ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Pain)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 20 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกมีสาเหตุจากอะไรบ้าง?
- อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกแต่ละสาเหตุมีลักษณะอย่างไร?
- เมื่อมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกเมื่อใดควรพบแพทย์?
- การดูแลตนเองควรทำอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกได้อย่างไร?
- อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกมีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่?
- แพทย์รักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างไร?
- ควรใช้ยาแก้ปวดหรือไม่?
- อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- ป้องกันอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกได้อย่างไร?
- สรุป
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด หรือ กลุ่มอาการเอมพีเอส Myofascial Pain Syndrome (MPS)
- ปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเหตุอักเสบเรื้อรัง หรือ โรคพีเอมอาร์ (Polymyalgia rheumatic หรือ PMR)
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง กลุ่มอาการเพลียเรื้อรัง โรคซีเอฟเอส (CFS:Chronic Fatigue Syndrome)
- ยาต้านเศร้า(Antidepressants)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- สุขลักษณะการนอน สุขอนามัยการนอน (Sleep hygiene)
บทนำ
ทุกคนคงเคยรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกในส่วนต่างๆของร่างกายทั่วตัว ที่พบบ่อย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดต้นคอ เป็นต้น พบแพทย์ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ อาการปวดก็เป็นๆ หายๆ อยู่คู่กับเราไปตลอด โดยไม่รู้ว่าเป็นอะไร ลองติดตามบทความนี้ “ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal Pain)” ดูครับ ท่านจะเข้าใจอาการปวดเมื่อยส่วนต่างๆของร่างกายได้ดีขึ้น
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกมีสาเหตุจากอะไรบ้าง?
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกตามส่วนต่างๆของร่างกายทั่วตัว มีสาเหตุได้หลาก หลาย ที่พบบ่อยและควรทราบ คือ
- Myofascial pain syndrome (MPS) หรือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (กลุ่มอาการเอมพีเอส)
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและเนื้อ เยื่ออ่อนทั่วร่างกาย
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome ย่อว่า CFS ) หรืออาการอ่อนเพลีย อ่อนล้าของร่างกายเรื้อรัง
- Polymyalgia rheumatic (PMR) หรือ โรค/ภาวะ ปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเหตุอักเสบเรื้อรัง
- Muscle weakness หรือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกแต่ละสาเหตุมีลักษณะอย่างไร?
อาการปวดเมื่อยฯในแต่ละสาเหตุนั้น มีลักษณะดังนี้
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (กลุ่มอาการเอมพีเอส Myofascial pain syndrome/MPS) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก และพบร่วมกับกลุ่มอาการปวดอื่นๆได้บ่อย โดยมีอาการปวดตื้อๆ ลึกๆ ปวดร้าวไปบริเวณข้างเคียง บางครั้งปวดพอรำคาญ บางครั้งปวดรุนแรงมากจนเคลื่อนไหวลำบาก มีจุดกดเจ็บหรือจุดที่ไวต่อการกระตุ้น (Trigger point) อยู่ในกล้าม เนื้อหรือในเนื้อเยื่อพังผืด ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังใช้กล้ามเนื้อนั้นเป็นระยะเวลา นานอย่างต่อเนื่อง
ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง พบในวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ พบบ่อยในกลุ่มพนักงานสำนักงาน (Office) กลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยอาการจะเป็นมากขึ้นถ้ามีการใช้งานกล้าม เนื้อหนักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และใช้งานในท่าที่ไม่เหมาะสม
สาเหตุของการเกิดโรคนี้ เกิดจากการที่กล้ามเนื้อนั้นมีการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เกิดการสะสมของของเสียในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวและขาดออกซิเจน จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการอาจไม่รุนแรง แค่พอรำคาญ หรือรุนแรงจนส่งผลต่อการเคลื่อนไหว
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและเนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย ลักษณะสำคัญ คือ อาการปวดจะรุนแรงเมื่อกระตุ้นโดยสิ่งเร้า ซึ่งในคนปกติจะไม่ปวด (Allodynia) เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เป็นต้น หรือ อาการปวดทั้งตัว คล้ายกล้ามเนื้อถูกดึงหรือตึงเหมือนทำงานอย่างหนัก ปวดทุกกล้ามเนื้อ คล้ายหมดแรง นอนหลับตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น ปวดตึงพังผืดตามข้อต่อต่างๆในช่วงเช้า
