ฝุ่นจิ๋วปัญหาโลก (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ฝุ่นจิ๋วปัญหาโลก-2

      

PM ย่อมาจาก Particulate matter หรืออาจเรียกว่า Particle pollution เป็นฝุ่นละอองหรืออนุภาคของแข็งหรือของเหลวที่อยู่ในอากาศ เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เช่น ดิน ทราย หิน ละอองไอน้ำ เขม่าควัน และเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น การเดินทางขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผา ฝุ่นละอองนี้มีองค์ประกอบหลากหลาย มีขนาดต่างๆ กัน ขนาดใหญ่ใหญ่ถึง 500 ไมครอน ขนาดเล็กเล็กได้ถึง 0.2 ไมครอน

PM2.5 ในอากาศ จึงหมายความถึง อนุภาคที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน [PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ประมาณ 30 เท่า เพราะโดยเฉลี่ยเส้นผมจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 70 ไมครอน] เพราะ PM 2.5 มีขนาดเล็กมากซึ่งขนจมูกมนุษย์กรองไม่ได้ จึงถูกส่งผ่านลมหายใจเข้าไปถึงขั้วปอดด้านในได้ลึกสุดหรือแม้แต่เข้าสู่กระแสเลือด จึงส่งผลเสียต่อร่างกาย

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการได้รับฝุ่น PM ได้แก่

  • ทารก เด็ก และวัยรุ่น
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับปอด โดยเฉพาะโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ เราสามารถติดตามดูสถานการณ์มลพิษทางอากาศได้จากดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไป เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าอยู่ในระดับใด มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยหรือไม่ ซึ่งแต่ละประเทศจะมี AQI เป็นของตัวเอง และค่า AQI จะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่และแต่ละเวลาที่ทำการวัด

สำหรับดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

      

เกณฑ์ของดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย
AQI
ความหมาย
สีที่ใช้
คำอธิบาย
0 - 25
คุณภาพอากาศดีมาก
ฟ้า
คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว
26 - 50
คุณภาพอากาศดี
เขียว
คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ
51 - 100
ปานกลาง
เหลือง
ประชาชนทั่วไป : สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ
ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
101 - 200
เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ส้ม
ประชาชนทั่วไป : ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น
ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ : ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์
201 ขึ้นไป
มีผลกระทบต่อสุขภาพ
แดง
ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

แหล่งข้อมูล:

  1. Particulate Matter (PM) Pollution. https://www.epa.gov/pm-pollution/particulate-matter-pm-basics[2021, March 26].
  2. Particle pollution. https://www.lung.org/clean-air/outdoors/what-makes-air-unhealthy/particle-pollution [2021, March 26].
  3. Air quality index. https://en.wikipedia.org/wiki/Air_quality_index [2021, March 26].
  4. ดัชนีคุณภาพอากาศ. http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php [2021, March 26].