พระก็ป่วยเป็นนะโยม (ตอนที่ 21)

พระก็ป่วยเป็นนะโยม-21

      

      เพราะอาการปวดข้อทำให้ผู้ป่วยไม่อยากเคลื่อนไหว รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงอาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพได้ เช่น

  • เข่าหรือสะโพกที่ปวดอาจทำให้ผู้ป่วยอยู่ประจำกับที่ ไม่ค่อยเคลื่อนย้าย ซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวมากขึ้น นำไปสู่การเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูงได้
  • ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมักจะมีการเคลื่อนตัวที่น้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงและไม่สมดุล มีความเสี่ยงในการลื่นตกหกล้ม นอกจากนี้ยาแก้ปวดที่ใช้ (Narcotic pain relievers) มักเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกเวียนศีรษะ (Dizzy) และเสียสมดุล (Unbalance) โดยร้อยละ 30 ของผู้ป่วยจะมีการหกล้ม และร้อยละ 20 มีความเสี่ยงสูงในการที่กระดูกจะแตกหัก

      แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคด้วยการใช้ซักประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว และทำการตรวจร่างกายโดยใช้

  • ภาพวินิจฉัย (Imaging tests) เช่น

      o เอ็กซเรย์ – แม้กระดูกอ่อน (Cartilage) จะไม่ปรากฏบนแผ่นฟิลม์เอ็กซเรย์ แต่แผ่นฟิลม์ก็สามารถแสดงให้เห็นถึงความแคบระหว่างกระดูกรอบข้อได้

      o เอ็มอาร์ไอ

  • ผลทดสอบในห้องแล้ป เช่น

      o การตรวจเลือด – แม้ว่าการตรวจเลือดจะไม่สามารถใช้ทดสอบข้อเสื่อมได้โดยตรง แต่ก็ช่วยขจัดข้อสงสัยในสาเหตุอื่นของการปวดข้อไปได้ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

      o การเจาะระบายน้ำในข้อ (Joint Aspiration) – เป็นการใช้กระบอกฉีดยาดูดของเหลวภายในเข่าออกมา แล้วนำของเหลวมาตรวจสอบการอักเสบหรือการติดเชื้อภายในเข่า

      สำหรับการรักษาที่ทำได้คือ การลดอาการปวดและช่วยทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ข้อกลับดีเหมือนเดิมได้ โดยยาที่ใช้รักษาเบื้องต้น คือ ยาแก้ปวด เช่น

  • ยา Acetaminophen สำหรับผู้ที่มีอาการระดับอ่อนจนถึงระดับปานกลาง ซี่งควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เพราะยาชนิดนี้มีผลทำลายตับได้
  • ยา Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เช่น ยา Ibuprofen และ ยา Naproxen sodium อย่างไรก็ดี ยา NSAIDs สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้อง ปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular problems) ปัญหาเลือดไหลไม่หยุด (Bleeding problems) ตับและไตถูกทำลาย

      ทั้งนี้ ยา NSAIDs ในรูปแบบของเจลที่ใช้ทาผิวหนังบริเวณที่เป็นจะมีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าและอาจจะลดอาการเจ็บปวดได้ดีเช่นกัน

  • ยา Duloxetine ส่วนใหญ่ใช้เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า (Antidepressant) อย่างไรยานี้สามารถใช้รักษาอาการปวดเรื้อรังได้

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Osteoarthritis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoarthritis/symptoms-causes/syc-20351925 [2019, December 18].
  2. What is Osteoarthritis?. https://www.arthritis.org/about-arthritis/types/osteoarthritis/ [2019, December 18].