พาร็อกซีทีน (Paroxetine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- พาร็อกซีทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- พาร็อกซีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พาร็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พาร็อกซีทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- พาร็อกซีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พาร็อกซีทีนอย่างไร?
- พาร็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพาร็อกซีทีนอย่างไร?
- พาร็อกซีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (PMDD / Premenstrual dysphoric disorder)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
บทนำ
ยาพาร็อกซีทีน (Paroxetine) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการของโรคซึมเศร้า (Antidepressant) จัดอยู่ในกลุ่มยา Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ.2535) นอกจากจะใช้เป็นยาต้านเศร้าแล้วยังมีสรรพคุณครอบคลุมรักษาอาการวิตกกังวล อาการตื่นตระหนก กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน การย้ำคิดย้ำทำ อาการผิดปกติหลังได้รับความสะเทือนใจ รวมถึงบำบัดอาการวัยหมดประจำเดือน
กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาร็อกซีทีนจะเกิดที่สมอง โดยยาพาร็อกซีทีนจะช่วยทำให้ฤทธิ์ของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Serotonin คงอยู่ได้นานขึ้น ด้วยการยับยั้งการดูดกลับของ Serotonin เข้าไปเก็บในเซลล์สมองนั่นเอง กลไกเหล่านี้ยังเกิดกับสารสื่อประสาทตัวอื่นได้เช่นเดียวกันอย่างสาร Norepinephrine และ Dopamine ก็จะถูกป้องกันมิให้ดูดเก็บกลับเข้าเซลล์สมองเช่นกัน
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาพาร็อกซีทีนจะเป็นลักษณะยารับประทาน และมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้เป็นอย่างดี เมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือด เอนไซม์ในตับจะคอยเปลี่ยนโครง สร้างของยาพาร็อกซีทีนอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 21 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ทั้งนี้มีกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในขอบข่ายต้องเฝ้าระวังก่อนการใช้ยาพาร็อกซีทีนอาทิเช่น
- กลุ่มผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น ด้วยการใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าอาจจะไปกระตุ้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง ทางคลินิกจึงยังไม่มีคำแนะนำชัดเจนในการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี
- ผู้ป่วยที่มีภาวะตับ-ไตทำงานผิดปกติด้วยส่งผลต่อการกำจัดยานี้ออกจากร่างกายทำได้น้อยลงจนอาจทำให้แสดงฤทธิ์ได้มากกว่าระดับของการรักษาหรือเกิดพิษต่อร่างกายติดตามมา
- ห้ามใช้ยาพาร็อกซีทีนกับผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม MAOIs ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome กับผู้ป่วยที่ใช้ยาร่วมกัน
- สตรีตั้งครรภ์ด้วยตัวยานี้สามารถส่งผลกระทบต่อการสร้างหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจทารกในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
- สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรด้วยยานี้สามารถซึมผ่านน้ำนมของมารดาและเข้าสู่ตัวทารกได้
นอกจากนี้ยาพาร็อกซีทีนยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ได้เช่นเดียวกับยาอื่นๆเช่น ทำให้การมองเห็นภาพเปลี่ยนไป อ่อนเพลีย วิงเวียน เป็นต้น
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาพาร็อกซีทีนอยู่ในหมวดยาอันตราย และการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
อนึ่งยาชื่อการค้าของยาในประเทศอื่นเช่น Paxil, Seroxat, Brisdelle, Paxil, Paxil CR, Pexeva
พาร็อกซีทีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาพาร็อกซีทีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดรักษาอาการโรคซึมเศร้า (Depression)
- รักษาอาการวิตกกังวลต่อการเข้าสังคม (Social anxiety disorder)
- รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder)
- บำบัดอาการตื่นตระหนก (Panic disorder)
- บำบัดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual dysphoric disorder)
- บำบัดอาการเครียดจากเหตุสะเทือนใจ (Post traumatic stress disorder)
- บำบัดอาการวิตกกังวล (Generalized anxiety disorder)
- บำบัดอาการในสตรีวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal symptoms)
พาร็อกซีทีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาพาร็อกซีทีนคือ ตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทชื่อ ซีโรโทนิน (Serotonin) เข้าสู่เซลล์สมองซึ่งเป็นกลไกเกิดขึ้นที่สมอง มีผลให้ระดับสารซีโรโทนินเพิ่มมากขึ้นในเนื้อเยื่อสมองและเกิดสมดุลทางเคมีของสารสื่อประสาท จากกลไกดังกล่าวทำให้เกิดฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
พาร็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพาร็อกซีทีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10, 20, 30 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
พาร็อกซีทีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาพาร็อกซีทีนในบางอาการ/โรคดังนี้
