ฝุ่นจิ๋วปัญหาโลก (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 20 มีนาคม 2564
- Tweet
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากได้รับมลพิษจากฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
กรมควบคุมโรคจึงขอแนะวิธีปฏิบัติให้ปลอดภัย จากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยการลดการก่อมลพิษและลดกิจกรรมอันเป็นการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ลดการใช้รถยนต์ที่มีควันดำ ลดการเผาขยะหรือเผาในที่โล่งแจ้ง การสูบบุหรี่ การจุดธูป หุงต้มด้วยถ่านหรือไม้ฟืน รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด และปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้ง
โดยเฉพาะบริเวณหรือเส้นทางที่มีฝุ่นหนาแน่น หากจำเป็นก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ควรตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อประเมินความเสี่ยงและหาวิธีป้องกันการสัมผัสฝุ่น โดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก และดื่มน้ำให้เยอะๆ เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ แสบคอ นอกจากนี้ ผู้ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ควรป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากาก แว่นตา เสื้อแขนยาว ขายาว เพื่อป้องกันฝุ่น เพราะฝุ่นจะทำให้เกิดการระคายเคืองตาและผิวหนังได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และ 4 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย และกลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง
ทั้งนี้ หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างใกล้ชิด สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ด้านนายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่มีค่าสูงเกินมาตรฐานส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังกระทบถึงดวงตาอีกด้วย อาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง หรือเยื่อบุตาระคายเคือง ซึ่งถ้าเป็นมากจะทำให้มีอาการตาแดงได้ ในผู้ที่ภูมิแพ้ที่ตาอาจมีความรุนแรงขึ้น เช่น อาการตาแดง คัน เคืองตา และมีขี้ตามาก หากมีการขยี้ตาก็อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบหรือเป็นแผลได้ ในผู้ใช้คอนแทคเลนส์อาจเกิดภาวะตาแห้ง ระคายเคืองตา และแสบตาได้มากขึ้น ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติกับดวงตา ควรพบจักษุแพทย์ทันที
ส่วนนายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันดวงตาจากฝุ่น PM 2.5 สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่เกินมาตรฐาน หลีกเลี่ยงการขยี้ตา ถ้ามีอาการระคายเคืองตาจากฝุ่น PM 2.5 ให้ใช้วิธีการหยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและชำระล้างฝุ่นออกไปบางส่วน หากเกิดอาการระคายเคืองตามากจากการแพ้ฝุ่นหรือตาแดงอักเสบมาก ควรมาพบจักษุแพทย์
สำหรับในคนที่เป็นภูมิแพ้บริเวณดวงตา เมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่มีฝุ่น PM 2.5 ปริมาณที่เกินมาตรฐาน ควรหาแว่นตาชนิดมีขอบด้านข้างและด้านบนมาใส่เพื่อลดปริมาณ PM 2.5 ที่จะเข้ามาสัมผัสที่ดวงตา และในผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ หากมีอาการระคายเคืองตาจากฝุ่น PM 2.5 ควรหลีกเลี่ยงการใช้คอนแทคเลนส์ ในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณที่เกินมาตรฐาน ควรใช้แว่นตาแทนการใส่คอนแทคเลนส์ในช่วงดังกล่าว เพราะการใส่คอนแทคเลนส์อาจเพิ่มการระคายเคือง และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดวงตาได้
แหล่งข้อมูล:
- PM 2.5 ภัยใกล้ดวงตา. https://www.thaihealth.or.th/Content/53860- PM 2.5 ภัยใกล้ดวงตา[2021, March 19].
- แนะวิธีปฏิบัติให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ. https://www.thaihealth.or.th/Content/53880-แนะวิธีปฏิบัติให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ.html[2021, March 12].
- Strabismus (Crossed Eyes). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15065-strabismus-crossed-eyes [2021, March 19].