พายุไซโตไคน์จากโควิด-19 (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 16 พฤษภาคม 2563
- Tweet
นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์ คลินิกอายุรกรรมโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤติทางเดินหายใจ ได้เปิดเผยถึงประสบการณ์รักษาผู้ป่วยวัย 60 ปี ที่ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19' จากสนามมวยจนหายว่า
ผู้ป่วยเป็นคนไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว แต่หลังจากโฆษกสนามมวยได้ออกมาประกาศถึงการติดโควิด-19 ผู้ป่วยจึงมาเข้ารับการตรวจ เพราะผู้ป่วยไปสนามมวยในวันเดียวกันแต่อยู่แถวหลัง ผลการตรวจจากห้องแล็บยืนยันว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลทันที
นพ.วินัย กล่าวถึงอาการของลุงวัย 60 ปีที่ป่วยโควิด-19 ว่า ใน 7 วันแรก ไม่มีอาการใด ลุงสบายดีมาก ผลตรวจร่างกายปกติดี และให้การรักษาตามมาตรฐานยาที่ควรได้ในทุกวัน ต่อมาในวันที่ 8 ลุงสบายดีเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่มีไข้ แต่ผลตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่าบริเวณปอดขวาล่างมีฝ้าเล็กๆ จึงเพิ่มยารักษาปอดติดเชื้อจากโควิด-19
หลังเชื้อโควิด-19 เริ่มบุกเข้าปอด แต่ลุงวัย 60 กลับไม่รู้สึกกังวลอะไร และในใจไม่เชื่อด้วยซ้ำ เพราะลุงเห็นสุขภาพของตัวเองปกติดีมากว่า 7 วันแล้ว กระทั่งเข้าสู่วันที่ 10 ในตอนเช้ามืด ขณะที่ลุงลุกเดินเข้าห้องน้ำ เริ่มสังเกตว่าเหนื่อยมากขึ้นผิดปกติ จึงรีบแจ้งพยาบาลและแพทย์ จึงตรวจพบค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดลดต่ำลงเหลือ 92% ผลเอกซเรย์ปอดพบฝ้าขาวกระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง
ซึ่ง นพ.วินัย กล่าวว่า เป็นการกระจายที่รวดเร็วมาก ลุงถูกนำตัวเข้ารักษาใน “ห้องความดันลบ” หรือ ห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure ซึ่งเป็นห้องพักสำหรับผู้ป่วยแบบแยกเดี่ยวทันที ในวันรุ่งขึ้นเอกซเรย์อีกครั้งพบปอดติดเชื้อและปอดอักเสบกระจายมากขึ้นเกือบทั้งหมดของปอดสองข้าง
นับตั้งแต่ลุงเข้ารับการรักษาในห้องความดันลบ นพ.วินัย เปิดเผยว่า ในแต่ละวันไม่มีความมั่นใจว่าลุงจะผ่านไปได้แค่ไหน ต้องลุ้นอาการและสู้ไปด้วยกันวันต่อวัน โดยแก้ปัญหาตามคาดการณ์ แต่ลุงมีหัวใจที่แข็งแกร่ง ต่อสู้ และอดทนอย่างมากกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสารโปรตีนไซโตไคน์ (Cytokine) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายของลุงเข้าไปต่อต้านและต่อสู้เพื่อทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยการที่จะเอาชนะไวรัสโควิด-19 นั้น ร่างกายของลุงจะต้องทรมานกับการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย หรือภาวะอักเสบรุนแรงในร่างกายจากภาวะที่เรียกว่า “พายุไซโตไคน์” (Cytokines storm) ที่สร้างสารโปรตีนไซโตไคน์มากเกินไป
สำหรับการรักษาเพื่อให้ลุงหายป่วยโควิด-19 ในทุกๆ วัน นพ.วินัย และลูกสาวของลุงต่างช่วยกันสวดมนต์ภาวนาให้ผ่านไปได้ด้วยดี ขอให้สภาพร่างกายของลุงอดทนต่อภาวะอักเสบรุนแรงในร่างกาย
เพราะถึงแม้ทีมแพทย์จะให้ยาอย่างสุดความสามารถ แต่สุดท้ายแล้วการที่ลุงจะหายป่วยโควิด-19 ได้ขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายด้วยว่าจะสามารถทนความทรมานและผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องด้วยการจะหายป่วยจากโควิด-19 ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ยารักษา ปริมาณเชื้อโควิด และภูมิต้านทานของผู้ป่วย
แหล่งข้อมูล:
- 2 วันลุกลามปอด พ่อวัย 60 รอดปาฏิหาริย์ ติดเชื้อที่เดียวกับแมทธิว ลูกสาวแจงข้อดีโควิด. https://www.thairath.co.th/scoop/1832553[2020, May 15].