พระก็ป่วยเป็นนะโยม (ตอนที่ 7)

พระก็ป่วยเป็นนะโยม-7

      

      ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง (ต่อ)

  • ขาดการออกกำลังกาย – ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้น ยิ่งอัตราการเต้นของหัวใจเต้นมากขึ้น หัวใจก็จะยิ่งทำงานหนักมากในการบีบตัวของหลอดเลือด
  • การใช้ยาสูบ – ไม่เพียงแค่การสูบหรือเคี้ยวยาสูบจะทำให้ความดันโลหิตสูงชั่วคราวเท่านั้น แต่สารเคมีในยาสูบสาม่ารถทำลายผนังหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแคบลงและเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ทั้งนี้รวมถึงกรณีของควันบุหรี่มือสอง (Secondhand smoke) ด้วย
  • การกินอาหารที่เค็มหรือมีโซเดียมมากเกินไป – จะทำให้มีการสะสมของของเหลวในร่างกายซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตสูง
  • การกินอาหารที่มีโพแตสเซียมน้อยไป – เพราะโพแทสเซียมจะช่วยทำให้เกิดความสมดุลของโซเดียมในเซลล์ หากมีโพแทสเซียมไม่พอก็จะทำให้เกิดการสะสมของโซเดียมในเลือดมากขึ้น
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากไป – การดื่มที่มากสามารถทำลายหัวใจได้ ผู้หญิงที่ดื่มมากกว่าวันละ 1 แก้ว และผู้ชายที่ดื่มมากกว่าวันละ 2 แก้ว อาจมีผลต่อความดันโลหิต
  • ความเครียด – ความเครียดสูงสามารถทำให้ความดันโลหิตสูงได้ชั่วคราว และหากพยายามคลายเครียดด้วยการกิน การสูบ การดื่ม ที่มากขึ้นก็อาจทำให้ความดันโลหิตยิ่งสูงขึ้นไปอีก
  • เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด – เช่น โรคไต โรคเบาหวาน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
  • อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ – ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์มีโอกาสในการมีความดันโลหิตที่สูงได้

      อย่างไรก็ดี แม้ว่าโรคความดันโลหิตสูงมักจะเกิดในผู้ใหญ่ แต่เด็กก็อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้จากสาเหตุบางอย่าง เช่น ไตหรือหัวใจ มีวิถีชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์

      แรงกดที่มากต่อผนังหลอดเลือดเป็นสาเหตุให้ความดันโลหิตสูงซึ่งสามารถทำลายหลอดเลือดและอวัยวะอื่นของร่างกาย ยิ่งนานวันยิ่งมีผลเสียต่อหลอดเลือด ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้ได้

  • ภาวะหัวใจวาย (Heart attack) หรือ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) – เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุให้ผนังหลอดเลือดหนาเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • ผนังหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm) – หากหลอดเลือดแดงมีการฉีกขาดอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) – เนื่องจากหัวใจทำงานหนักในการบีบตัวมากอันมาจากการที่ผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว
  • หลอดเลือดในไตตีบและไม่แข็งแรง – ทำให้ไตทำงานผิดปกติ
  • หลอดเลือดในตาตีบหรือฉีกขาด – อาจทำให้ตาบอด
  • ภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) – ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง HDL ต่ำ ความดันโลหิตสูง ระดับอินซูลินสูง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
  • ความจำหรือความเข้าใจแย่ลง – เพราะความดันโลหิตสูงอาจมีผลต่อความสามารถในการคิด ความจำ และการเรียนรู้
  • สมองเสื่อม (Dementia) – เนื่องจากหลอดเลือดแดงตีบตันทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองน้อย เกิดสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือด (Vascular dementia)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. High blood pressure (hypertension). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/symptoms-causes/syc-20373410 [2019, November 30].
  2. Hypertension. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hypertension [2019, November 30].
  3. Everything you need to know about hypertension. https://www.medicalnewstoday.com/articles/150109.php#management-and-treatment [2019, November 30].