พาเจทเต้านม (Paget’s disease of breast)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคพาเจทเต้านม หรือ โรคพาเจทของเต้านม (Mammary Paget disease หรือ Paget disease of the breast) หรืออีกชื่อ คือ โรคพาเจทหัวนม(Paget disease of the nipple) คือ โรคมะเร็งเต้านมกลุ่มหนึ่งที่มีรอยโรคเกิดบริเวณใต้หัวนม โดยเซลล์มะเร็งมี ต้นกำเนิดจากท่อน้ำนมแล้วลุกลามออกมาที่หัวนมและ/หรือที่ลานหัวนม(Areola,ส่วนวงกลมสีคล้ำรอบๆหัวนม) ลักษณะรอยโรค/อาการเริ่มแรกจะเป็นคล้ายการอักเสบ/แผล/ผื่นเรื้อรังของหัวนมและ/หรือลานหัวนม ผู้ป่วยจะรู้สึกระคายเคืองและคันหัวนมและ/หรือลานหัวนมอย่างเรื้อรัง หัวนม/ลานหัวนมจะมีลักษณะเป็นสีแดง เป็นคราบ/ตกสะเก็ด และมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดออกจากแผล/ผื่น

พาเจทเต้านม/พาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม ประมาณมากกว่า 95%จะลุกลามเป็นมะเร็งเต้านมอย่างแท้จริง ดังนั้นในระยะแรกของโรคที่ตรวจพบ แพทย์จึงมักจัดให้พาเจทเต้านมอยู่ในกลุ่มมะเร็งเต้านมระยะศูนย์(มะเร็งระยะศูนย์: Stage0) และให้การรักษาเช่นเดียวกับการรักษามะเร็งเต้านมระยะศูนย์

พาเจทเต้านม/พาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม เป็นโรคพบน้อย ประมาณ 1-4%ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด มีรายงานพบได้ในช่วงอายุ 24-84 ปี แต่พบสูงในช่วงอายุ 53-59 ปี พบในผู้ชาย(มะเร็งเต้านมชาย)ประมาณ 1%ของในผู้หญิงเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมทั่วไป

หมายเหตุ:

  • โรคพาเจทเต้านม และ โรคพาเจทกระดูก(Paget disease of bone) เป็นคนละโรคที่ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย แต่เป็นโรคที่ถูกรายงานเป็นครั้งแรกโดยแพทย์คนๆเดียวกัน จึงได้ชื่อตามแพทย์ท่านนั้น คือ นพ. James Paget ศัลยแพทย์และพยาธิแพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งรายงานโรคพาเจทเต้านมในปี ค.ศ. 1874(พ.ศ. 2417) และรายงานโรคพาเจทกระดูกในปี ค.ศ. 1877(พ.ศ. 2420)
  • บางท่านเรียกโรคพาเจทเต้านมที่เกิดเฉพาะหัวนมว่า ‘Paget disease of nipple’

และเรียกพาเจทเต้านมที่เกิดกับ ลานหัวนม และ/หรือกับ หัวนมว่า ‘Paget disease of nipple-areola complex’

โรคพาเจ็ทของเต้านมเกิดจากอะไร?

พาเจทเต้านม

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดพาเจทเต้านม/โรคพาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์เชื่อว่าสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านม(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม) เพียงแต่เป็นมะเร็งเต้านมที่จุดเริ่มแรกอยู่ในส่วนใต้ต่อหัวนมและใต้ต่อลานหัวนมที่ทำให้เกิดมีการอักเสบเรื้อรังของหัวนมและ/หรือของผิวหนังที่ลานหัวนมนำมาก่อน

โรคพาเจ็ทของเต้านมมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคพาเจทเต้านม/พาเจ็ทของเต้านม/พาเจทหัวนม ได้แก่

  • หัวนมและ/ลานหัวนม มีอาการอักเสบเรื้อรัง แดง อาจรู้สึกระคายเคืองที่หัวนม ลานหัวนม และถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย อาจมีอาการเจ็บร่วมด้วยได้
  • ผิวหนังหัวนมและ/ลานหัวนม แตก ตกสะเก็ด อาจร่วมกับมีน้ำเหลืองเรื้อรังจากรอยแตก
  • มักมีเลือดออกที่รอยแตกของผิวหนังบริเวณรอยโรค
  • มีอาการคันเรื้อรังที่รอยโรค
  • อาจคลำพบก้อน-ก้อนเนื้อใต้หัวนม หรือใต้ลานหัวนม โดยมีรายงานพบมีก้อนเนื้อได้ประมาณ 50%
  • อาจคลำพบมีต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับรอยโรค แต่อาการนี้พบน้อย

*อนึ่ง: ถ้าคลำไม่พบมีก้อนเนื้อร่วมด้วย มักเป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะศูนย์(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม และเรื่อง มะเร็งระยะศูนย์) หรือ Ductal carcinoma in situ นิยมเรียกย่อว่า “DCIS” แต่ถ้าพบมีก้อนเนื้อ และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองรักแร้โต มักเป็นมะเร็งเต้านมระยะรุกราน ลุกลาม (Invasive ductal carcinoma) ที่ระยะโรคเป็นระยะที่ 1 ถึง ระยะที่4 เช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมทั่วไป (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม)

