พิษจากยาซาลิซิเลต (Salicylate poisoning)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 15 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตเกิดขึ้นได้อย่างไร/มีสาเหตุมาจากอะไร?
- ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตมีกลุ่มเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงไหม?
- ผู้ป่วยที่เกิดพิษจากยาซาลิซิเลตจะมีอาการอย่างไรบ้าง?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตอย่างไร?
- รักษาภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตได้อย่างไร?
- ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
- การพยากรณ์โรคของภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตเป็นอย่างไร?
- ป้องกันภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแอสไพริน (Aspirin)
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
- ซาลิไซเลต (Salicylate)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
บทนำ
ยาจำพวกซาลิซิเลต/ซาลิไซเลต (Salicylate) เป็นยาที่มีการใช้มาอย่างยาวนานในการบรรเทาอาการปวด(ยาแก้ปวด) ลดไข้(ยาลดไข้) รวมถึงลดอาการอักเสบต่างๆ หากจะยกตัวอย่างยาที่พบได้บ่อยที่หลายคนจะรู้จักชื่อเป็นอย่างดี ก็ต้องพูดถึงยาแอสไพริน (Aspirin) ซึ่งเป็นหนึ่งในยารุ่นแรกๆของยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ที่มิใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) ยาแอสไพรินจัดเป็นยาจำพวกซาลิซิเลตชนิดหนึ่ง มีชื่อเต็มๆในทางเคมีว่า กรดอะซิทิลซาลิซิลิก (Acetylsalicylic Acid; ASA) นอกจากยาแอสไพรินแล้ว ยังมียาอื่นๆที่จัดเป็นยาจำพวกซาลิซิเลต เช่น ยาเมธิลซาลิซิเลต (Methyl salicylate) เป็นต้น
เนื่องจากยาแอสไพรินและยาในกลุ่มนี้มีการใช้มาอย่างยาวนานก่อนมีการพัฒนา ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ชนิดอื่นๆตามมา ประกอบกับยาชนิดนี้โดยส่วนใหญ่เป็นยาที่ผู้ป่วยสามารถซื้อหาได้ง่ายจากร้านขายยาทั่วไป จึงมีความเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ใช้ยาได้รับยานี้เกินขนาดเมื่อใช้ไม่ถูกวิธี โดยจะก่อให้เกิด “ภาวะพิษจากยาในกลุ่มซาลิซิเลต หรือ ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลต หรือ พิษจากซาลิซิเลต(Salicylate poisoning หรือ Salicylate toxicity) หรือบางท่านเรียกว่า “พิษจากแอสไพริน(Aspirin toxicity หรือ Aspirin poisoning)”
ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลต หรือการได้รับยาในกลุ่มนี้เกินขนาด จะส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อการทำงานของอวัยวะในร่างกายหลายส่วน เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงการทำงานของตับและของไต โดยผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการ หูอื้อ หายใจเร็ว หัวใจเต็นเร็ว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ร่วมกับอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากมีอาการในลักษณะเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจจะมีอาการวิตกกังวล เหงื่อออกมาก ร่วมกับการเห็นภาพหลอน เป็นต้น ดังนั้นหากพบเห็นผู้ที่ได้รับยาประเภทนี้/กลุ่มนี้เกินขนาด ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ในปัจจุบัน ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตลดลง เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นยาที่ได้รับความนิยมเหมือนดังแต่ก่อน มียาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ชนิดใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ยาในกลุ่มซาลิซิเลตออกมาในท้องตลาดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่ายาชนิดใดๆ ก็ควรใช้ตามคำแนะนำการใช้ยาจากฉลากยา (เอกสารกำกับยา) หรือคำสั่งของ แพทย์ เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตเกิดขึ้นได้อย่างไร/มีสาเหตุมาจากอะไร?
ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลต ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับยาในกลุ่มซาลิซิเลตเกินขนาด โดยส่วนมากมีสาเหตุมาจากยาแอสไพริน การได้รับยาเกินขนาดในครั้งเดียวจะทำให้เกิด “ภาวะพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute poisoning)” แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มจะเป็นการได้รับยานี้อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลานาน จนยานี้เกิดการสะสมในร่างกายมากขึ้นจนเกิดภาวะพิษจากยานี้ เรียกว่าเป็น “ภาวะพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic poisoning)”
การได้รับยาซาลิซิเลตเกินขนาดนั้น อาจเป็นได้ทั้งการจงใจของผู้ใช้ยาเอง หรือผู้ใช้ยาที่ไม่ทราบว่า ยาหลายชนิดที่รับประทานอยู่ด้วยกันมีตัวยาในกลุ่มซาลิซิเลตผสมอยู่ จึงทำให้เกิดพิษขึ้นได้ โดยส่วนมาก ภาวะพิษจะเกิดขึ้นในเด็กและในกลุ่มวัยรุ่น แต่ปัจจุบัน อุบัติการณ์การเกิดภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตนั้นลดลงมาก เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กแล้ว
ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตมีกลุ่มเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงไหม?
