ตัวจี๊ด พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 พฤษภาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- วงจรชีวิตของตัวจี๊ดเป็นอย่างไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?
- ตัวจึ๊ดมีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคตัวจี๊ดได้อย่างไร?
- รักษาตัวจี๊ดอย่างไร?
- ตัวจี๊ดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ตัวจี๊ดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคตัวจี๊ดอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- ยาอัลเบนดาโซล (Albendazole)
- ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)
- เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นอะแรชนอยด์ (Subarachnoid hemorrhage)
- เลือดออกในวุ้นตา (Vitreous hemorrhage)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
บทนำ
โรคพยาธิตัวจี๊ด หรือโรคตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)เป็นโรคติดเชื้อพยาธิระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากพยาธิตัวกลม(หรือหนอนพยาธิตัวกลม)ในสกุล Gnathostoma ซึ่งมีหลายชนิดย่อยมาก แต่ชนิดพบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดโรคในคน รวมถึงในประเทศไทย คือชนิด ‘Gnathostoma spinigerum’ โดยโรคตัวจี๊ดในคน เกิดจากคนติดพยาธินี้จากกินเนื้อสัตว์ ประเภทสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีพยาธินี้ (Food-borne helminthic zoonosis) เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำ/ปลา กบ สัตว์ปีก/เป็ด ไก่ สัตว์เลื้อยคลาน
โรคตัวจี๊ดในคน ที่รายงานครั้งแรก เป็นการติดเชื้อจากประเทศไทย ในปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ.2432) โรคนี้พบน้อยทั่วโลก แต่พบบ่อยขึ้นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีพยาธินี้เป็นพยาธิ/โรคประจำถิ่น อย่างไรก็ตาม พยาธินี้พบได้ทั่วโลก
โรคตัวจี๊ด พบทุกเพศและทุกวัย ขึ้นอยู่กับลักษณะการบริโภคอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์(โดยเฉพาะปลาน้ำจืด)หมักดอง (เช่น ปลาร้า ปลาส้ม แหนม) ปรุงดิบ สุกๆดิบ หรือปรุงสุกไม่ทั่วถึง
วงจรชีวิตของตัวจี๊ดเป็นอย่างไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?
ตัวจี๊ดมีวงจรชีวิตเริ่มจาก พยาธิตัวจี๊ดตัวแก่ที่สามารถผสมพันธ์และแพร่พันธ์ได้(ขนาดยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.25 เซนติเมตร สีออกชมพูหรือสีสนิมเหล็ก) มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินเนื้อเป็นอาหารเป็นสัตว์รังโรคหรือที่เรียกว่า เป็น “โฮสต์จำเพาะ” (Definitive host, โฮสต์ที่พยาธิ อาศัยอยู่และสามารถเจริญเติบโตผสมพันธ์และแพร่พันธ์ได้)ที่พบได้ทั้งเป็น สัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า เช่น หมา แมว เสือ สิงห์โต นาก ซึ่งพยาธิตัวแก่/ตัวเต็มวัย (Adult) จะอาศัยอยู่ในผนัง ของหลอดอาหาร ของกระเพาะอาหาร และ/หรือของลำไส้เล็กของสัตว์เหล่านี้ โดยอยู่ในลักษณะที่ขดจนคล้ายก้อนเนื้อ และเมื่อตัวผู้และตัวเมียผสมพันธ์กัน และออกไข่ ไข่ที่ผสมพันธ์แล้วนี้ จะหลุดปนมาในอุจจาระของสัตว์ที่เป็น “โฮสต์จำเพาะ” ซึ่งไข่เหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในแหล่งน้ำจืด(เช่น หนองน้ำ ลำคลอง) ฟักเป็นหนอนพยาธิตัวอ่อน/ตัวอ่อน (Larvae) ระยะที่1 (First stage larva)
