ปัสสาวะบ่อย (Frequent urination)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คืออะไร? พบบ่อยไหม?

ปัสสาวะบ่อย/ ฉี่บ่อย (Frequent urination) คือ อาการปวดปัสสาวะที่ทำให้ต้องรีบเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าที่เคยเป็น เกิดได้ทั้งในเวลากลางวันและ/หรือกลางคืน(ที่ในภาวะ ปกติ ควรตื่นมาปัสสาวะไม่เกิน 1 ครั้ง) ทั้งนี้ ปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อยไม่ขึ้นกับปริมาณน้ำปัสสาวะที่มากเท่านั้น แต่เป็นได้ทั้งจาก ปริมาณปัสสาวะปกติ, น้อยกว่าปกติ, หรือ มากกว่าปกติ

ปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย เป็นอาการไม่ใช่โรค(โรค-อาการ-ภาวะ) ซึ่งทางการแพทย์ จำนวนครั้งต่อวันของการปัสสาวะปกติในผู้ใหญ่จะประมาณไม่เกิน 8 ครั้งในช่วงกลางวัน และไม่ควรเกิน 1 ครั้งในช่วงกลางคืน ซึ่งถ้าบ่อยกว่านี้ ถือว่าเป็น ‘ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ’

อย่างไรก็ตาม เมื่อปัสสาวะบ่อยร่วมกับปริมาณปัสสาวะมากจากบางสาเหตุ จะไม่จัดเป็นปัสสาวะบ่อยที่ผิดปกติ เช่น สาเหตุเกิดจาก ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ทำให้ร่างกายขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือ ยาลดความดันบางกลุ่ม รวมถึงที่สาเหตุมาจากดื่มกาแฟ(สารคาเฟอีน)มากและ/หรือดื่มสุรา

เนื่องจากปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย เป็นอาการ ดังนั้นจึงไม่มีรายงานอุบัติการณ์/สถิติเกิด อาการนี้ เพราะทางการแพทย์ การบันทึกสถิติต่างๆมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรค นอกจากนั้น ผู้ที่มีอาการนี้ทุกคนไม่ได้มาพบแพทย์ เนื่องจากอาการอาจไม่ก่อปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน สถิติการเกิดอาการนี้จึงไม่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม ปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย พบบ่อยในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและเพศชาย โดยเพศหญิงมักเกิดในวัยหมดประจำเดือน ส่วนเพศชายมักเกิดจากมีต่อมลูกหมากโตที่เป็นโรคมักพบในผู้ชายสูงอายุ

ปัสสาวะบ่อยมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

ปัสสาวะบ่อย

สาเหตุปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย: ได้แก่

ก. สาเหตุพบบ่อย: ได้แก่

  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากจะมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้บ่อยจากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำและมักเป็นโรคที่ก่อการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของปลายประสาทต่างๆรวมถึงของกระเพาะปัสสาวะ จึงส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากผิดปกติ
  • ภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิง (วัยหมดประจำเดือนในสตรี) เพราะการขาดฮอร์โมนเพศจะส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆรวมถึงกระเพาะปัสสาวะขาดการยืดหยุ่น, แห้ง, และติดเชื้อได้ง่าย, จึงเป็นสาเหตุให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง, มีการบีบตัวผิดปกติ, และติดเชื้อได้ง่าย
  • การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี
  • ในผู้ชายสูงอายุจากมีต่อมลูกหมากโตจึงอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ/ท่อปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะแต่ละครั้งไม่หมด น้ำปัสสาวะที่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจะก่อการระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ และเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะที่กักคั่งในกระเพาะปัสสาวะ จึงกระตุ้นให้เกิดการปัสสาวะบ่อย
  • การตั้งครรภ์ เพราะขนาดครรภ์จะกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจึงเก็บน้ำปัสสาวะได้น้อยลง และยังก่อการระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ จึงเกิดอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย
  • ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เช่น ความเครียด จะกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยขึ้น จึงเกิดอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย
  • ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน/กาเฟอีนในปริมาณมาก เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มประเภทโคลา จะกระตุ้นไตให้ขับปัสสาวะมากขึ้น และบางรายงานพบว่าสารคาเฟอีนกระตุ้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะให้บีบตัวมากขึ้นจึงกักเก็บปัสสาวะได้น้อยลง ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย
  • ดื่มน้ำมาก

ข. สาเหตุที่พบได้น้อยกว่า: ได้แก่

  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดันบางกลุ่ม เพราะจะเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะ
  • โรคต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ, โรคต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อ
  • โรคสมอง เช่น อัมพาต สมองจึงควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะไม่ได้
  • มีก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย จึงกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ เช่นเดียวกับในกรณีการตั้งครรภ์ เช่น โรคเนื้องอกมดลูกในเพศหญิง
  • โรคกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหรือ เส้นประสาทกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ
  • โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ

  • อาการนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีไข้ ปวดหลัง และ/หรือคลื่นไส้-อาเจียน ร่วมด้วย เพราะเป็นอาการบอกถึงการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ/ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ/ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ/ ซึ่งควรต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจากแพทย์
  • ปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ขุ่น เพราะเป็นอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือ นิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น
    • มีตกขาวในเพศหญิง
    • มีสารคัดหลั่ง หรือ หนองออกจากอวัยวะเพศ หรือจากปากท่อปัสสาวะ