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อเกิดแผลเรื้อรังหรือมีอาการระคายเคือง หรือ คันเรื้อรังที่หัวนมและ/หรือที่ลานหัวนม ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายหลังการดูแลตนเองประมาณ 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ แต่ถ้าเกิดร่วมกับคลำได้ก้อนเนื้อที่ใต้หัวนมหรือใต้ลานหัวนม และ/หรือคลำได้ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอจนถึง สัปดาห์

แพทย์วินิจฉัยโรคพาเจ็ทของเต้านมอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยพาเจทเต้านม/โรคพาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม ได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง
    • การตรวจคลำเต้านม
    • การตรวจรอยโรคที่หัวนม/ลานหัวนม
    • การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองรักแร้ และต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • การตรวจภาพเต้านมด้วยการตรวจภาพรังสีเต้านม(Mammogram/แมมโมแกรม)
  • แต่การวินิจฉัยได้แน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

อนึ่ง เมื่อผลการตรวจทางพยาธิวิทยา พบเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อหาระยะโรคมะเร็งเต้านมซึ่งจะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งเต้านมทั่วไป เช่น

  • เอกซเรย์ปอดดูการแพร่กระจายของโรคมายังปอด
  • ตรวจอัลตราซาวด์ภาพตับเพื่อดูการแพร่กระจายของโรคสู่ตับ
  • ตรวจเลือด เช่น ซีบีซี /CBC ดูการทำงานของไขกระดูก, ดูการทำงานของตับ, ของไต เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม)
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น สะแกนกระดูกดูมะเร็งแพร่กระจายสู่กระดูก

รักษาโรคพาเจ็ทของเต้านมอย่างไร?

แนวทางการรักษาพาเจทเต้านม/โรคพาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม:

ก. กรณียังไม่พบเป็นเซลล์มะเร็งชัดเจน: แพทย์จะรักษาเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งเต้านมระยะศูนย์ เช่น

  • ผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้านม
  • หรือ การผ่าตัดเฉพาะหัวนม/ลานหัวนม อาจร่วมกับการฉายรังสีรักษาเต้านม

ข. กรณีเซลล์ของโรคพาเจทเต้านมเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว, หรือ มีก้อนเนื้อในเต้านม/ใต้หัวนมร่วมด้วย, หรือมีเซลล์ของพาเจทเต้านมลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองรักแร้, การจัดระยะโรค และ การรักษาจะเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งเต้านมทั่วไป (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม)

โรคพาเจ็ทของเต้านมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของ พาเจทเต้านม/พาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม จะเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมทั่วไป คือ ขึ้นกับในระยะโรคเป็นหลักทั้งในผู้หญิง(มะเร็งเต้านม)และในผู้ชาย(มะเร็งเต้านมชาย)

  • กรณียังไม่พบเป็นก้อนเนื้อ และ/หรือยังไม่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ แพทย์จะจัดโรคอยู่ในมะเร็งเต้านมระยะศูนย์ ซึ่งอัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 90-99%
  • กรณีพบเป็นก้อนเนื้อ และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ และ/หรือพบเซลล์ลุกลามเป็นเซลล์มะเร็ง ระยะโรค และการพยากรณ์โรคจะเช่นเดียวกับมะเร็งเต้านมทั่วไป คือ ระยะ1-ระยะ4 (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม, และเรื่อง มะเร็งเต้านมชาย)

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง ที่รวมถึงพาเจทเต้านม/โรคพาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม จะเช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในโรคมะเร็งทุกชนิดรวมถึงมะเร็งเต้านมทั่วไปที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะยาต้านฮอร์โมนที่แพทย์สั่ง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • มีแผล หรือคลำได้ก้อนในเต้านม หรือ ที่รักแร้, ที่เหนือกระดูกไหปลาร้า
    • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด(ในสตรี)จากการที่แพทย์ให้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนร่วมด้วย, คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

อนึ่ง: แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ เรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

ป้องกันโรคพาเจ็ทของเต้านมได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดพาเจทเต้านม/โรคพาเจทของเต้านม/พาเจทหัวนม ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ การพบโรคตั้งแต่ในระยะแรกๆที่ผลการรักษาจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการสังเกตความผิดปกติของ เต้านม หัวนม ลานหัวนม ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ต้องรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Karakas,C. (2011). J Carcinog. 10,31-39
  2. Lloyd,J., and Flanagan,A.(2000), J Clin Pathol.53, 742-749
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Paget%27s_disease_of_the_breast [2020,Nov21]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1101235-overview#showall [2020,Nov21]
  5. https://www.cancer.gov/types/breast/paget-breast-fact-sheet#how-is-paget-disease-of-the-breast-treated [2020,Nov21]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3263015/ [2020,Nov21]
  7. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/understanding-a-breast-cancer-diagnosis/breast-cancer-survival-rates.html [2020,Nov21]