พาคลิแทคเซล (Paclitaxel)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 กันยายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- พาคลิแทคเซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- พาคลิแทคเซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- พาคลิแทคเซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- พาคลิแทคเซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับพาคลิแทคเซล?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- พาคลิแทคเซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้พาคลิแทคเซลอย่างไร?
- พาคลิแทคเซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาพาคลิแทคเซลอย่างไร?
- พาคลิแทคเซลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สัญลักษณ์โรคมะเร็ง (Symbol of cancer)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งคาโปซิ คาโปซิซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล หรือ เอเอ็นแอลแอล (Acute Myelogenous Leukemia : AML หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia : ANLL)
บทนำ
ยาพาคลิแทคเซล หรือ แพคลิแทคเซล (Paclitaxel ย่อว่า PTX หรือ Pac)เป็นยาเคมีบำบัด(Chemotherapy)ประเภทแอลคาลอยด์ ที่สกัดได้จากเปลือกของต้นยู(Bark from the Pacific yew, พืชในกลุ่มทุเรียนเทศหรือทุเรียนน้ำ) ทางคลินิกนำมาใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาพาคลิแทคเซล เป็นสารละลายปราศจากเชื้อ แบบฉีด ตัวยามีระยะเวลาของการเสื่อมสลายภายในร่างกายยาวนานเฉลี่ย 5.8 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องมารับการให้ยาทุกๆ 3 สัปดาห์ จนกระทั่งครบเทอมของการรักษา ปกติการรักษามะเร็งมักจะใช้ยารักษามะเร็งตัวอื่น เช่นยา Cisplatin , Carboplatin, หรือ Trastuzumab ร่วมในการรักษาพร้อมกับยาพาคลิแทคเซล
ระหว่างที่ได้รับยาพาคลิแทคเซล ยังมีข้อควรระวังและคำเตือนต่างๆที่ต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอ เช่น
- ยาพาคลิแทคเซล สามารถกดการสร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ไขกระดูกได้ชั่วคราว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกง่ายเพิ่มขึ้น
- มีอาการปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นชั่วคราว 2-3 วันหลังจากได้รับยาพาคลิแทคเซล แต่อาการเหล่านี้มักจะหายได้เองภายในไม่กี่วัน
- เกิดอาการทางระบบประสาทส่วนปลาย เช่น ชามือและเท้า ซึ่งอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงภายในเวลาต่อมา
- ผมร่วง ซึ่งเราจะพบเห็นได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดทุกชนิดรวมถึงยาพาคลิแทคเซล แต่การงอกของเส้นผมจะกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยาพาคลิแทคเซล
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เกิดแผลในช่องปาก ทั่วไปจะไม่ค่อยรุนแรงเท่าใดนัก และสามารถหายได้เอง
- หากมีอาการบวมที่เท้า-ข้อเท้า หรือมีภาวะบวมน้ำ เกิดผื่นคัน อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องรีบให้แพทย์ตรวจประเมินอาการของร่างกายเพิ่มเติมว่า มีภาวะแพ้ยา หรืออาการแทรกซ้อนอื่นใดร่วมด้วยหรือไม่
- ยาพาคลิแทคเซลสามารถทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อการทำงานของตับได้เหมือนกับยารักษามะเร็งต่างๆ แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจการทำงานของตับเป็นระยะๆตลอดการรักษาด้วยยาชนิดนี้
- อาการความดันโลหิตต่ำสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงประมาณ 3 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับยาพาคลิแทคเซลเข้าทางหลอดเลือด ผู้ป่วยจะต้องนอนพักเพื่อดูอาการจนกระทั่ง ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติเสียก่อน แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้
- มีอาการหมองคล้ำของผิวหนัง ซึ่งเคยเกิดจากการทำรังสีรักษาก่อนที่จะได้รับตัวยาพาคลิแทคเซล อาการนี้จะค่อยๆทุเลาลงเมื่อหยุดใช้ยานี้
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงข้างต้นอาจจะเกิดขึ้นไม่เกิน 10% จากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้ อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลผู้ดูแลรักษาห้ทราบ เพื่อขอคำแนะนำและเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาได้ทันเวลา
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ยาพาคลิแทคเซลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลด้านโรคมมะเร็งควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย และคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยาพาคลิแทคเซลเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่ผู้เดียว เราจึงพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาพาคลิแทคเซล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้
พาคลิแทคเซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาพาคลิแทคเซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาหรือเป็นยาสนับสนุนการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต
พาคลิแทคเซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาพาคลิแทคเซล มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไมโครทิวบูล(Antimicrotubule agents)ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การยับยั้งโครงสร้างดังกล่าว ส่งผลให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถขยายขนาด หยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด
พาคลิแทคเซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาพาคลิแทคเซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Paclitaxel ขนาด 100 มิลลิกรัม/17 มิลลิลิตร, 260 มิลลิกรัม/43.4 มิลลิลิตร 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตรม, 300 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
พาคลิแทคเซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาพาคลิแทคเซลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ น้ำหนักตัวของร่างกายผู้ป่วย รวมถึงอายุ และประวัติการเจ็บป่วย หรือโรคประจำตัวต่างๆ แพทย์อาจใช้ยา Cisplatin หรือ Carboplatin มาเป็นยาร่วมสนับสนุนการรักษามะเร็งให้หายเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตามระหว่างที่ได้รับยาพาคลิแทคเซล แล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น
- มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเป็นไข้หนาวสั่น
- อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และ/หรือมีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น
- เจ็บปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยามาก
- คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
- อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
- ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
- อุจจาระมีสีดำคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด
- มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- เกิดแผลในช่องปากและคอ
- มีภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
- เกิดอาการ ตัวเหลืองตาเหลือง
- บวมตามเท้า ข้อเท้า หรือมีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีอาการคล้ายกับภาวะติดเชื้อ เช่น เกิดอาการไอ เจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ
ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับพาคลิแทคเซล?