ตัวอ่อนระยะที่1 จะถูกกินโดยกุ้งไร/แพลงก์ตอนสัตว์/Copepod (Plankton, สัตว์น้ำขนาดเล็กที่อยู่ในสกุล Cyclops, มีขนาดประมาณ ½-5มิลลิเมตร) ซึ่งเป็น”โฮสต์ตัวกลาง” (Intermediate host, สัตว์ที่ให้ตัวอ่อนอาศัย แต่ไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ที่ออกไข่ได้)ที่1 /First intermediate host ซึ่งตัวอ่อนระยะที่1 จะเจริญเติบโตในกุ้งไร ไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 (Second stage larva) ,และไปเป็นตัวอ่อนระยะต้นของระยะที่3 (Early third stage larva) ตามลำดับ
กุ้งไรที่มีตัวอ่อนระยะที่ 2 และต้นระยะที่ 3 นี้จะถูกกินโดย ปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ รวมถึงสัตว์มีกระดูกสันหลังต่างๆที่กินน้ำ/กินกุ้งไรจากแหล่งมีกุ้งไรนี้ (รวมถึงคน แต่พบการติดโรคในคนจากสาเหตุนี้น้อยมาก มีเพียงการรายงานผู้ป่วยเป็นครั้งคราว) เช่น กบ เขียด ปลาไหล งู เป็ด ไก่ สัตว์ปีกทุกชนิด หมู ซึ่งปลาและสัตว์เหล่านี้จัดเป็น “โฮสต์ตัวกลางที่ 2” (Second intermediate host)
ตัวอ่อนระยะที่2 และต้นระยะที่3 จะเจริญต่อไปในกระเพาะอาหารและลำไส้ของโฮสต์ตัวกลางที่ 2 ไปเป็น “ตัวอ่อนระยะที่3ที่เจริญเต็มที่” (มีขนาดใกล้เคียงกับตัวแก่) ที่เรียกว่า “ตัวอ่อนระยะที่ 3 ก้าวหน้า” (Advanced third stage larva) หรือ “ตัวอ่อนระยะติดต่อ” (Infective stage larva) ซึ่งตัวอ่อนระยะติดต่อนี้ จะไชออกจากกระเพาะอาหาร/ลำไส้ของโฮสต์ตัวกลางที่2 แล้วเข้าไปอาศัยอยู่ได้ในทุกอวัยวะโดยเฉพาะในเนื้อสัตว์(Muscle)ของโฮสต์ตัวกลางที่2 และตัวอ่อนระยะติดต่อนี้ จะเปลี่ยนรูปไปอยู่ในรูปแบบของ ”ถุงหุ้ม (Encyst หรือ Cyst)” ในอวัยวะของโฮสต์ตัวกลางที่ 2 และเมื่อสัตว์ที่เป็นโฮสต์จำเพาะ กินโฮสต์ตัวกลางที่2ที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อนี้เข้าไป Cyst จะถูกย่อยในกระเพาะอาหาร ได้เป็นหนอนพยาธิตัวอ่อนระยะที่ 1 เป็นอันครบวงจรชีวิต และเป็นการเริ่มต้นวงจรชีวิตใหม่ของตัวจี๊ด คือ จากตัวอ่อนระยะที่ 1เจริญเติบโตเป็นตัวแก่/ตัวโตเต็มวัย ผสมพันธ์ และออกไข่ต่อไป
ทั้งนี้วงจรชีวิตทั้งหมดของตัวจี๊ด ที่เริ่มจากโฮสต์จำพาะกินตัวอ่อนระยะติดต่อ ไปจนถึงตัวแก่ออกไข่ จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 8-12 เดือน
แต่ถ้า คนกิน Cyst เข้าไปจากกินเนื้อสัตว์/อวัยวะของโฮสต์ตัวกลางที่2 ที่มี Cyst นี้อยู่(กินเนื้อดิบ หรือ สุกๆดิบๆ เพราะ Cyst จะตายในอุณหภูมิที่สูงตั้งแต่ 65 องศาเซลเซียส/Celsius ขึ้นไป หรือในน้ำเดือด อย่างน้อยนาน 5 นาที) น้ำย่อยในกระเพาะอาหารจะย่อย Cyst ออก ได้เป็นตัวอ่อนระยะที่3ก้าวหน้า แต่เนื่องจากคนไม่ใช่ ‘โฮสต์จำเพาะ’ ตัวอ่อนนี้ จึงเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ไม่ได้ แต่สามารถไชออกจากผนังกระเพาะอาหาร และไชต่อไปเรื่อยๆ เริ่มจากเข้าสู่ตับ และเข้าในช่องท้อง และไชต่อไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะได้ทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะของร่างกายคน แต่พบมากที่สุด คือ ที่ผิวหนัง ส่วนเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นพบได้เป็นครั้งคราว เช่น สมอง ไขสันหลัง ลูกตา ปอด ตับ ม้าม ซึ่งเมื่อเข้าสู่เนื้อเยื่อ/อวัยวะใด ก็จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ/การอักเสบ ของเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ที่เรียกว่า “โรคพยาธิตัวจี๊ด”
