พระก็ป่วยเป็นนะโยม (ตอนที่ 1)

พระก็ป่วยเป็นนะโยม-1

      

      จากการฉันอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ และขาดการมีกิจกรรมทางกายของ “พระสงฆ์” ส่งให้แนวโน้มการอาพาธของพระสงฆ์สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

      จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคที่พระสงฆ์และสามเณรอาพาธมาเข้ารับการรักษามากที่สุด คือ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และข้อเข่าเสื่อม ตามลำดับ

      การดูแลสุขภาวะของพระสงฆ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 พระพรหมวชิรญาณ ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม (มส.) จึงได้ประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 ซึ่งกำหนดให้เรื่อง “สุขภาวะพระสงฆ์” เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่ทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ชุมชน และสังคม จะมาร่วมผลักดันและขับเคลื่อน

      นับเป็น “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์” ฉบับแรกของประเทศไทย ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2560 ซึ่งจะมาช่วยกำหนดแนวทางการทำงานสุขภาวะพระสงฆ์อย่างชัดเจน โดยทั้งประเด็นของการสร้างเสริมสุขภาพ การช่วยเหลือดูแลพระสงฆ์อาพาธ การถวายความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของพระสงฆ์ และการสื่อสารเกี่ยวกับการอุปัฏฐากพระสงฆ์ให้แก่ประชาชนอย่างการให้เข้าใจถึงอาหารสุขภาพที่ถวายสงฆ์ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม เป็นต้น

      ไขมันหรือลิพิด (Lipids) ประกอบด้วย

  • LDL cholesterol – เป็นไขมันเลวที่สามารถทำให้เกิดคราบ (Plaques) ในหลอดเลือดได้
  • HDL cholesterol – เป็นไขมันดีเพราะช่วยขจัดไขมันเลวออกจากเลือด
  • Triglycerides – เกิดขึ้นเมื่อไม่มีการเผาผลาญพลังงานและทำให้เกิดการสะสมไขมันในเซลล์ กล่าวคือ หากเรามีการกินอาหารมากกว่าการเผาผลาญของร่างกาย จะมีการสร้างไตรกลีเซอไรด์ขึ้น

      โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) คือ โรคที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติในลักษณะต่างๆ ได้แก่

  • ระดับไขมันไม่ดี (Low-density lipoproteins - LDL) สูง
  • ระดับไขมันดี (High-density lipoproteins - HDL) ต่ำ
  • ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) สูง
  • ระดับคลอเรสเตอรอล (Cholesterol) สูง ซึ่งหมายถึงมีระดับ LDL และไตรกลีเซอไรด์ที่สูง

      แต่ละคนจะมีระดับไขมันในเลือดที่แตกต่างกันไป คนที่มีระดับ LDL และไตรกลีเซอไรด์ที่สูง หรือมีระดับ HDL ที่ต่ำ มักจะมีความเสี่ยงในการมีความภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีคราบเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลไม่สะดวก

      ซึ่งเมื่อปล่อยไว้นานวันเข้า จะทำให้เกิดปัญหาในการไหลเวียนของเลือด เช่น เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่า ภาวะหัวใจวาย (Heart attacks) และ โรคหลอดเลือดสมอง (Strokes)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. ทำความรู้จัก “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์”. https://www.thaihealth.or.th/Content/44084-ทำความรู้จัก “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์”.html [2019, November 22].
  2. Dyslipidemia: Everything you need to know. https://www.medicalnewstoday.com/articles/321844.php#risk-factors [2019, November 22].
  3. Dyslipidemia: What You Need to Know. https://www.healthline.com/health/dyslipidemia#outlook [2019, November 22].