การดูแลตนเองขณะได้รับ ยาพาคลิแทคเซล ที่สำคัญ มีดังนี้
- ยาชนิดนี้/ยานี้อาจทำให้รู้สึก วิงเวียน หรือง่วงซึม ขณะเกิดอาการดังกล่าวห้ามผู้ป่วยทำงานกับเครื่องจักรกลหรือขับขี่ยานพาหนะต่างๆด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- เพื่อช่วยป้องกันการเกิดแผลในช่องปาก ให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม และกลั้วคอวันละประมาณ 3ครั้งด้วยน้ำเกลือที่ผสมเองโดยใช้เกลือแกงครึ่ง-หนึ่งช้อนชาผสมกับ น้ำเปล่าสะอาด 240 ซีซี
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน หรือเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
- ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
- หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้/ยาแก้คลื่นไส้ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง และผู้ป่วยสามารถ ปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆแต่บ่อยครั้งขึ้นเพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ ดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็น แผลเลือดออก
- ยาพาคลิแทคเซลสามารถทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง จึงควรสวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดดให้มิดชิด หรือทาผิวด้วยครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่ แพทย์/พยาบาลแนะนำ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพาคลิแทคเซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ มีภาวะเลือดออกง่าย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพาคลิแทคเซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาพาคลิแทคเซลตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย หากลืมมารับการฉีดยา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/บุคคลกรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยทราบ และทำการนัดหมายการให้ยาครั้งต่อไปโดยเร็ว
พาคลิแทคเซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาพาคลิแทคเซลเป็นยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งชนิดมีการแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยารักษาตรงเป้าจึงทำให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อเซลล์ปกติที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้ตัวยาพาคลิแทคเซลล์สร้างผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดภาวะปอดบวม มีพังผืดในปอด การหายใจล้มเหลว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดพิษต่อระบบประสาท เช่น มีอาการวิงเวียน ชาตามมือและเท้า
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตัน มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่เรียกว่า Pseudomembranous colitis
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง มีผื่นคัน ผิวคล้ำขึ้น อาจมีลมพิษ หรือผิวหนังบวม
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ
- ผลต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่น: เช่น อาจทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด Acute myeloid leukemia
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก โลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน
อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล
มีข้อควรระวังการใช้พาคลิแทคเซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาพาคลิแทคเซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำกว่า 1,500 เซลล์/ลบ.มม.
- ขณะที่ได้รับยานี้ ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- หากพบอาการ อึดอัดหายใจไม่ออก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่า เกิดอาการแพ้ยา และต้องให้แพทย์รีบช่วยเหลือโดยเร็ว
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรอย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์รวมถึงการตรวจหาภาวะแทรก ซ้อนต่างๆ และรับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพาคลิแทคเซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
พาคลิแทคเซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาพาคลิแทคเซล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาพาคลิแทคเซลร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น
- ห้ามใช้ยาพาคลิแทคเซลร่วมกับ ยาClozapine เพราะทำให้เกิดภาวะกดไขกระดูก สูงขึ้นจนเป็นเหตุให้มีระดับเม็ดเลือดชนิดต่างๆต่ำลง
- การใช้ยาพาคลิแทคเซล ร่วมกับยา Amprenavir , Telaprevir จะทำให้ระดับยาพาคลิแทคเซลในเลือดเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมาสูงขึ้นจากยาพาคลิแทคเซล กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาพาคลิแทคเซลอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาพาคลิแทคเซลดังนี้ เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
พาคลิแทคเซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาพาคลิแทคเซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Intaxel (อินแทคเซล) | Fresenius Kabi |
Paclitero (พาคลิเทโร) | Camber |
Paxoll (พาซอล) | Venus Remedies |
Sindaxel (ซินดาเซล) | SC Sindan |
อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Taxol, Onxol
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020262s049lbl.pdf [2018,aug18]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Paclitaxel.aspx [2018,aug18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Paclitaxel [2018,aug18]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/intaxel/?type=brief [2018,aug18]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/paclitaxel/?type=brief&mtype=generic [2018,aug18]
- https://www.drugs.com/sfx/paclitaxel-side-effects.html [2018,aug18]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/paclitaxel-index.html?filter=3&generic_only= [2018,aug18]