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดพิษจากยาซาลิซิเลตคือ “การได้รับยานี้เกินขนาด” ระดับยาที่เกินขนาดมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวและขนาดความสูงของผู้ป่วยด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยเด็กเล็กจึงมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะพิษชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ใหญ่
ผู้ป่วยที่เกิดพิษจากยาซาลิซิเลตจะมีอาการอย่างไรบ้าง?
ผู้ที่เกิดภาวะพิษจากยาซาลิซิเลต จะเริ่มจากอาการเพียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ได้ยินเสียงในหูหรือหูอื้อหรือหูแว่ว วิงเวียนศีรษะ หลังจากนั้น อาการอาจมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ร่างกายของผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น หายใจเร็ว เกิดภาวะเลือดเป็นด่างจากปอดทำงานผิดปกติ/หายใจเร็ว (Respiratory Alkalosis) ตามมาด้วยอาการเลือดเป็นกรดชนิดที่เรียกว่า Metabolic Acidosis ผู้ป่วยอาจเห็นภาพหลอน มึนงง สับสน หากมีอาการรุนแรงมาก อาจเกิดอาการชัก สมองบวม และเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะพิษนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary Edema)
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
หากพบว่า มีผู้ที่มีอาการดังกล่าวแล้วข้างต้นในหัวข้อ “อาการฯ” ควรรีบนำผู้ป่วยส่งไปรักษาที่สถานพยาบาล/โรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน หรือพบว่ามีผู้ที่ได้รับยาในกลุ่มนี้เกินขนาดทั้งที่โดยตั้งใจหรือมิใดตั้งใจ ก็ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเช่นกัน
แพทย์วินิจฉัยภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตอย่างไร?
เมื่อได้ส่งตัวผู้ป่วยให้พบแพทย์แล้ว แพทย์จะวินิจฉัยภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตได้โดย เบื้องต้น แพทย์จะสอบถาม/ซักถามประวัติการใช้ยาต่างๆของผู้ป่วย ทั้งยาที่ซื้อทานเองและยาที่ได้รับจากแพทย์ ดังนั้น การนำส่งผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษานั้น หากเป็นไปได้ ควรนำยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยใช้อยู่ไปด้วย แพทย์จะวินิจฉัยถึงชนิดของยา ปริมาณยาที่ได้รับ เวลาที่ได้รับยา หรือช่วงเวลาที่ได้รับยา ประกอบกับประวัติโรคประจำตัวอื่นๆของผู้ป่วย
หลังจากซักถามประวัติการใช้ยาและประวัติโรคประจำตัวต่างๆแล้วนั้น แพทย์อาจพิจารณาตรวจหาปริมาณกรดซาลิซิลิกในกระแสเลือด รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อ หาสารอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในเลือดเพื่อดูความเป็นกรด-ด่างของเลือด ดูค่าการทำงานของไต และตรวจวิเคราะห์ค่าก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในหลอดเลือดแดงเพื่อทดสอบภาวะความเป็นกรด-ด่าง นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เกิดภาวะพิษจากยาซาลิซิเลต ยังจะพบว่า ในเลือดจะมีปริมาณโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และกลูโคส/น้ำตาลในเลือดต่ำ
วิธีการทดสอบหาว่ามีกรดซาลิซิลิก(Salicylic acid)/สารซาลิซิเลตในปัสสาวะหรือไม่วิธีหนึ่งคือ การหยดสารเฟอร์ริกคลอไรด์ (Ferric Chloride) ลงในปัสสาวะ หากมีสารซาลิซิลิกในปัสสาวะ จะพบว่าปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็น “สีน้ำตาลอมม่วง” ซึ่งในภาวะปกติ จะไม่พบกรดซาลิซิลิกในปัสสาวะยกเว้นกรณีมีกรดชนิดนี้สูงในเลือด
รักษาภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตได้อย่างไร?
