พังผืดที่จอตา (Epiretinal membrane)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

พังผืดที่จอตา (Epiretinal membrane หรือ Macular pucker) เป็นภาวะที่มีพังผืดชนิดที่ปราศจากหลอดเลือดเกิดขึ้นบนชั้นผิวของจอตา พังผืดนี้อาจมีการขยายตัวดึงรั้งจอตาใกล้ เคียงโดยเฉพาะบริเวณจอตาส่วนกลางหรือจุดภาพชัด (Macula) จึงทำให้การมองเห็นผิดปกติไป

ลักษณะของพังผืดเป็นแผ่นค่อนข้างใสหรือขุ่นมัวเล็กน้อย อาจไม่มีสีหรือมีสีจางๆอยู่บนผิวจอตาโดยเฉพาะบริเวณใกล้ๆ Macula มักจะพบภาวะนี้ร่วมกับมีการหลุดลอกของน้ำวุ้นตาส่วนหลัง (Posterior vitreous detachment) กล่าวคือในคนปกติ น้ำวุ้นตาซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำใส หนืดๆ คล้ายไข่ขาวจะวางติดแนบอยู่กับผิวจอตา เมื่อเวลาผ่านไป สูงอายุขึ้น ส่วนหลังของน้ำวุ้นจะหลุดจากผิวจอตาเกิดเป็นช่องว่าง ก่อให้เกิดการสร้างเซลล์ที่เป็นพังผืดยื่นมาจากผิวจอตาจึงเกิดเป็นพังผืดขึ้น เซลล์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีลักษณะยืดหยุ่นได้ ถ้าเกิดมีการหดตัวจะทำให้ผิวจอตาบริเวณใกล้เคียงไม่เรียบ เกิดเป็นรอยย่นหรือเป็นจีบขึ้น เป็นเหตุให้การมองเห็นภาพผิด เพี้ยนไป

พังผืดที่จอตามีอาการอย่างไร?

พังผืดที่จอตา

ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการอะไรเลยในรายที่เป็นพังผืดที่จอตาน้อยๆ แต่แพทย์ตรวจพบโดยบังเอิญ ถ้าขนาดพังผืดใหญ่ขึ้น อาการที่เด่นชัดคือ มองเห็นภาพไม่ชัดโดยเฉพาะตรงกลางภาพ อาจมีหรือไม่มีการมองเห็นภาพบิดเบี้ยวหรือรูปร่างภาพผิดไป เช่น

  • เห็นเส้นตาราง คด บิดเบี้ยว เป็นเส้นโค้งหรือเป็นขยุ้มตรงกลาง ในขณะที่ภาพด้านข้างปกติดี
  • บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยมีแสงแฟลช (Flash) ในตาเกิดเป็นบางครั้ง
  • บางรายอาจมีอาการจอตาหลุดลอกไปบางส่วน (Retinal detachment) บริเวณที่หลุดลอกจะส่งผลให้เห็นภาพบางจุดดูมืดไป
  • บางรายอาจมาด้วยมีเลือดออกที่ผิวจอตาตลอดจนเลือดออกเข้ามาในน้ำวุ้นตา หรือ
  • ผู้ป่วยอาจมาด้วยจอตาส่วนกลางขาดเป็นรู (Macular hole) ทำให้ตามัวลงอย่างฉับพลัน

พังผืดที่จอตาเกิดกับใครได้บ้าง?

พังผืดที่จอตาอาจพบได้แม้ในคนปกติทั่วไป (Idiopathic) ที่ไม่เคยมีโรคตามาก่อน หรืออาจเกิดตามหลังบางภาวะเช่น ในผู้ป่วยที่มีจอตาฉีกขาด จอตาหลุดลอก มีโรคหลอดเลือดจอตาอักเสบ (Vasculitis) เช่น จากโรคเอสแอลอี (SLE, Systemic lupus erythema tosus) ได้ รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตาทั้งมีแผลและไม่มีแผล ตลอดจนมีการอักเสบของน้ำวุ้นตาและจอตามาก่อน เป็นต้น ซึ่งภาวะโรคตาต่างๆนี้ก่อให้เกิดการอักเสบจึงทำให้มีเซลล์การอักเสบเจริญเติบโตจนก่อให้เกิดเป็นพังผืดขึ้น

มักจะพบภาวะนี้ในคนอายุ 50 ปี ขึ้นไปโดยพบได้ประมาณ 6% ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าในชาย (อาจเป็นเพราะหญิงอายุยืนกว่า) แต่บางการศึกษารายงานว่า โอกาสทั้งหญิงและชายพบได้พอๆกัน อาจเกิดกับตาเพียงข้างเดียวโดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งตาซ้ายและตาขวา แต่พบเกิดทั้ง 2 ตาได้ประมาณ 20 - 30%