อนึ่งในวงจรของโรคตัวจี๊ดนี้ เรียก’คน’ว่า เป็น “โฮสต์โดยบังเอิญ (Accidental host)” ทั้งนี้การไชของตัวอ่อนฯในคน มีรายงานว่าสามารถเคลื่อนที่ได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ใน 1 ชั่วโมง
ในการติดต่อสู่คน นอกจากกินเนื้อสัตว์(พบได้บ่อยที่สุด เกือบเป็นวิธีติดต่อทั้งหมด) และ/หรือดื่มน้ำ(พบได้น้อยมาก)ที่มี”ตัวอ่อนระยะติดต่อ”แล้ว ยังพบว่า สามารถติดต่อเข่าสู่ร่างกายได้จากแผลที่ผิวหนัง โดยแผลสัมผัสกับตัวอ่อนฯ เช่น
- สัมผัสแหล่งน้ำที่มีตัวอ่อนฯ
- สัมผัสในขณะแปรรูปเนื้อสัตว์ เช่น ชำแหละ หรือ
- ใช้เนื้อสัตว์เหล่านั้นพอกแผล จากความเชื่อว่า จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
ตัวจึ๊ดมีอาการอย่างไร?
กลไกการเกิดอาการจากโรคตัวจี๊ดที่แท้จริงยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีหลักฐานการศึกษาพบว่า น่าเกิดจาก
- เนื้อเยื่อของคนบาดเจ็บโดยตรงจากการไชผ่านของ”ตัวอ่อนระยะติดต่อ”
- จากที่ตัวอ่อนฯสร้างสารกระตุ้นการบาดเจ็บ การอักเสบของเซลล์ และ
- รวมไปถึงจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายสร้างสารต้านการบาดเจ็บ/การอักเสบ ซึ่งสารเหล่านี้ เช่น เอนไซม์ทีทำลายเนื้อเยื่อ ที่เรียกว่า Proteolytic enzyme, และ สารที่สลายเม็ดเลือดแดง (Hemolytic substance) ที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในเนื้อเยื่อที่ตัวอ่อนฯไชผ่าน หรือ ที่ตัวอ่อนฯหยุดพักอาศัยอยู่
อาการของโรคตัวจี๊ด มีได้ 2 ลักษณะ คือ อาการฉับพลัน/เฉียบพลัน (Immediate symptom) ที่เกิดจากตัวอ่อนระยะติดต่อ ไชเข้าร่างกาย ร่างกายจึงมีการตอบสนอง/ต้านสิ่งแปลกปลอมอย่างรวดเร็วที่เกิดอาการได้ในระยะเวลาเป็นวัน, และอาการเฉพาะที่ ที่เกิดกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ตัวอ่อนระยะติดต่อไชผ่าน และ/หรือไชเข้าไปพักอาศัยอยู่
ก. อาการฉับพลัน/เฉียบพลัน: เป็นอาการทั่วไปที่พบได้เหมือนกันในทุกคนที่กินตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไป โดยทั่วไปมักเกิดอาการใน 24-48 ชั่วโมงหลังกินตัวอ่อนฯ (แต่บางคนอาจไม่มีอาการได้) และอาการต่างๆเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งอาการต่างๆ เช่น
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
- ลมพิษ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณยอดอกที่เป็นตำแหน่งของกระเพาะอาหาร
- ท้องเสีย
ข. อาการเฉพาะที่: คืออาการที่เกิดจากการบาดเจ็บ/ อักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ตัวอ่อนฯไชผ่าน/พักอาศัย ซึ่งมักพบเกิดภายใน 3-4 สัปดาห์หลังกินตัวอ่อนฯ
โดยส่วนใหญ่ตัวอ่อนฯมักไชเข้าสู่ “ผิวหนัง” พบได้กับผิวหนังทุกส่วนของ ร่างกาย ส่วนอวัยวะอื่นๆที่เป็นอวัยวะภายใน พบการไชผ่าน/การพักอยู่อาศัยของตัวอ่อนฯได้ในทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะแต่พบได้น้อยจนไม่สามารถบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ได้