ก. สำหรับรักษาอาการโรคซึมเศร้า:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละครั้งหลังอาหารเช้า ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 20 - 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง
ข. สำหรับรักษาอาการตื่นตระหนก:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 10 มิลลิกรัมวันละครั้งหลังอาหารเช้า ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 10 - 40 มิลลิกรัมวันละครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัมวันละครั้ง
ค. สำหรับบำบัดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานขนาด 12.5 มิลลิกรัมวันละครั้งหลังอาหารเช้าในช่วงที่มีรอบเดือน/ประจำเดือน ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 25 มิลลิกรัมวันละครั้ง
*อนึ่ง ในเด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ขนาดการใช้ยานี้จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาพาร็อกซีทีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาพาร็อกซีทีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาพาร็อกซีทีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามถึงแม้ยาในกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ของการเสพติดก็จริง แต่ถ้าหยุดการใช้ยาเองหรือ ลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้งก็สามารถก่อให้เกิดอาการถอนยาได้ (Withdrawal-like symtoms) ซึ่งมักจะพบอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนเช่น มีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ วิงเวียน หรือมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
พาร็อกซีทีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพาร็อกซีทีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ง่วงนอน ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ วิงเวียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีภาวะตัวสั่น ตาพร่า ขาดสมาธิ หลอดเลือดทั่วร่างกายเกิดการขยายตัวอาจส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ ฝันร้าย วิตกกังวล ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน เบื่ออาหาร มีกรดมากในกระเพาะอาหาร แสบร้อนกลางอก สมรรถภาพทางเพศถดถอย ปวดกระบอกตา/เบ้าตา ปัสสาวะขัด แน่นจมูก/คัดจมูก รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
*อนึ่งสำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบอาการมีไข้ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงไป หัวใจ เต้นเร็ว มีอาการวิตกกังวล ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้พาร็อกซีทีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพาร็อกซีทีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาพาร็อกซีทีน
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับโรคไตระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะถอนยา
- การใช้ยานี้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยญาติควรเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการอยากทำร้ายตนเองว่าเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
- หากหลังใช้ยานี้แล้วผู้ป่วยมีอาการทรุดลงหรือการรักษาไม่ก่อให้เกิดผลดีเพิ่มขึ้นเลย ควรต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆหรือทำงานกับเครื่องจักรด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากผลข้างเคียงของยาที่ทำให้ง่วงนอนและวิงเวียน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาพาร็อกซีทีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
พาร็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพาร็อกซีทีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาร็อกซีทีนร่วมกับยา 5-Hydroxytryptophan, Ergotamine, Dextrome thorphan ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome โดยจะทำให้มีอาการสับสน ประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า กล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจเข้าขั้นโคม่าและเสียชีวิต (ตาย) ในที่สุด
- ห้ามใช้ยาพาร็อกซีทีนร่วมกับยา Pimozide ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการแน่นหน้าอก ตาพร่า และคลื่นไส้ตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาพาร็อกซีทีนร่วมกับยา Carbinoxamine (ยาแก้แพ้) เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ
- การใช้ยาพาร็อกซีทีนร่วมกับยา Bupropion อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลมชัก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาพาร็อกซีทีนอย่างไร?
ควรเก็บยาพาร็อกซีทีนในอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
พาร็อกซีทีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพาร็อกซีทีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Seroxat/Seroxat CR (ซีโรแซท/ซีโรแซท ซีอาร์) | GlaxoSmithKline |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Paroxetine [2016,Jan30]
- http://www.drugs.com/paroxetine.html [2016,Jan30]
- http://www.drugs.com/pregnancy/paroxetine.html [2016,Jan30]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Seroxat/?type=full#Dosage [2016,Jan30]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Paroxetine [2016,Jan30]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/paroxetine.html [2016,Jan30]