ทั้งนี้ พบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย พบบ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยสาเหตุยังไม่ทราบแน่นอน สันนิษฐานว่า เกิดจากปัจจัยร่วมทาง จิตใจ ร่างกาย และสิ่งแวดล้อม เพราะผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหลังจากมีเหตุการณ์กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือหลังไม่สบายจากเหตุอื่นๆ ร่วมกับผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีภาวะทางจิตใจผิดปกติ เช่น วิตกกังวล ซึม เศร้า มีความผิดปกติของการนอน (นอนไม่หลับ) มีการรับรู้ความเจ็บปวดที่ผิดไป คือ มีความรู้ สึกไวเกิน (Hyperesthesia) เช่น ต่อการสัมผัสเบาๆ มีความเครียด การพักผ่อนไม่พอ นอนไม่หลับ อดนอน และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว เช่น อุณหภูมิ จะกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) หรืออาการอ่อนเพลีย อ่อนล้าของร่างกายเรื้อรัง ลักษณะสำคัญคือ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหมือนมีไข้ต่ำๆ มักมีอาการหลังจากทำงานหนักต่อเนื่อง และพักผ่อนไม่พอ หรือมีโรคทางกายอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ หรือโรคมะเร็ง อาการอ่อนเพลียจะมากขึ้นถ้าโรคที่ผู้ป่วยเป็นนั้นมีอาการรุนแรงขึ้น หรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ ร่วมทั้งมีความเครียด วิตกกัง วล นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่พอเป็นต้น
กลุ่มอาการนี้พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชาย มักพบในช่วงวัยหนุ่มสาวจนถึงวัยกลางคน
- Polymyalgia rheumatic (PMR) หรือ โรค/ภาวะอักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดทั่วร่างกาย มีลักษณะสำคัญ คือ อาการปวดกล้ามเนื้อคล้ายกล้ามเนื้อหดตึงบริเวณไหล่ สะโพก และกล้ามเนื้อคอ และอาจปวดร้าวไปที่ข้อศอก ข้อเข่า และกล้ามเนื้อยึดข้อคล้ายยึดติดช่วงเช้าหลังตื่นนอน ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
อนึ่ง ภาวะนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้มีความเครียด ความกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาจมีภาวะติดเชื้อบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นให้มีอาการได้ง่ายและรุนแรงขึ้น
กลไกการเกิดโรคนี้ที่แน่ชัดยังไม่ทราบ สันนิษฐานว่า อาจมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยพบผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับการตรวจพบยีน/จีน ผิดปกติที่เรียก ว่า HLA-DRB1
โรคนี้พบบ่อยในบางประเทศและบางภูมิภาค เช่น สแกนดิเนเวีย (Scandinavia) พบบ่อยในฤดูร้อนมากกว่าฤดูหนาว และอาจพบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ คือ Mycoplasma pneumonia และ Chlamydia pneumonia และไว รัสบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคไข้ขึ้นผื่น คือ Parvovirus B19 บางการศึกษาพบมีความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อร่วมด้วย เช่น มีความผิดปกติของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol ฮอร์โมนเกี่ยว กับความเครียดของร่างกาย) และฮอร์โมนอีกหลายชนิด
- Muscle weakness หรือ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลักษณะสำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อส่วนต้นแขน ต้นขา ถ้ามีอาการอ่อนแรงไม่มาก จะรู้สึกเมื่อยล้า และอาจมีอา การปวดกล้ามเนื้อร่วมด้วย กรณีที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อร่วมด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Polymyositis) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) หรือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเหตุเกลือแร่โปตัสเซียม (Potassium) ต่ำที่เรียกว่า ภาวะ Hypokalemic periodic paralysis ทั้งนี้ผู้ที่มีโอกาสมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะขึ้นกับแต่ละโรคนั้นๆที่ผู้ป่วยเป็น
เมื่อมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกเมื่อใดควรพบแพทย์?
ผู้ที่มีอาการผิดปกติควรพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- เคลื่อนไหวลำบาก จนส่งผลต่อการทำงานหรือกิจวัตรประจำวัน
- มีไข้ เบื่ออาหาร
- มีข้อยึดติด
- น้ำหนักลดลงมากกว่า 10% จากน้ำหนักตัวปกติ ใน 3 เดือนนับจากเริ่มมีอาการ
- อาการเป็นรุนแรงมากขึ้นๆ
การดูแลตนเองควรทำอย่างไร?
