ฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucloxacillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟลูคลอกซาซิลลิน (Flucloxacillin) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก (Gram positive bacteria) ได้ดี วงการแพทย์นำมาใช้รัก ษาการติดเชื้อของทางเดินหายใจ หู จมูก คอ การติดเชื้อที่ผิวหนังเช่น บาดแผล ฝี สิว หรือแม้แต่การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ/เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) การติดเชื้อที่กระดูกและที่ข้อต่างๆตามร่าง กาย การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง/เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อวัยวะในช่องทางเดินอาหาร การติดเชื้อในกระ แสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ การติดเชื้อที่ไต ถุงน้ำดีและช่องทางเดินปัสสาวะ

รูปแบบยาฟลูคลอกซาซิลลินในยาแผนปัจจุบันมีทั้งชนิดแคปซูล ยาเม็ด ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน และยาฉีด

จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาฟลูคลอกซาซิลลินในร่างกายพบว่า หลังจากยาเข้าสู่กระแสเลือด ก็จะรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 95% ตัวยายังสามารถผ่านไปกับน้ำนมมารดาได้อีกด้วย ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของยาอยู่ตลอดเวลา ร่างกายต้องใช้เวลาประ มาณ 1 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด

ยาฟลูคลอกซาซิลลินจัดเป็นยาอันตรายที่มีผลข้างเคียงข้อห้ามใช้หรืออาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยาในผู้ป่วยบางราย การใช้ยาที่ปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ ป่วยไม่สมควรซื้อหายานี้มารับประทานเอง

ยาฟลูคลอกซาซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟลูคลอกซาซิลลิน

ยาฟลูคลอกซาซิลลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสแตปฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ที่ดื้อต่อยาเบนซิลเพนิซิลลิน (Benzylpenicillin/Penicillin G) เช่น การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (เยื่อบุหัวใจอักเสบ), การติดเชื้อที่กระดูก(กระดูกอักเสบ)

ฟลูคลอกซาซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฟลูคลอกซาซิลลินคือ ตัวยาจะเข้าจับกับผนังเซลล์ของแบคทีเรียและยับยั้งการสังเคราะห์หรือการสร้างผนังเซลล์ดังกล่าว ส่งผลให้เซลล์แบคทีเรียแตกออกและตายลงในที่สุด

ฟลูคลอกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูคลอกซาซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 125 และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน ขนาด 125 มิลลิกรัม/ 5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดชนิดผง (ใช้ผสมสารละลายก่อนใช้ยา) ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัม/ขวด

ฟลูคลอกซาซิลลินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟลูคลอกซาซิลลินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 250 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 2 - 10 ปี: รับประทานครั้งละ 125 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง
  • เด็กอายุมากกว่า 10 ปี: ขนาดรับประทานเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ:

  • ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่างหรือรับประทานก่อนมื้ออาหาร ½ - 1 ชั่วโมง
  • ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูคลอกซาซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฟลูคลอกซาซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟลูคลอกซาซิลลินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ฟลูคลอกซาซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูคลอกซาซิลลินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่างๆ เช่น

  • อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยา
  • เกิดลมพิษ
  • มีไข้
  • ปวดข้อ
  • ผื่นคัน
  • เกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Haemolytic anaemia)
  • ไตอักเสบ
  • ตับอักเสบ
  • ตัวเหลือง
  • เกิดความผิดปกติของเลือดเมื่อ ตรวจเลือด ซีบีซี /CBC (เช่น เม็ดเลือดขาวต่ำ/Neutropenia และ เกล็ดเลือดต่ำ/Thrombocytopenia)
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการ
    • Stevens-Johnson syndrome
    • เกิดอาการทางสมอง (เช่น ทำให้เกิดการชัก)

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูคลอกซาซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟลูคลอกซาซิลลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้และที่แพ้ยากลุ่ม เพนิซิลลิน (Penicillin)
  • การใช้ยานี้เกินขนาดสามารถทำให้ไตทำงานหนักจนอาจเกิดไตวายเฉียบพลันหรืออาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ในกรณีที่ใช้ยานี้เป็นเวลานานๆระวังการดื้อยาของเชื้อโรคชนิดอื่นๆติดตามมา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ถึงแม้จะมีข้อมูลสนับสนุนจากการศึกษาว่าปลอดภัยเมื่อใช้กับหญิงตั้งครรภ์ก็ตาม การจะใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูคลอกซาซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูคลอกซาซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูคลอกซาซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาฟลูคลอกซาซิลลิน ร่วมกับ ยา Probenecid สามารถทำให้ฟลูคลอกซาซิลลินอยู่ในกระแสเลือดได้นานขึ้นและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ การจะใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยาฟลูคลอกซาซิลลิน ร่วมกับ ยา Warfarin สามารถเพิ่มระยะเวลาการแข็งตัวของเลือดได้ยาวนานขึ้นและเสี่ยงกับภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาฟลูคลอกซาซิลลิน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีตัวยา Ethinyl Estradiol เป็นองค์ ประกอบจะทำให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพลงไปและเสี่ยงกับการตั้งครรภ์ตามมา ระหว่างการใช้ยาร่วมกันควรต้องป้องกันการตั้งครรภ์โดยใช้วิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาฟลูคลอกซาซิลลิน ร่วมกับ ยาต่อต้านแบคทีเรียบางตั วเช่นยา Oxytetracycline, Tetracycline, Rolitetracycline, จะทำให้ฤทธิ์ของฟลูคลอกซาซิลลินด้อยประสิทธิภาพลงไปจึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาฟลูคลอกซาซิลลินอย่างไร?

ควนเก็บยาฟลูคลอกซาซิลลิน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • สำหรับยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมน้ำแล้วให้เก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟลูคลอกซาซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูคลอกซาซิลลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aofolin (อาฟูลิน) Bright Future
Fu Wei (ฟู่ เหวย) Haibin Pharm
Kun Bai (คุน ไบ) Tai Sheng Pharm
Kun Te (คุน เท) Hisun Pharm
Yifen (ยี่เฟน) Tai Sheng Pharm
NEOFLOX (นีโอฟลอกซ์) Neon Labs
Flucloxil (ฟลูคลอกซิล) CCM Duopharma BioTech
Flubex (ฟลูเบกซ์) Beximco
Flumed 500 (ฟลูเมด 500) Medicon Lab
Flumox (ฟลูมอกซ์) Zifam India
Evilox (อีวีลอกซ์) ACME
Fluclox (ฟลูคลอกซ์) Lloyd
Fluxin (ฟลูซิน) Shanxi Taisheng
Stafloxin (สแตฟลอกซิน) Westmont
Genaflox (เจนาฟลอกซ์) General Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Flucloxacillin [2020,Sept5]
  2. http://www.mims.com/Philippines/drug/search/?q=flucloxacillin [2020,Sept5]
  3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fflucloxacillin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Sept5]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fvietnam%2fdrug%2finfo%2fGenaflox%2f [2020,Sept5]
  5. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fMalaysia%2fDrug%2finfo%2fFlucloxil%2f [2020,Sept5]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00301 [2020,Sept5]