ผมร่วงจากยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา (Chemotherapy and Radiation therapy: hair loss)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 พฤศจิกายน 2562
- Tweet
- ทำไมได้ยาเคมีบำบัดแล้วผมถึงร่วง? ผมจะร่วงเมื่อไร?
- ฉายรังสีรักษาแล้วผมร่วงไหม? ผมจะร่วงเมื่อไร?
- ผมร่วงแล้วจะขึ้นไหม?
- ป้องกันผมร่วงจากเคมีบำบัด หรือรังสีรักษาได้ไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อผมร่วง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
- ผมร่วง (Alopecia)
- การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด (Coping with chemotherapy)
- การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer patient self-care and Cancer care)
ทำไมได้ยาเคมีบำบัดแล้วผมถึงร่วง? ผมจะร่วงเมื่อไร?
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) มีคุณสมบัติทำลายเซลล์ทุกชนิด แต่จะทำลายเซลล์ มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติ ดังนั้นเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด เซลล์ปกติของร่างกายจึงได้รับบาดเจ็บไปด้วย แต่เซลล์ปกติมีคุณสมบัติที่จะซ่อมแซมฟื้นตัวได้ดีกว่าเซลล์มะเร็งเป็นอย่างมากหลังการบาดเจ็บจากยาเคมีบำบัด ดังนั้นด้วยคุณสมบัตินี้แพทย์จึงนำยาเคมีบำบัดมาใช้รักษา โรคมะเร็ง
เซลล์ของรากผม ที่จะเจริญเป็นผม ก็เป็นเซลล์ที่จะได้รับการบาดเจ็บจากยาเคมีบำบัดเช่นกัน และเป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวสูงกว่าเซลล์ปกติทั่วไป จึงได้รับบาดเจ็บได้ง่ายกว่าเซลล์ปกติอื่นๆ จึงส่งผลให้เกิดผมบางจากผมไม่ขึ้นใหม่ ผมเปราะง่าย และผมร่วงในที่สุด ซึ่งมักพบเกิดได้ประมาณในสัปดาห์แรกของการให้ยาเคมีบำบัด หรือในสัปดาห์ที่ 2-3 หลังให้ยาฯ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิด และปริมาณ (Dose) ของยาเคมีบำบัด
เมื่อได้ยาเคมีบำบัดครั้งแรก ผมจะร่วงเพียงเล็กน้อย โดยเป็นการร่วงทั้งศีรษะ แต่เมื่อได้ยาฯในครั้งต่อๆไป ผมจะร่วงมากขึ้นตามลำดับ จนร่วงหมดทั้งศีรษะในที่สุด
นอกจากนั้น ยาเคมีบำบัดยังส่งผลให้ขนบริเวณอื่นๆทั่วร่างกายร่วงด้วย เพราะทางการ แพทย์ ผม และขนเป็นเซลล์ชนิดเดียวกัน เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนตามแขน/ขา และขนบริเวณอวัยวะเพศ
ฉายรังสีรักษาแล้วผมร่วงไหม? ผมจะร่วงเมื่อไร?
ผมร่วงในการได้รับรังสีรักษา (Radiotherapy หรือ Radiation therapy) จะต่างจากการได้รับยาเคมีบำบัด กล่าวคือ ยาเคมีบำบัดทุกชนิดจะส่งผลให้ผม/ขนร่วงทั้งศีรษะ และทั่ว ร่างกาย จะมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดและปริมาณของยาฯดังได้กล่าวแล้ว แต่รังสีรักษาจะเป็นสาเหตุให้ผม/ขนร่วงเฉพาะตำแหน่งที่ได้รับรังสีรักษาเท่านั้น เช่น ผมจะไม่ร่วงเมื่อฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งเต้านม ผมจะร่วงเฉพาะเมื่อฉายรังสีบริเวณศีรษะ นั่นคือ เฉพาะในการรักษาโรคเนื้องอกและมะเร็งสมองเท่านั้น หรือขนอวัยวะเพศจะร่วงต่อเมื่อมีการฉายรังสีในตำแหน่งของอวัยวะเพศเท่านั้น ผม/ขนที่อยู่นอกบริเวณที่ฉายรังสีจะไม่ร่วง
ดังนั้น ผมจะร่วงทั้งศีรษะต่อเมื่อเป็นการฉายรังสีครอบคลุมเนื้อที่ทั้งศีรษะ/ทุกส่วนทั้งสมองเท่านั้น เช่น กรณีของโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่สมอง แต่ถ้าเป็นการฉายรังสีรักษาเนื้องอกสมอง ซึ่งเป็นโรคเกิดเฉพาะจุด ผมก็จะร่วงเฉพาะจุดที่ได้รับรังสี ไม่ร่วงทั้งศีรษะ ซึ่งต่างจากการให้ยาเคมีบำบัด
ผมร่วงในรังสีรักษาเกิดจากรังสีทำลายเซลล์ของรากผมเช่นกัน ซึ่งผมจะร่วงมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ และจะเริ่มร่วงประมาณปลายสัปดาห์แรก หรือสัปดาห์ที่ 2-3 หลังได้รังสีรักษา
ผมร่วงแล้วจะขึ้นไหม?
ในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผมจะขึ้นเสมอ ขึ้นทั้งศีรษะ รวมทั้งขนตามตำแหน่งต่างๆด้วย ประมาณ 3 เดือนหลังครบยาเคมีบำบัดทั้งหมดแล้ว โดยลักษณะผมที่ขึ้นจะคล้ายผมเด็ก จะนุ่ม และอาจจะหยิก ต่อจากนั้นอีกประมาณ 3-6 เดือนก็จะกลับเป็นปกติเหมือนเดิม และต่อ จากนั้นผม/ขนก็จะกลับเป็นปกติไปตามธรรมชาติของผู้ป่วยนั้นๆ
ในการฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะ/สมอง ถ้าฉายรังสีทั้งศีรษะผมก็จะร่วงทั้งศีรษะ ซึ่งโดย ทั่วไป การฉายรังสีทั้งศีรษะจะใช้ปริมาณรังสีไม่สูง ดังนั้นผมจึงมักขึ้นเป็นปกติหลังครบรังสีรักษาประมาณ 3-6 เดือน
แต่เมื่อฉายรังสีเฉพาะเพียงจุดใดจุดหนึ่งของศีรษะ ผมจะร่วงเพียงจุดเดียว เฉพาะตำ แหน่งที่ได้รับรังสีเท่านั้น ส่วนผมจะขึ้นหรือไม่ และขึ้นแล้วผิดปกติหรือไม่ จะขึ้นกับปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ โดยทั่วไป การฉายรังสีฯเฉพาะจุด จะใช้ปริมาณรังสีค่อนข้างสูง ดังนั้นผมในบริ เวณนั้น มักไม่ขึ้น หรือขึ้นแต่บาง และเปราะ และมักมีสีออกน้ำตาล หรือขาว ไม่กลับเป็นปกติเหมือนเดิม
ป้องกันผมร่วงจากเคมีบำบัด หรือรังสีรักษาได้ไหม?
ในการให้ยาเคมีบำบัด อาจป้องกัน หรือลดโอกาสเกิดผมร่วงได้โดยการประคบน้ำแข็งที่ศีรษะ หรือใส่หมวกที่มีน้ำแข็งอยู่ หรือใส่สายรัดศีรษะในขณะกำลังให้ยาเคมีบำบัด ทั้งนี้เพื่อลดเลือดไปเลี้ยงหนังศีรษะ จึงลดปริมาณยาที่จะไปที่ศีรษะ แต่ก็ไม่ได้ผลในผู้ป่วยทุกราย และผู้ ป่วยหลายรายจะทนวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การลดปริมาณยาเคมีบำบัดต่อหนังศีรษะ อาจส่งผลให้โรคมะเร็งแพร่กระจายมายังหนังศีรษะได้สูงขึ้น ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าว วิธีการต่างๆเหล่านั้น จึงยังไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาเพื่อหาตัวยาเพื่อใช้ในการป้องกันภาวะผมร่วงจากยาเคมีบำบัด
ในส่วนรังสีรักษา ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะป้องกันการเกิดผมร่วงได้ ยกเว้นการใช้เทคนิค การฉายรังสีที่ยุ่งยากซับซ้อน ( เช่น IMRT, Intensity Moderated Radiation Therapy) เพื่อช่วยลดปริมาณรังสีในแต่ละจุดของหนังศีรษะให้น้อยลง ซึ่งพอช่วยลดปริมาณรังสีลงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผมกลับมาเป็นปกติภายหลังการฉายรังสีครบแล้ว
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อผมร่วง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อผมร่วงทั้งจากยาเคมีบำบัด จากรังสีรักษา และการพบแพทย์จะเช่น เดียวกัน ได้แก่
- เข้าใจ เตรียมใจยอมรับ
- เตรียมวิกผม หมวก หรือผ้าโพกผม ไว้ล่วงหน้า
- ระหว่างผมยังไม่ร่วง หรือเมื่อเริ่มรู้ว่าจะต้องได้รับการรักษา รวมทั้งช่วงผมเริ่มร่วง ให้ใช้แชมพูที่อ่อนโยนต่อผม สระผมแล้วปล่อยให้ผมแห้งเอง ไม่ใช้ที่เป่าผม เลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผมเสมอ เช่น ผลิตภัณฑ์ของเด็กอ่อน เป็นต้น
- ไม่แปรงผมรุนแรง ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าทุกชนิดกับผม ไม่ใช้สเปรย์แต่งผม
- ห้ามดัดผม เปลี่ยนสีผมในช่วงการรักษา จนกว่าจะปรึกษาแพทย์ และแพทย์จะอนุญาต
- เมื่อผมร่วง ต้องปกป้องหนังศีรษะเสมอ เพราะไม่มีผมปกป้อง ควรต้องใส่หมวก/ผ้าคลุมผม/วิก เมื่อออกนอกบ้าน หรือในห้องใช้เครื่องปรับอากาศ
- การใช้โลชั่นบำรุงหนังศีรษะ ควรปรึกษา แพทย์ พยาบาล ผู้ให้การดูแลรักษาก่อนเสมอ
- ควรใช้ปลอกหมอนที่เป็นผ้าฝ้าย 100% จะลดการระคายต่อหนังศีรษะลงได้
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน เพื่อความแข็งแรงของผม เช่นเดียว กับเซลล์ชนิดต่างๆทุกชนิดของร่างกายที่ต้องการอาหารที่มีประโยชน์ในการเจริญ เติบโตและในการทำงานอย่างปกติ
- ในผู้ป่วยรังสีรักษา ให้ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลรังสีรักษา แนะนำ เพราะบางครั้งแพทย์ อาจจำเป็นต้องงดถูกน้ำ/ห้ามการสระผมในระหว่างการรักษา
- ควรพบแพทย์ พยาบาล เมื่อหนังศีรษะมีอาการ เจ็บ แสบ คัน มีผื่น และ/หรือ ตุ่มหนอง
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- https://www.breastcancer.org/treatment/chemotherapy/side_effects [2019,Oct12]
- https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/treatment-types/chemotherapy.html [2019,Oct12]
- https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/side-effects?redirect=true [2019,Oct12]