พานิทูมูแมบ (Panitumumab)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- พานิทูมูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พานิทูมูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พานิทูมูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พานิทูมูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาพานิทูมูแมบ?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- พานิทูมูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พานิทูมูแมบอย่างไร?
- พานิทูมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพานิทูมูแมบอย่างไร?
- พานิทูมูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
บทนำ
ยาพานิทูมูแมบ(Panitumumab ชื่อเดิมคือ ABX-EGF) จัดอยู่ในยาประเภทโมโนโคลนอลแอนตีบอดี(Monoclonal Antibodies) เป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งลำไส้ใหญ่(Colorectal Cancer)ในระยะแพร่กระจาย ตัวยามีการออกฤทธิ์ยับยั้งการการส่งสัญญาณของสารโปรตีนบนตัวรับ(Receptor)ที่ผิวเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Epidermal growth factor receptor ทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่หยุดการแบ่งตัว รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด แบบสารละลายปราศจากเชื้อ และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ยาวนานเกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ป่วยต้องมารับยานี้ตามคำสั่งแพทย์เช่น ทุก 14 วัน ในช่วงเริ่มต้น แพทย์จะใช้ยานี้ที่ขนาดต่ำๆก่อน หากไม่พบอาการแพ้ยาจึงจะปรับขนาดการใช้ยานี้เพิ่มขึ้น
ยาพานิทูมูแมบ ไม่เหมาะที่จะใช้ร่วมกับยารักษาจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งชนิดอื่นๆ โดยมีกรณีตัวอย่างการใช้ยาพานิทูมูแมบ ร่วมกับยา Bevacizumab พบว่าเกิดผลข้างเคียงต่างๆตามมาอย่างมากมาย เช่น มีผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ เกิดสิว ท้องเสียจนร่างกายมีภาวะเสียน้ำ และยังทำให้อาการผู้ป่วยทรุดลงเป็นลำดับอีกด้วย
นอกจากนี้ ทางคลินิกยังมีข้อระวังและคำเตือนต่างๆที่แพทย์และผู้ป่วยต้องเฝ้าติดตามอย่างสม่ำเสมอกรณีใช้ยาพานิทูมูแมบ ดังนี้
- ยาพานิทูมูแมบเป็นยารักษาตรงเป้า ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วของเซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดผลกระทบต่อเซลล์ปกติชนิดที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเซลล์ผิวหนัง จึงทำให้ผู้ที่ได้รับยานี้ มีภาวะผื่นผิวหนังอักเสบได้ง่าย
- เฝ้าระวังการเกิดพังผืดในปอดของผู้ป่วย อาการที่สังเกตได้ง่ายคือมีอาการหอบ เกิดขึ้น
- ระวังภาวะเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ(Hypomagnesemia) ซึ่งอาจเกิดขึ้น หลังจากได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ(Hypocalcemia)ร่วมด้วย ทั่วไป แพทย์จะเฝ้าติดตามระดับอิเล็กโทรไลท์(สมดุลเกลือแร่/ Electrolyte)ของผู้ป่วยจนกระทั่งการใช้ยาครั้งสุดท้ายไปแล้วอีก 8 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง
- ระหว่างที่ได้รับยานี้ ผิวหนังของผุ้ป่วยจะมีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น หากทำได้ ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังมีการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
- ห้ามใช้พานิทูมูแมบกับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ด้วยทางคลินิก ยังไม่มีการประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยของการใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยาพานิทูมูแมบเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่ผู้เดียว และจะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น อนึ่ง หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ สามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือ จากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้
พานิทูมูแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาพานิทูมูแมบ เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)
พานิทูมูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาพานิทูมูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์เป็นยารักษาตรงเป้า ที่ออกฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่โดยตรง ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า Epidermal growth factor receptor(EGFR)ของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตัวรับชนิดนี้จะคอยส่งสัญญานกระตุ้นกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ยาพานิทูมูแมบทำหน้าที่ปิดกั้นกลไกดังกล่าว เป็นผลให้การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งหยุดชะงัก จึงช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นเป็นลำดับไป
พานิทูมูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพานิทูมูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดประเภทสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Panitumumab ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร, 200 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร, และ 400 มิลลิกรัม/20 มิลลิลิตร
พานิทูมูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยา/การบริหารยาพานิทูมูแมบกับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ น้ำหนักตัวของผู้ป่วย อายุ รวมถึงประวัติการเจ็บป่วย และโรคประจำตัวต่างๆ ระหว่างที่ได้รับยาพานิทูมูแมบแล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว อาการดังกล่าว ได้แก่
- แน่นอึดอัด/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีอาการหอบหืด เกิดขึ้น หรือเป็นไข้หนาวสั่น
- คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
- อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
- ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
- ไม่มีแรง หรืออ่อนเพลีย อย่างรุนแรง
- มีอาการมือ-เท้าบวม
- เกิดผื่นคันทั่วร่างกาย
- ระคายเคืองตาอย่างรุนแรง
ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับยาพานิทูมูแมบ?
ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาพานิทูมูแมบดังนี้ เช่น
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน หรือเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาบรรเทาอาการ/ยาแก้คลื่นไส้ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามไปซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง และ ผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งขึ้นเพื่อลดอาการคลื่นไส้ดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัด เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้งให้สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายอย่างมิดชิด หรือทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพานิทูมูแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/ หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคปอด โรคผิวหนัง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพานิทูมูแมบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาพานิทูมูแมบตรงเวลา หากลืมมารับการฉีดยาฯ ต้องรีบแจ้งให้แพทย์/บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทราบ และทำการนัดหมายการให้ยานี้โดยเร็ว
พานิทูมูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพานิทูมูแมบอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดอาการไอ หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ มีอาการตัวบวม หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน เกิดสิว ผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวหนังลอกเป็นสะเก็ด ผิวแห้ง มีรอยแตกบนผิวหนัง ขอบเล็บอักเสบ
- ผลต่อตา: เช่น ขนตายาวเร็วผิดปกติ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง มีเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง แคลเซียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง
- ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ
มีข้อควรระวังการใช้พานิทูมูแมบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพานิทูมูแมบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามฉีดวัคซีนใดๆขณะได้รับยานี้
- หากพบอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่า อาจเกิดอาการแพ้ยานี้ และต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกายจากแพทย์ ตรวจภาวะแทรกซ้อน และรับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพานิทูมูแมบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พานิทูมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพานิทูมูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาพานิทูมูแมบร่วมกับยา Amiodarone, Ziprasidone เพราะจะทำให้มีความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามใช้ยาพานิทูมูแมบร่วมกับ ยาBevacizumab ด้วยมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆมากยิ่งขึ้นจากยาทั้ง2ตัว เช่น มีผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ ท้องเสียและยังทำให้ประสิทธิผลของการรักษาด้อยลง
- ห้ามใช้ยาพานิทูมูแมบร่วมกับ ยาOxaliplatin(ยาเคมีบำบัด) ด้วยจะทำให้อาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ กำเริบเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตลดลง
- ห้ามใช้ยาพานิทูมูแมบร่วมกับ ยาLansoprazole เพราะจะทำให้มีภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาพานิทูมูแมบอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาพานิทูมูแมบ ดังนี้ เช่น
- เก็บยาในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และ
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
พานิทูมูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพานิทูมูแมบมี ยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Vectibix (เวกทิบิก) | Amgen |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/125147s080lbl.pdf [2018,Aug4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Panitumumab [2018,Aug4]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Panitumumab.aspx [2018,Aug4]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/vectibix/?type=brief [2018,Aug4]
- www.youtube.com/watch?v=ObrsQl-vPA4 [2018,Aug4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/panitumumab-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Aug4]