พระก็ป่วยเป็นนะโยม (ตอนที่ 8)

พระก็ป่วยเป็นนะโยม-8

      

      ในส่วนของการวินิจฉัยทำได้ด้วยการวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดซึ่งจะให้ผลเป็นค่า 2 ตัว ตัวแรกแสดงถึงความดันตัวบน (Systolic pressure) ตัวที่สองแสดงถึงความดันตัวล่าง (Diastolic pressure) โดยการวัดความดันสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ คือ

  • ความดันปกติ (Normal blood pressure) – อยู่ต่ำกว่า 120/80 mm Hg
  • ความดันสูง (Elevated blood pressure) – ความดันตัวบนจะอยู่ระหว่าง 120 - 129 mm Hg และความดันตัวล่างจะอยู่ต่ำกว่า 80 mm Hg
  • ระยะแรกของความดันโลหิตสูง (Stage 1 hypertension) - ความดันตัวบนจะอยู่ระหว่าง 130 - 139 mm Hg และความดันตัวล่างจะอยู่ระหว่าง 80 - 89 mm Hg
  • ระยะที่สองของความดันโลหิตสูง (Stage 2 hypertension) – ความดันตัวบนจะอยู่มากกว่า 140 mm Hg และความดันตัวล่างจะอยู่มกกว่า 90 mm Hg

      การดูตัวเลขความดันทั้ง 2 ตัว เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่หลังอายุ 50 ปีแล้ว ความดันตัวบนจะสำคัญกว่า เพราะส่วนใหญ่ผู้สูงวัยจะมีความดันตัวบนที่สูง (มากกว่า 130 mm Hg) แม้ว่าความดันตัวล่างจะแสดงค่าปกติก็ตาม

      ก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์อาจจะต้องวัดความดัน 2-3 ทีในแต่ละครั้งที่ไปพบแพทย์ ซึ่งอาจจะต้องพบแพทย์อย่างน้อย 3 ครั้ง ทั้งนี้เพราะความดันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวันและอาจอยู่ในระดับสูงระหว่างที่ไปพบแพทย์หรือที่เรียกว่า White coat hypertension ซึ่งกรณีที่มีความแตกต่างในการวัด ก็ควรวัดความดันที่แขนทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจำเป็นต้องรัดปลอกแขนให้พอดีด้วย

      ทั้งนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำการจดบันทึกค่าความดันขณะอยู่ที่บ้านด้วยเพื่อเป็นข้อมูล หรืออาจแนะนำให้ทำการติดเครื่องวัดตลอด 24 ชั่วโมงที่เรียกว่า Ambulatory blood pressure monitoring (24-h ABPM) เพื่อให้แน่ใจว่ามีความดันโลหิตสูงจริง ส่วนอุปกรณ์การวัดความดันที่ข้อมือหรือนิ้วมือนั้น สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (The American Heart Association) ไม่แนะนำให้ใช้

      นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) ตรวจเลือด ตรวจคลอเรสเตอรอล และ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) และอื่นๆ

      ในส่วนของการรักษา แพทย์มักแนะนำให้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต เช่น

  • กินอาหารที่ดีต่อหัวใจและลดเค็ม
  • ออกกำลังกายให้เป็นประจำ
  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์

      

แหล่งข้อมูล:

  1. High blood pressure (hypertension). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/symptoms-causes/syc-20373410 [2019, November 30].
  2. Hypertension. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hypertension [2019, November 30].
  3. Everything you need to know about hypertension. https://www.medicalnewstoday.com/articles/150109.php#management-and-treatment [2019, November 30].