ฟลูนาริซีน (Flunarizine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 สิงหาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาฟลูนาริซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาฟลูนาริซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาฟลูนาริซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาฟลูนาริซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาฟลูนาริซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูนาริซีนอย่างไร?
- ยาฟลูนาริซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาฟลูนาริซีนอย่างไร?
- ยาฟลูนาริซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไมเกรน (Migraine)
- วิงเวียน เวียนศีรษะ รู้สึกหมุน (Dizziness)
- โรคลมชัก (Epilepsy)
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ยาคลายกังวล (Anxiolytic)
- โอปิออยด์ (Opioid)
บทนำ
ยาฟลูนาริซีน (Flunarizine) หรือยาชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จัก คือ ไซบีเลียม (Sibelium) จัดอยู่ในกลุ่มยา Calcium channel blocker (ยาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแคลเซี่ยมเพื่อช่วยให้มีการขยายตัวของหลอดเลือด) และ มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารฮีสตามีน/Histamine (Histamine H1 receptor blocking activity) ถูกคิดค้นโดยบริษัทยา แจนเซ่น ฟาร์มาซูติคัล (Jans sen Pharmaceuticals) ในปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) วงการแพทย์นำยานี้มารักษาและป้องกัน อาการปวดศีรษะไมเกรน, ใช้ประกอบในการรักษาโรคลมชัก, และอาการวิงเวียนศีรษะ
หลังการรับประทาน ยาฟลูนาริซีนจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและจับกับโปรตีนในกระแสเลือดมากกว่า 90% และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 18 วันในการขับยานี้ออกจากร่าง กาย 50% โดยผ่านมากับน้ำดี
ประเทศไทยจัดฟลูนาริซีนอยู่ในกลุ่มยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และอยู่ในหมวดยาอัน ตราย การใช้ยานี้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงควรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
ยาฟลูนาริซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาฟลูนาริซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดรักษาและป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน แต่ไม่สามารถรักษาอาการไมเกรนแบบเฉียบพลันได้
- บำบัดอาการเวียนศีรษะคล้ายบ้านหมุน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เวียนศีรษะ อาการรู้สึกหมุน)
ยาฟลูนาริซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาฟลูนาริซีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยทำให้หลอดเลือดส่วนปลายขยายตัว และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะสมอง จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ยาฟลูนาริซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาฟลูนาริซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาด 5 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาแคปซูล ขนาด 5 มิลลิกรัม/แคปซูล
ยาฟลูนาริซีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาฟลูนาริซีนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 5 - 10 มิลลิกรัม วันละครั้ง ก่อนนอน
- คนชราที่มีอายุมากกว่า 65 ปี: รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละครั้งก่อนนอน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็กที่ป่วยด้วยไมเกรน ต้องอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟลูนาริซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดัง นี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หายใจหอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฟลูนาริซีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาฟลูนาริซีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาฟลูนาริซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาฟลูนาริซีนอาจก่อให้เกิด ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- มีน้ำหนักตัวเพิ่ม
- ง่วงนอน
- คลื่นไส้
- ปากคอแห้ง
- นอนไม่หลับ
- ความดันโลหิตต่ำ
- หากพบว่ามีอาการวิตกกังวล ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อขอปรับขนาดการรับประทาน (เพราะอาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวลมากขึ้น)
- *นอกจากนี้ ถ้ามีอาการผื่นคัน มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ลำบาก ไม่สามารถควบคุมการขยับปากและใบหน้าได้ ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูนาริซีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูนาริซีน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา ฟลูนาริซีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจล้มเหลว และผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ระวังการใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
- ระหว่างรับประทานยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะส่งผลให้ผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
- ระหว่างการใช้ยาฟลูนาริซีน ควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร หรือการขับรถ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากมีอาการง่วงนอนมาก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูนาริซีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฟลูนาริซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาฟลูนาริซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาฟลูนาริซีนร่วมกับยากันชัก เช่นยา Carbamazepine, Phenytoin, และ Valproic acid สามารถทำให้ระดับยาฟลูนาริซีนในกระแสเลือดลดต่ำ อาจส่งผลต่อการรักษาของยาฟลูนาริซีน จึงควรต้องแจ้งแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการรับประทาน
- การรับประทานยาฟลูนาริซีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดอา การง่วงนอนมากยิ่งขึ้นจนถึงขั้นหมดสติได้
- การรับประทานยาฟลูนาริซีนร่วมกับ กลุ่มยานอนหลับ กลุ่มยาคลายวิตกกังวล/ยาคลายเครียด ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid analgesics) จะเพิ่มฤทธิ์ของการสงบประสาท ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงนอน วิงเวียนมากขึ้น หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน หรือให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดการรับประทาน
ควรเก็บรักษายาฟลูนาริซีนอย่างไร?
ควรเก็บยาฟลูนาริซีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้น แสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาฟลูนาริซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาฟลูนาริซีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cebrium (เซเบรียม) | Community Pharm PCL |
Cedelate (เซเดเลท) | Thai Nakorn Patana |
Fabelium (ฟาเบเลี่ยม) | Pharmahof |
Finelium (ฟิเนเลี่ยม) | P P Lab |
Floxin (โฟลซิน) | Sriprasit Pharma |
Flubelin (ฟลูเบลิน) | Patar Lab |
Flucilium (ฟลูซิเลี่ยม) | Utopian |
Fludan (ฟลูดาน) | Biolab |
Flunamed (ฟลูเนม) | Medicpharma |
Flunaric (ฟลูนาริก) | Suphong Bhaesaj |
Flunarium (ฟลูนาเรียม) | Greater Pharma |
Flunarizine BLC (ฟลูนาริซีน บีแอลซี) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Flunarizine GPO (ฟลูนาริซีน จีพีโอ) | GPO |
Fluricin (ฟลูริซิน) | Seng Thai |
Flurin (ฟลูริน) | T. Man Pharma |
Furin (ฟูริน) | T. Man Pharma |
Hexilium (เฮซิเลี่ยม) | Pharmasant Lab |
Liberal (ลิเบอรัล) | Asian Pharm |
Poli-Flunarin (โพลิ-ฟลูนาริน) | Polipharm |
Sibelium (ไซบีเลี่ยม) | Janssen-Cilag |
Simoyiam (ไซโมเยี่ยม) | Siam Bheasach |
Sobelin (โซเบลิน) | T.O. Chemicals |
Sovelium (โซเวเลี่ยม) | Medicine Products |
Vanid (แวนิด) | Unison |
Vertilium (เวอร์ทิเลี่ยม) | MacroPhar |
Zelium (เซเลี่ยม) | Masa Lab |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Flunarizine[2020,Aug22]
3. MIMS Pharmacy Guide THAILAND 6TH Edition 2006 page A 228
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=flunarizine[2020,Aug22]
5. http://circres.ahajournals.org/content/61/3/446.full.pdf[2020,Aug22]