พิคลามิลาสท์ (Piclamilast)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- พิคลามิลาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พิคลามิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พิคลามิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พิคลามิลาสท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- พิคลามิลาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- ยาโบลแนนเซอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พิคลามิลาสท์อย่างไร?
- พิคลามิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพิคลามิลาสท์อย่างไร?
- พิคลามิลาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาบำบัดหย่อนสมรรถภาพเพศชาย: พีดีอี 5 อินฮิบิเตอร์ (PDE5 inhibitor: Phosphodiesterase type 5 inhibitor)
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคหืด (Asthma)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
ยาพิคลามิลาสท์(Piclamilast) เป็นยาในกลุ่มฟอสโฟไดเอสเทอเรส อินฮิบิเตอร์ (PDE4 inhibitor) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทางคลินิกนำมาใช้บำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(Chronic obstructive pulmonary disease) อาการจากการเจริญผิดปกติของหลอดลมและของเนื้อปอด(Bronchopulmonary dysplasia) และโรคหืด(Asthma) โดยตัวยานี้มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ที่มีชื่อว่า Phosphodiesterase 4 ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์ต่อกระบวนการอักเสบและต่อระบบภูมิต้านทาน/ภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ทำให้ลดสารคัดหลั่งจากถุงลมในปอด ร่วมกับลดการสะสมสารโปรตีนชนิดหนึ่งภายในปอดที่มีชื่อว่า “ไฟบริน(Fibrin)” ไฟบรินเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือดจนเกิดการอุดตันของหลอดเลือด ปัจจุบัน ยาพิคลามิลาสท์ ยังเป็นยาที่อยู่ในขั้นตอนศึกษาวิจัย และยังต้องเก็บรวบรวมข้อมูลทางคลินิกอีกมาก แม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้จักยาชนิดนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ก็จริง แต่ยาแผนปัจจุบันที่เป็นทางเลือกในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจได้ถูกพัฒนาขึ้นมาหลายรายการเช่นกัน มนุษย์จึงมีทางเลือกในการใช้ยาต่างๆเพื่อรักษาโรคทางเดินหายใจ และทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ กฎระเบียบของการจดสิทธิบัตรและการขึ้นทะเบียนยา ทุนทรัพย์ในการวิจัยพัฒนายา ความชุกของโรค การเข้าถึงของผู้บริโภคของบริษัทยา ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้ว มีผลต่อการผลิตเภสัชภัณฑ์ออกมาใช้ในระบบสาธารณสุขทั้งสิ้น
พิคลามิลาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาพิคลามิลาสท์ มีวัตถุประสงค์ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อบำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาการจากการเจริญผิดปกติของหลอดลมและของเนื้อปอด รวมถึงใช้รักษาอาการของโรคหืด
พิคลามิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
จากการศึกษาร่างกายของมนุษย์ในระดับเซลล์พบว่า ยาพิคลามิลาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับ เอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอเรส (Phosphodiesterase)ที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนสาร cAMP(Cyclic adenosine monophosphate) ไปเป็น สาร AMP (Adenosine monophosphate) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ไม่สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นกระบวนการทางชีวภาพในเซลล์ จากกลไกนี้ทำให้ปริมาณ cAMP ในเซลล์มีระดับเพิ่มขึ้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า cAMP ที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกดการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงเซลล์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะในบริเวณปอดและบริเวณหลอดลม จากกลไกที่ซับซ้อนเหล่านี้ จึงก่อให้เกิดที่มาของสรรพคุณ
พิคลามิลาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพิคลามิลาสท์ ยังอยู่ในกระบวนการค้นคว้าวิจัย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการกระจายของตัวยาในกระแสเลือด การทำลายตัวยาในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ยานี้ถูกนำมาใช้ในลักษณะของยาฉีดกับสัตว์ทดลอง และยังคงต้องรอ ข้อสรุปในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่เหมาะสมกับมนุษย์
พิคลามิลาสท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการใช้ยาพิคลามิลาสท์ที่แน่นอน ยังต้องรอการสรุปทางคลินิก ซึ่งต้องมีการทดลองใช้ยานี้กับกลุ่มอาสาสมัครและต้องรอการประกาศรับรองความปลอดภัยในอนาคต จากองค์การด้านการใช้ยาต่างๆในคน เช่น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพิคลามิลาสท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา อะไรอยู่ เพราะยาพิคลามิลาสท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
พิคลามิลาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาการ/ผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยาพิคลามิลาสท์ ยังรอการรวบรวมข้อสรุปทางคลินิก อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยาพิคลามิลาสท์สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการ อาเจียน กรณีที่พบว่า ยาชนิดใดก็ตามที่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจนเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์ ในการรักษาโรค ยาดังกล่าวอาจถูกระงับการวิจัยและกำหนดเป็นยาที่ห้ามใช้กับมนุษย์
มีข้อควรระวังการใช้พิคลามิลาสท์อย่างไร?
ข้อควรระวังของยาพิคลามิลาสท์ที่พอจะสรุปแบบครอบคลุมจะเหมือนกับยาชนิดอื่นๆ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้เกินจากคำสั่งแพทย์
- กรณีเกิดอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพิคลามิลาสท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พิคลามิลาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาพิคลามิลาสท์กับยาอื่นๆ ยังอยู่ในกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการศึกษษวิจัยทางคลินิก ด้วยขึ้นกับจำนวนอาสาสมัครที่จะเข้ารับการ ศึกษาทดลองการให้ยานี้ร่วมกันกับยาอื่นๆ โดยในชั้นต้นนี้ อาจจะสรุปเงื่อนไขของยาต่างๆที่ควรหลีกเลี่ยง หรือเป็นข้อห้ามใช้ร่วมกับยาพิคลามิลาสท์ เช่น กลุ่มยาที่ทำให้ระดับของยาพิคลามิลาสท์เพิ่มสูงขึ้นในร่างกาย แต่ขณะนี้ยังไม่พบมีรายงานถึงชนิดของยาต่างๆเหล่านั้น
ควรเก็บรักษาพิคลามิลาสท์อย่างไร?
วิธีเก็บรักษายาพิคลามิลาสท์ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเรื่องความคงตัวของผลิตภัณฑ์ยานี้ ที่ต้องมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง เพื่อใช้เป็นข้อสรุปของอายุการเก็บรักษา แต่ในช่วงที่ยังขาดคำแนะนำอย่างเป็นทางการ ให้เก็บยานี้ตามคำแนะนำของเภสัชกรที่กำกับดูแลการจ่ายยานี้
พิคลามิลาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพิคลามิลาสท์ ยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัย จึงยังไม่มีการผลิตเพื่อนำมาใช้ในทางคลินิก เราจึงพบเห็นยานี้เฉพาะจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ชื่อยา” Piclamilast” เท่านั้น
บรรณานุกรม
- https://fdasis.nlm.nih.gov/srs/unii/WM58D7C3ZT[2017,Sept9]
- https://link.springer.com/article/10.1007%2Fs00408-004-2518-z [2017,Sept9]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01791[2017,Sept9]