในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แช็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ฟลูราซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูราซีแพม ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Flurazepam hydrochloride (ฟลูราซีแพม ไฮโดรคลอไรด์) | Mylan Pharmaceuticals Inc. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในประเทศตะวันตก เช่น Dalmane,Dalmadorm
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Benzodiazepine [2016,Aug6]
- https://www.drugs.com/cdi/flurazepam.html [2016,Aug6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Flurazepam [2016,Aug6]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00690 [2016,Aug6]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/flurazepam/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug6]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/flurazepam-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Aug6]