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุปัสสาวะบ่อยได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ การเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน การกินยา/ใช้ยาต่างๆ เครื่องดื่ม การดื่มน้ำ ลักษณะการทำงาน
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภายในในเพศหญิง
  • การตรวจทวารหนัก โดยเฉพาะในเพศชายเพื่อตรวจคลำต่อมลูกหมาก
  • การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมซึ่งขึ้นกับสิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจปัสสาวะ
    • การตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ
    • การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
    • การตรวจหาความจุของกระเพาะปัสสาวะ(Cystometry)
    • การตรวจภาพท้องน้อย/กระเพาะปัสสาวะและ/หรือระบบทางเดินปัสสาวะด้วย อัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน

รักษาอาการปัสสาวะบ่อยได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การผ่าตัดเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคเนื้องอกมดลูก

(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงแนวทางการรักษาได้จากเว็บ haamor.com)

การรักษาตามอาการ : เช่น

  • กินยาคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • กินยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวดเบ่งปัสสาวะร่วมด้วย
  • อาจมีการฝึกการควบคุมการปัสสาวะ ซึ่งให้การสอนโดย แพทย์ พยาบาล
  • ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ/เนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อยที่ช่วยในการปัสสาวะ เช่น เทคนิคที่เรียกว่า Kegel exercise (ขมิบช่องทวารเบา/ ขมิบช่องคลอด/ การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน)
  • อาจใช้วิธีทางการแพทย์สนับสนุนต่างๆ เช่น Biofeedback (การควบคุมอารมณ์ จิตใจ การมีสมาธิ ร่วมกับการใช้เครื่องมือทางไฟฟ้าเพื่อการตรวจจับและควบคุมอาการ)

ปัสสาวะบ่อยรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย ขึ้นกับสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ ดังนั้นการพยากรณ์โรคจึงต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม เช่น

  • จะไม่รุนแรง เมื่อสาเหตุมาจาก ความเครียด หรือจากการกินยาขับปัสสาวะ หรือจากภาวะหมดประจำเดือน (วัยหมดประจำเดือนในสตรี)
  • แต่ความรุนแรงจะสูงมากเมื่ออาการเกิดจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

อย่างไรก็ตาม อาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย จะมีผลต่อคุณภาพชีวิต เพราะผู้ที่มีอาการนี้ มักปฏิเสธที่จะเข้าสังคม หรือมักมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน, การเข้าสังคม, และอาจรวมถึงในการงานด้วย

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย คือ

  • เลิก/จำกัดเครื่องดื่มคาเฟอีน, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นตัวเพิ่มน้ำปัสสาวะและเป็นตัวกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • จำกัดน้ำดื่มประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อลดการตื่นเข้าห้องน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อคืนที่จะส่งผลให้อ่อนเพลียในช่วงกลางวัน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาการปรับยา เมื่อสาเหตุมาจาก ผลข้างเคียงของยาที่แพทย์สั่ง
  • ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี เช่น โรคเบาหวาน
  • ฝึกบริหารกล้ามเนื้อ/เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆในอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย(ขมิบช่องคลอด)ทั้งเพศหญิงและชาย เพื่อช่วยการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ และของเนื้อเยื่อ/กล้ามเนื้อต่างๆในอุ้งเชิงกราน(Pelvic floor muscle training exercises) หรือที่เรียกว่า Kegel exercise ได้แก่
    • ขมิบก้น หรือ ขมิบช่องคลอด เหมือนกับเมื่อปวดปัสสาวะแล้วกลั้นไว้ นับ 1ถึง 10 หรือ เท่าที่จะขมิบได้
    • คลายการขมิบ นับให้เท่ากับตอนขมิบ เช่น 1-10 แล้วเริ่มขมิบรอบใหม่
    • ฝึกทำบ่อยๆได้ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับการหายใจ
    • และในขณะขมิบ พยายามไม่ใช้กล้ามเนื้อของก้น และ/หรือของต้นขาช่วย
    • ทำชุดละประมาณ 4-8 ครั้ง วันละประมาณ 3-4 ชุด ซึ่งมักจะเห็นผลภายใน 2-8 สัปดาห์

ป้องกันปัสสาวะบ่อยอย่างไร?

การป้องกันอาการปัสสาวะบ่อย/ฉี่บ่อย ได้แก่ การป้องกันสาเหตุดังกล่าวแล้วที่เป็นสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยการใช้ถุงยาอนามัยชายที่ได้มาตรฐาน และใช้อย่างถูกวิธี ร่วมกับไม่สำส่อนทางเพศ
  • เลิก/จำกัดเครื่องดื่มมีคาเฟอีน
  • ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป และ ไม่ดื่มน้ำประมาณ 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
  • เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา เพราะจะเพิ่มปริมาณน้ำปัสสาวะ
  • ฝึกการทำงานของเนื้อเยื่อ/กล้ามเนื้อต่างๆของอุ้งเชิงกราน (การขมิบช่องคลอด /Kegel exercise) เป็นประจำตั้งแต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ไม่ต้องรอจนมีอาการ
  • ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

บรรณานุกรม

  1. Bremnor, J., and Sadovsky, R. (2002). Evaluation of dysuria in adults, Am Fam Physician. 65, 1589-1697.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Frequent_urination [2021,March20]
  3. https://www.healthline.com/health/kegel-exercises [2021,March20]
  4. https://medlineplus.gov/ency/article/003975.htm [2021,March20]
  5. https://medlineplus.gov/ency/article/003140.htm [2021,March20]