ปาเปน (Papain)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 มิถุนายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- ปาเปนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ปาเปนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ปาเปนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ปาเปนมีขนาดการบริหารยา/รับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ปาเปนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ปาเปนอย่างไร?
- ปาเปนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาปาเปนอย่างไร?
- ปาเปนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาช่วยย่อย (Digestive drug)
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
บทนำ
สาร/ยาปาเปน (Papain หรือ Papaya proteinase) เป็นเอนไซม์ประเภทซีสตีน โปรตีเอส (Cysteine protease, เอนไซม์ชนิดหนึ่งที่ใช้ย่อยโปรตีน) ซึ่งพบอยู่ในพืชตระกูลมะละกอ (Papaya and mountain papaya) ในอดีตมนุษย์ได้ใช้เอนไซม์ชนิดนี้ในการย่อยเนื้อสัตว์เพื่อทำให้นุ่มมาเป็นเวลามากกว่าพันปี การผลิตสารปาเปนจะกระทำโดยเก็บน้ำยางจากลูกมะละกอและนำมาผ่านขั้นตอนการสกัดจนได้สารปาเปนซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นของเหลว ในปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) บางประเทศแถบทวีปอเมริกาได้ประกาศเตือนให้ผู้บริโภคระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของปาเปน อย่างยาหยอดตารวมถึงยาทาเฉพาะที่ชนิดต่างๆเช่น ยาขี้ผึ้งที่ใช้ทาผิวหนังเพื่อกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วของบาดแผล ล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งสิ้น ด้วยไม่มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐบาลและยังตรวจพบว่าก่อให้มีอาการตาบอดถาวรหลังจากนำมาหยอดตา หรือการใช้ในลักษณะของยาทาก็ก่อให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำและมีภาวะหัวใจเต้นเร็วตามมา จึงเป็นเหตุต้องประกาศหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆของสารปาเปน และมีบางประเทศได้ใช้สารปาเปนในรูปแบบของยารับประทานเพื่อลดอาการอักเสบต่างๆอย่างปวดบวมจากแผลผ่าตัด อาการอักเสบในคอ รวมถึงรักษาบาดแผลตามผิวหนังที่เกิดจากโรคงูสวัด และในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางก็ได้นำเอาสารปาเปนไปผสมในยาสีฟันหรือผสมในน้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ ซึ่งประโยชน์ของสารปาเปนดังที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่มาจากกลไกการออกฤทธิ์ที่มีลักษณะของการย่อยโปรตีนทั้งสิ้น
สำหรับประเทศไทยยาปาเปนจะพบเห็นแต่ในสูตรตำรับของยารับประทานที่มีวัตถุประสงค์เป็นยาช่วยย่อย ลดอาการท้องอืด จะไม่พบเห็นในลักษณะของยาทาเหมือนกับในต่างประเทศ ดังนั้นในบทความนี้จึงขอกล่าวถึง “ยาปาเปน” เฉพาะชนิดรับประทาน
ปาเปนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาปาเปนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- ยารับประทาน: เป็นส่วนประกอบในยาช่วยย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด
- ยาทาแผล/ยาใส่แผล: ลดอาการปวด บวม อักเสบ ของแผลตามผิวหนัง
ปาเปนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาปาเปนเป็นเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ในการย่อยโปรตีน ยานี้ชนิดเม็ด/ชนิดรับประทานจะช่วยทำให้โมเลกุลโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่รับประทานเล็กลงจนกระทั่งกระเพาะอาหารสามารถย่อยโปรตีน/เนื้อ สัตว์นั้นได้เป็นปกติจึงช่วยลดอาการท้องอืด/อาหารไม่ย่อย หรือ
กรณีมีบาดแผลตามผิวหนัง ยาปาเปนที่ใช้ทา/ใช้ใส่แผลจะทำการย่อยเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วในแผลทำให้เซลล์ที่ตายแล้วเหล่านั้นหลุดลอก ส่งผลลดอาการบวมอักเสบและทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น
ปาเปนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาปาเปนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับเอนไซม์หรือวิตามินชนิดต่างๆเช่น Pepsin 180 มิลลิกรัม + Diastase 30 มิลลิกรัม + Papain 60 มิลลิกรัม + Gentian extr 20 มิลลิกรัม + Pancreatin 20 มิลลิกรัม + Activated charcoal 90 มิลลิกรัม + Vitamin B1 2 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดฟู่สำหรับละลายน้ำชนิดรับประทานเช่น Papain 60 มิลลิกรัม + Fungal diastase 20 มิลลิกรัม + Simethicone 25 มิลลิกรัม/เม็ด
ปาเปนมีขนาดการบริหารยา/รับประทานอย่างไร?
ด้วยยาปาเปนมีสูตรตำรับที่แตกต่างกันในส่วนประกอบ ขนาดรับประทานของยานี้จึงขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์ที่จะเป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายได้อย่างเหมาะสม ปกติแพทย์จะให้รับประทานยาที่มีส่วนประกอบของยาปาเปนพร้อมอาหาร
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาปาเปน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาปาเปนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาปาเปนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาปาเปนตรงเวลา
ปาเปนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
กรณีเป็นยารับประทาน ยาปาเปนมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น มีบางรายงานพบว่ายาชนิดรับประทานของยาโปเปนก่อให้เกิดแผลในลำคอได้
มีข้อควรระวังการใช้ปาเปนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาปาเปนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาปาเปน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่าง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการใช้ยานี้อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
**** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาปาเปนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ปาเปนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยารับประทานชนิดต่างๆกับยาปาเปน
ควรเก็บรักษาปาเปนอย่างไร?
ควรเก็บยาปาเปนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
ปาเปนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาปาเปนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Pepfiz (เปปไฟซ์) | Daiichi Sankyo |
Pepsitase (เปปซิเทส) | B L Hua |
Poly Enzyme-I (โพลี เอนไซม์-ไอ) | Chew Brothers |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Papain [2016,May14]
- http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-69-papain.aspx?activeingredientid=69&activeingredientname=papain [2016,May14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/pepfiz/ [2016,May14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/pepsitase/?type=brief [2016,May14]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/poly%20enzyme-i/ [2016,May14]