อย่างไรก็ตาม อวัยวะภายในที่มีรายงานพบตัวอ่อนไชผ่าน/ พักอาศัยได้บ่อยกว่าเนื้อเยื่อ/อวัยวะอื่นๆที่นอกจากผิวหนัง คือ “สมอง” โดยมีรายงานจากประเทศไทย พบผู้ใหญ่ประมาณ 6%, และเด็กประมาณ 18% ที่มีอาการเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (ที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ)เกิดจากพยาธิตัวจี๊ด
ทั้งนี้ อาการที่เกิดที่ผิวหนัง: มักเกิดภายใน 3-4 สัปดาห์หลังคนกินตัวอ่อนระยะติดต่อ และจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการที่ปรากฏที่ผิวหนังเมื่อตัวอ่อนฯไชผ่าน คือ ผิวหนังส่วนนั้นจะ
- บวมแบบกดแล้วไม่ยุบบุ๋ม
- แดง เจ็บ คัน และ
- อาการเหล่านี้จะเคลื่อนที่ไปเกิดได้ในผิวหนังตำแหน่งอื่นๆแล้วแต่ตัวอ่อนฯจะไชไปที่ผิวหนังส่วนใด
ส่วนอาการที่เกิดจากอวัยวะภายใน: จะแตกต่างกัน ขึ้นกับว่า ตัวอ่อนฯไชผ่าน/ พักอาศัยอยู่ที่อวัยวะใด
- ที่พบบ่อย คือ สมอง: อาการที่พบคือ
- มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชันกลาง
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ชัก
- ซึม และ
- อาจโคม่า
- อวัยวะอื่นนอกจากนั้น เช่น
- ถ้าไชเข้าลูกตา จะส่งผลให้มีการอักเสบและอาจมีเลือดออกในลูกตา(เลือดออกในวุ้นตา) ตาพร่า และอาจถึงขั้นตาบอดได้
- ส่วนถ้าตัวอ่อนไชเข้าปอด อาการ คือ มีไข้ ไอ ปอดอักเสบ และอาจมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่อาจเป็นน้ำเลือดได้ เป็นต้น
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการที่ผิวหนัง และมีประวัติกินเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุกๆดิบๆ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ
แพทย์วินิจฉัยโรคตัวจี๊ดได้อย่างไร?
ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดได้จาก 3 ประการหลัก คือ
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย โดยเฉพาะอาการทางผิวหนัง ประวัติสัมผัสโรค เช่น การกินเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ หรืออาศัยอยู่ในถิ่นที่มีโรคตัวจี๊ดเป็นโรคประจำถิ่น หรือได้เดินทางท่องเที่ยวในแหล่งนั้นๆ และ
- การตรวจเลือดซีบีซี/CBC พบมีเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูงกว่าปกติมาก มักเกิน 50%ของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด
นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นกับ อาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพิ่มเติม เช่น
- การตรวจปัสสาวะ: อาจพบเม็ดเลือดแดง/ปัสสาวะเป็นเลือด และ
- การตรวจเลือด ดู สารภูมิต้านทานต่างๆ
- การตัดชิ้นเนื้อในบริเวณรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิทยา มักไม่พบตัวอ่อนฯของตัวจี๊ด พบแต่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil เข้าไปอยู่ปะปน สะสม เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
- การเจาะหลัง และ/หรือ การตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ เมื่อมีอาการทางสมอง
- เอกซเรย์ภาพปอด ร่วมกับ การตรวจเสมหะ และ/หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด เมื่อมีอาการทางปอด เป็นต้น
รักษาตัวจี๊ดอย่างไร?