หากผู้ป่วยที่เข้ามาถึงโรงพยาบาลมีอาการที่รุนแรงหรือโคม่าจากภาวะพิษจากยาซาลิซิเลต แพทย์จะทำการกู้ชีพ (Resuscitation)ก่อน อาจใช้เครื่องช่วยหายใจแก่ผู้ป่วย หลังจากนั้นจะใช้ยาถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) ในการช่วยจับสารพิษต่างๆที่ตกค้างในระบบทางเดินอาหารที่ยังไม่ได้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
การรักษาอื่นที่ตามมา จะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้สารน้ำ หรือสารละลายโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) ทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยกำจัดสารซาลิซิเลตออกจากร่างกายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากหรือมีระดับของกรดซาลิซิลิกในเลือดสูงมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้การฟอกโลหิต(Hemodialysis)เพื่อช่วยกำจัดกรดซาลิซิลิกออกจากเลือด/ร่างกายก็ได้
การพิจารณาให้สารโพแทสเซียมทางหลอดเลือดดำ ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษา หากพบว่าระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
ภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตก่อผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียง(ภาวะแทรกซ้อน)ของภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตคือ ภาวะนี้จะส่งผลให้กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายผิดปกติไป โดยจะส่งผลกระทบต่อสมดุลของน้ำตาลกลูโคสในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำตาลในน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง(CSF)ต่ำที่เรียกว่า “Hypoglycorrhachia” ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการ สับสน กระวนกระวาย อยู่ในภาวะเพ้อ เห็นภาพหลอน ผู้ป่วยบางคนจะพบว่ามีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ (Hypoxia) ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจสนับสนุนการทำงานของระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะพิษของยาซิลิซิเลตส่วนใหญ่เกิดจากอาการปอดบวมน้ำ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจะประมาณ 1-25% ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ปริมาณของยาซาลิซิเลตที่สะสมอยู่ในร่างกาย/ในเลือด อายุ และสุขภาพเดิมของผู้ป่วยก่อนเกิดภาวะพิษนี้
การพยากรณ์โรคของภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของภาวะพิษจากยาซาลิซิเลต คือ
ผู้ป่วยที่เกิดภาวะพิษชนิดเฉียบพลัน มีอัตราการเกิดการเจ็บป่วย(Morbidity)จากการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆตามมาภายหลังเกิดภาวะพิษนี้ ร้อยละ 16(16%) แต่อัตราการเสียชีวิตจากภาวะพิษจะอยู่ในระดับต่ำ ประมาณร้อยละ 1(1%)
ส่วนผู้ป่วยที่เกิดภาวะพิษในลักษณะเรื้อรัง มีอัตรากาเกิดการเจ็บป่วยฯและอัตราตายที่สูงกว่า คือ อัตราการเกิดการเจ็บป่วยฯที่ร้อยละ30 (30%) และอัตรา ตายที่ร้อยละ 25 (25%)
อย่างไรก็ดี พบว่าอัตราการเกิดพิษจากยาซาลิซิเลตลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ป่วยนิยมใช้ยาพาราเซตามอลในการบรรเทาอาการปวด และลดไข้มากกว่ายาในกลุ่มซาลิซิเลต รวมถึงในประเทศไทยด้วย
ป้องกันภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตได้อย่างไร?
สามารถป้องกันภาวะพิษจากยาซาลิซิเลตได้ดังนี้ เช่น
1. หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มซาลิซิเลตในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเล็กและวัยรุ่น
2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิกในเด็กเล็กและกลุ่มวัยรุ่น
3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบรรเทาอาการปวด(ยาแก้ปวด) ยาแก้อักเสบ หลายชนิดร่วมกัน ยกเว้นตามที่แพทย์สั่งหรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกร เพื่อป้องกันการทานยาที่มีตัวยาซ้ำกัน ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงทำให้ยาต่างๆที่รวมถึงยาซาลิซิเลต สะสมในร่างกายจนเกิดพิษได้
4. ในกรณีที่ได้รับยาต่างๆจากสถานพยาบาลหลายแห่ง และไม่แน่ใจส่วนประกอบของยา ยาบางชนิดที่มีชื่อเรียกต่างกันอาจจัดเป็นยาในกลุ่มเดียวกันก็ได้ ผู้ใช้ยา/ผู้ป่วยควรสอบถามข้อมูลของยาต่างๆจากเภสัชกรขณะรับยานั้นๆ รวมถึงแจ้งประวัติการใช้ยาต่างๆของตัวเองแก่ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร
5. ในกรณีที่ต้องมีการใช้ยาในกลุ่มซาลิซิเลตอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และใช้ยานี้ให้ถูกต้อง เคร่งครัดตามคำสั่งแพทย์ รวมถึงการพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามแพทย์นัดด้วย
บรรณานุกรม
- Gerald F. O’Malley. Aspirin and Other Salicylate Poisoning. MSD Manual. http://www.msdmanuals.com/professional/injuries-poisoning/poisoning/aspirin-and-other-salicylate-poisoning[2017,April29]
- Muhammad Waseem, et al. Salicylate Toxicity. MedScape http://emedicine.medscape.com/article/1009987[2017,April29]
- Thisted, B; Krantz, T; Strøom, J; Sørensen, MB. Acute salicylate self-poisoning in 177 consecutive patients treated in ICU. Acta anaesthesiologica Scandinavica. 1987; 31(4): 312–6.