พลาสมาผู้พิทักษ์ (ตอนที่ 2)

พลาสมาผู้พิทักษ์-1

      

รศ.พญ.ดุจใจ ย้ำว่า หลักสำคัญของการให้พลาสมาคือ การนำไปใช้เสริมการรักษาควบคู่กับยา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ผลเหมือนกัน ขึ้นกับปัจจัยความรุนแรงโรคและช่วงเวลาการให้พลาสมาแก่ผู้ป่วย อีกทั้งปริมาณแอนติบอดีในแต่ละถุงที่ได้จากผู้บริจาคก็มีปริมาณไม่เท่ากัน ในโครงการวิจัยฯ จึงต้องคัดเลือกผู้บริจาคที่มีระดับแอนติบอดีที่สูงพอที่จะนำมาต่อสู้กับเชื้อไวรัส และควรให้พลาสมาก่อนที่ไวรัสจะไปทำลายปอดหรืออวัยวะต่างๆ เสียหาย เชื่อว่าการให้พลาสมาแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยทุเลาอาการได้เร็วขึ้น ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน ไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจนาน และช่วยลดอัตราการเสียชีวิต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการวิจัยฯ ยังเก็บพลาสมาได้น้อยมากจากปัจจัยการควบคุมการระบาดในระลอกแรก ซึ่งมีผู้ป่วยน้อย ขณะที่พลาสมาจากผู้บริจาคที่หายป่วยจากโควิด-19 รอบแรก ได้ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยกว่า 240 รายจนหมดแล้ว โดยขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากที่ต้องการใช้พลาสมาเสริมการรักษา เรากำลังรอพลาสมาจากผู้บริจาค เพื่อร่วมกันผ่านวิกฤตโควิด-19 ในระลอกนี้อีกครั้ง

ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงเปิดรับบริจาคพลาสมา โดยผู้บริจาคต้องเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว ไม่มีอาการ และเป็น “เพศชาย” เท่านั้น เนื่องจากเพศชายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 มากกว่า และรักษาระดับแอนติบอดีอยู่ในร่างกายได้นานกว่าเพศหญิง มีเส้นเลือดตรงข้อพับแขนชัดเจนกว่า มีความเข้มโลหิตผ่านเกณฑ์มากกว่า และช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนของผู้รับพลาสมามากกว่าเพศหญิง

ส่วนคุณสมบัติในการพิจารณาอื่นๆ คือ มีอายุ 18 ถึง 60 ปี น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 55 กก. พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เดินทางได้สะดวก รักษาหายผลตรวจเป็นลบและออกจากโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 14 วัน หรือ ออกจากโรงพยาบาลและกักตัวอยู่บ้านรวมกันแล้วครบ 28 วัน และมีสุขภาพแข็งแรงดีแล้ว โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์เท่านั้น ทาง https://1th.me/ZJChu ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดต่อนัดหมายเพื่อคัดกรองในรายละเอียดต่อไป สอบถามโทร 0 2256 4300

พลาสมา (plasma) หรือ น้ำเลือด คือ ส่วนประกอบของเลือดที่เป็นของเหลว โดยปกติจะมีลักษณะเป็นสีเหลืองใส แต่ถ้าพบไขมันก็จะเห็นเป็นสีขาว มีสัดส่วนคิดเป็นปริมาณร้อยละ 55 ของเลือด

พลาสมาประกอบด้วยน้ำร้อยละ 92 โปรตีนที่สำคัญร้อยละ 7 และเกลือแร่ น้ำตาล ไขมัน ฮอร์โมน วิตามินอีกร้อยละ 1 โดยพลาสมาได้จากการนำเลือด (blood) ไปปั่นเหวี่ยงและเติมสารป้องกันการแข็งตัวของเลือดลงไป ทำให้พลาสมาสามารถแยกชั้นจากเซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และ เซลล์เม็ดเลือดแดง ไปอยู่ชั้นบนสุดได้

พลาสมาทำหน้าที่สำคัญ 4 อย่างต่อร่างกาย ซึ่งได้แก่

1. คงระดับความดันและปริมาณของเลือด

2. มีโปรตีนที่สำคัญต่อการทำให้เลือดแข็งตัวและภูมิคุ้มกัน

3. ลำเลียงเกลือแร่ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ไปยังกล้ามเนื้อ

4. รักษาความเป็นด่างในร่างกายให้เหมาะสมซึ่งจะช่วยให้เซลล์ทำงานได้ปกติ

แหล่งข้อมูล:

  1. ชวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายเเล้ว ร่วมบริจาคพลาสมา.https://www.thaihealth.or.th/Content/54723-ชวนผู้ป่วยโควิด-19%20ที่หายเเล้ว%20ร่วมบริจาคพลาสมา%20.html[2021, July 30].
  2. What is Plasma? https://www.donatingplasma.org/donation/what-is-plasma [2021, July 30].
  3. The Importance Of Plasma In Blood. https://www.redcrossblood.org/donate-blood/dlp/plasma-information.html [2021, July 30].