แนวทางการรักษาตัวจี๊ด คือ การให้ยาฆ่าพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. ยาถ่ายพยาธิ/ยาฆ่าพยาธิตัวจี๊ด: ที่ใช้เป็นยาหลัก มี 2 ชนิด คือ ยา Albendazole และยา Ivermectin (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ยาทั้ง 2 ตัวนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง Albendazole และเรื่อง Ivermectin)
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น
- การให้ยาแก้ปวด/เจ็บ กรณีมีการปวด/เจ็บในตำแหน่งที่พยาธิตัวอ่อนเคลื่อนตัวผ่าน
- การให้ยาแก้แพ้ และหรือยาแก้คัน เมื่อเกิดผื่นคัน หรือ
- ให้ยากันชัก กรณีพยาธิตัวอ่อนฯไชไปอยู่ที่สมองแล้วก่อให้เกิดอาการชัก เป็นต้น
ตัวจี๊ดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่เกิดจากโรคพยาธิตัวจี๊ด ขึ้นกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ตัวอ่อนระยะติดต่อไชผ่าน เช่น
- ตาบอดเมื่อตัวอ่อนฯไชผ่าน/เข้าไปพักอาศัยในลูกตา
- เกิดอัมพาต หรือ โคม่า เมื่อตัวอ่อนฯไชผ่าน/เข้าไปพักอาศัยในสมอง หรือ
- หูหนวกเมื่อตัวอ่อนฯไชเข้าไปในประสาทหู เป็นต้น
ตัวจี๊ดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค ของโรคพยาธิตัวจี๊ด ขึ้นกับว่าตัวอ่อนระยะติดต่อจะไชผ่าน/เข้าไปพักอาศัยที่อวัยวะใด เช่น
- ถ้าผ่านผิวหนัง อาการจะไม่รุนแรง หายได้ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์
- แต่ถ้าไชผ่าน/เข้าไปพักอยู่ในอวัยวะสำคัญ การพยากรณ์โรคจะเลว เช่น
- อาจก่อให้เกิด อัมพาต หรือโคม่า และเสียชีวิตได้ เมื่อตัวอ่อนก่ออาการที่สมอง
- อาจตาบอดเมื่อตัวอ่อนก่ออาการที่ตา หรือ
- ปอดอักเสบ และทางเดินหายใจล้มเหลว จนอาจเสียชีวิตได้เมื่อตัวอ่อนก่ออาการที่ปอด เป็นต้น
อนึ่ง ตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ในร่างกายคนนี้ มีอายุได้นานเป็นหลายปี มีรายงานนานถึงเป็น 10 ปี ดังนั้นจึงมักก่ออาการเป็นๆหายๆ เป็นระยะๆ
นอกจากนั้น เมื่อรักษาโรคได้หายแล้ว ถ้าติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ดใหม่ ก็กลับมามีอาการดังเดิมได้อีก
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตัวจี๊ดหลังพบแพทย์แล้ว ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- ปรับพฤติกรรมการกิน ไม่กินเนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ ควรต้องปรุงให้สุกทั่วถึงทั้งด้านนอกและด้านใน ปรุงโดยใช้ความร้อนตั้งแต่ 65 องศาเซลเซียส(Celsius ย่อว่า ๐C) ขึ้นไป หรือต้มในน้ำเดือดนานอย่างน้อย 5 นาที
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดการติดพยาธิตัวจี๊ดซ้ำ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น มีอาการทางผิวหนังรุนแรงขึ้น
- มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดศีรษะรุนแรง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคตัวจี๊ดอย่างไร?
ป้องกันโรคพยาธิตัวจี๊ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และง่ายที่สุด โดย
- กินเนื้อสัตว์ทุกชนิดโดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงทั้งภายนอกและภายในชิ้นเนื้อ
- ต้มน้ำดื่มจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 65 องศาเซลเซียส หรือต้มเดือดในระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที ซึ่งอุณหภูมิดังกล่าวจะฆ่าตัวอ่อนตัวจี๊ดระยะติดต่อได้เป็นอย่างดี
- ทั้งนี้รวมถึง การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ทุกคนเรียนรู้โรคนี้ โดยเฉพาะคนในถิ่นที่โรคพยาธิตัวจี๊ดเป็นโรคประจำถิ่น ก็เป็นอีกวิธีป้องกันที่สำคัญที่สุดเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Herman, J., and Chiodini,P. (2009). Clinical Microbiology Reviews. 22, 484-492.
- Houston, S. (1994). Can J Infect Dis.5,125–129.
- Ponganant Nontasut., et al. (2005). Southeast Asian J Trop Med Public Health.36, 650-652
- Radomyos, P., and Daengsvang S.(1987). Southeast Asian J Trop Med Public Health.18,215-2517
- Wanpen Chaicumpa. (2010). Siriraj Med J. 62, 79-83
- https://www.cdc.gov/parasites/gnathostoma/[2019,April27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gnathostoma_spinigerum[2019,April27]
- https://emedicine.medscape.com/article/998278-overview#showall [2019,April27]
- https://www.cdc.gov/parasites/gnathostoma/faqs.html[2019,April27]