มีผู้ศึกษาพบว่า เกิดภาวะนี้ได้ 4 - 8% ในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขจอตาลอก และ 1 -2% ในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ในรายที่มีจอตาฉีกขาด โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำ ให้เกิดภาวะนี้ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดและได้รับแสงเลเซอร์ ดังนี้

1. อายุที่มากขึ้น

2. มีเลือดออกในน้ำวุ้นตาตั้งแต่แรกเกิดอาการ

3. มีจอตาหลุดลอกครอบคลุมถึงบริเวณจุดภาพชัด Macula

4. การมีจอตาฉีกขาดที่มีขนาดใหญ่

5. การผ่าตัดที่ใช้เวลานาน

6. การใช้ความเย็นจี้รักษาโรคในจอตา (Cryotherapy)

รักษาพังผืดที่จอตาอย่างไร? พังผืดที่จอตารุนแรงไหม?

ในภาวะเกิดพังผืดที่จอตา หากไม่มีอาการหรือมีอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อยไม่จำเป็น ต้องรักษา ควรใช้วิธีเฝ้าติดตามโดยรับการตรวจตาเป็นระยะๆ และให้การรักษาต่อเมื่อมีอาการเพิ่มมากขึ้นซึ่งประมาณ 70% ของผู้ป่วยสายตาจะคงที่ไม่เลวลง

หากมีสายตามัวมากขึ้น มีการเห็นผิดรูปไปมากขึ้น การรักษาจะโดยวิธีผ่าตัดน้ำวุ้นตาร่วมกับการค่อยๆลอกพังผืดออกด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยภายใต้กล้องจุลทรรศน์ช่วยการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดมักได้ผลดี ในบางรายสายตาอาจดีขึ้นหรืออย่างน้อยขจัดปัญหาที่พังผืดอาจดึงรั้งให้จอตาหลุดลอกจนอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่สายตาแม้ดีขึ้นบ้างแต่จะไม่กลับมาปกติ

ประการสำคัญในผู้ที่รู้สาเหตุของการเกิด ต้องให้การรักษาต้นเหตุควบคู่กันไปด้วยเสมอเช่น การ รักษาควบคุม โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีพังผืดที่จอตา?

เมื่อมีปัญหาในการมองเห็นควรรีบพบจักษุแพทย์ (หมอตา)/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยการควบคุมโรคได้ดีขึ้น และสามารถลดโอ กาสเกิดโรคลุกลามมากจนถึงขั้นตาบอดได้ ทั้งนี้เพราะปัญหาในการมองเห็นมีสาเหตุได้มาก มาย จึงไม่ควรดูแลตนเองโดยไม่พบจักษุแพทย์

เมื่อได้พบจักษุแพทย์แล้วควรต้องปฏิบัติตามจักษุแพทย์แนะนำอย่างถูกต้องเคร่งครัด ถ้ามียากินหรือยาหยอดตาควรต้องใช้ยาให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา ควรต้องพบจักษุแพทย์ตรงตามนัดเสมอ และรีบพบก่อนนัดเมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ

ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุว่า ส่วนใหญ่โรคนี้เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ตาตามวัย ดังนั้นการรักษาสุขภาพจิตสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตามวัย อาจช่วยชะลอการลุกลามของภาวะนี้ได้เช่น กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวันในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ รักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นอยู่ให้ได้ และเลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทั้ง 2 สิ่งมีสารพิษที่เร่งให้เซลล์ต่างๆของร่างกายเสื่อมเร็วขึ้นรวมทั้งเซลล์ของดวงตาด้วย

ป้องกันพังผืดที่จอตาได้อย่างไร?

ดังกล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุว่า โรคพังผืดที่จอตามักเกิดตามวัยที่สูงขึ้นจากการเสื่อมตาม ธรรมชาติของเซลล์ต่างๆของร่างกาย ดังนั้นการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพจิตสุขภาพกายที่แข็ง แรงอาจช่วยชะลอการเกิดภาวะนี้ และเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้วอาจช่วยไม่ให้อาการลุกลามรวดเร็ว โดยที่สำคัญคือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน/สุขบัญญัติแห่งชาติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ทุกวัน ป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน รักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆที่เป็นอยู่ให้ได้ งด/เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติ เหตุกับดวงตา รวมทั้งการตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปีกับจักษุแพทย์เพื่อเมื่อพบสิ่งผิด ปกติจะได้พบตั้งแต่ยังเป็นน้อยๆยังไม่มีอาการ การรักษาจึงมักได้ผลดีกว่าการรักษาเมื่อมีอาการมากแล้ว