การดูแลตนเอง:
- กรณีมีอาการปวดเมื่อยตามส่วนต่างๆของร่างกายทั่วตัวที่ไม่รุนแรง สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
- กรณีมีอาการเฉพาะภายหลังการทำงาน ไม่มีน้ำหนักลด ไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร กรณีนี้ก็สามารถใช้การออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม ไม่ควรใช้ยาแก้ปวดทุกครั้งที่มีอาการปวด เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้าง เคียงจากยาแก้ปวด เช่น แผลในกระเพาะอาหาร และโรคไต
- แต่ถ้ามีอาการรุนแรงจนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวหรือต่อการนอน มีอาการรุนแรงมากขึ้น ผอมลง เบื่ออาหาร มีไข้ ควรพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
*อนึ่ง ผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยดังกล่าว ไม่ได้มีอาหารแสลง ไม่มีอาหารหรือเครื่องดื่มต้อง ห้ามใดๆเหมือนในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ รวมทั้งไม่มีการศึกษาใดๆที่มีข้อมูลมากเพียงพอที่สรุปได้ว่า มีอาหาร เครื่องดื่ม หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆที่เป็นประโยชน์
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของอาการปวดเมื่อยเหล่านี้ โดยจะพิจารณาจากลักษณะอาการปวดเมื่อยดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น (หัวข้ออาการ) เป็นหลัก ดังนี้
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด (กลุ่มอาการเอมพีเอส Myofascial pain syndrome/MPS) วินิจฉัยจาก
- ประวัติมีอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
- ตรวจพบจุดปวดที่ไวต่อการกระตุ้น (Trigger point)
- คลำได้ก้อนหรือไตแข็งๆในกล้ามเนื้อที่ตึง (Taut band)
- โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มีสาเหตุอื่นๆที่มีอาการคล้ายแบบนี้เป็นสาเหตุ
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) วินิจฉัยโดยพิจารณาจาก กลุ่มอาการซึ่งได้จากประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก ได้แก่
- อาการปวดทั่วตัวมานานกว่า 3 เดือน ต้องมีจุดกดเจ็บประมาณ 11 จาก 18 จุด โดยเป็นทั้งซีกซ้าย และซีกขวาของร่างกาย ทั้งเหนือเอว ใต้เอว
- และต้องมีอาการปวดกล้ามเนื้อกลางลำตัว คือ คอ หน้าอก ด้านหลังส่วนบนและส่วนล่างร่วมด้วย
- และถ้ามีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย ยิ่งช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) ผู้ป่วยจะ
- มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย
- ตรวจไม่พบความผิดปกติเหมือนในกลุ่มโรค 2 กลุ่มข้างต้น
- แต่อาจตรวจพบความผิด ปกติของโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจ ภาวะติดเชื้อ โรคมะ เร็ง เป็นต้น
- Polymyalgia rheumatic (PMR) หรือ โรค/ภาวะอักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อและเนื้อ เยื่อพังผืดทั่วร่างกาย การวินิจฉัยโดย
- ใช้ลักษณะสำคัญดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจการอักเสบของ เลือดโดยการดูค่าการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedi ment rate: ESR) สูงมากกว่า 40 มม./ชั่วโมง
- แพทย์จะตรวจพบว่ามีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อในส่วนของกล้ามเนื้อสะโพก ต้นแขน ต้นขา
- และมีลักษณะความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆร่วมด้วย
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกมีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่?
สาเหตุอื่นๆที่ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกทั่วตัว มีอีกหลายสาเหตุ
ก. กรณีปวดแบบเฉียบพลัน: เช่น
- ภาวะติดเชื้อ
- หลังฉีดวัคซีน
- เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
- หรือ ออกกำลังกายอย่างหนัก
ข. กรณีปวดเรื้อรัง: เช่น
- ภาวะติดเชื้อเรื้อรัง
- โรคมะเร็ง
- ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ
- หรือ กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง
แพทย์รักษาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างไร?
การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยฯ
- ในภาพรวมนั้น เราต้องแก้ไข/ปรับพฤติกรรมปัจจัยร่วมที่เป็นเหตุ/กระตุ้นให้เกิดอาการ โดยปัจจัยร่วมคือ
- การพักผ่อนไม่พอ
- มีปัญหาการนอนหลับ
- กังวล ความเครียด
- พฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อในการทำงานหรือออกกำลังที่ไม่ถูกต้อง
- รวมกับ การทำกายภาพบำบัด โดย
- การนวด
- การทำอัลตราซาวด์
- การยืดกล้ามเนื้อ
- การใช้ความร้อนประคบ
- และการใช้คลื่นความร้อนนวด
- นอกจากนี้คือการรักษาเฉพาะในแต่ละโรค เช่น
- การให้ยาต้านเศร้า ยากันชัก ในผู้ป่วยไฟโบรมัยอัลเจีย
- หรือ การให้ยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วย Polymyalgia rheumatica เป็นต้น
ควรใช้ยาแก้ปวดหรือไม่?
การใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาเมื่อมีอาการปวดนั้น เป็นเพียงแค่การรักษาตามอาการเท่า นั้น ไม่ได้รักษาสาเหตุของโรค และถ้าใช้ยาแก้ปวดไม่เหมาะสม ก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาได้ เช่น แผลในกระเพาะอาการ โรคไต หรือการแพ้ยา
กรณีมีอาการปวดเมื่อยที่พอทนได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว หรือต่อการทำงาน แนะนำให้ใช้การบีบนวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การปรับท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ มากกว่าใช้ยาแก้ปวด
แต่ถ้าอาการปวดนั้นรุนแรงมาก และเป็นขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และ/หรือต่อการทำงาน อาจทานยาแก้ปวด ได้แก่ ยาพาราเซตามอล หรือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS เอ็นเสดส์) ได้ เพื่อบรรเทาอาการปวด และถ้าจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ ควรพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยโรค ทั้งนี้ การซื้อยากินเอง ควรปรึกษาเภ สัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
กลุ่มอาการต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการทำกิจกรรม การเคลื่อนไหว การนอน ซึ่งทั้งหมดทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี และอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าได้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการดังกล่าวไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรง แต่ต้องใช้การรักษาโดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต อารมณ์ ความเครียด และการทำกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกมีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
กลุ่มอาการเหล่านี้ มีการพยากรณ์โรคหรือผลการรักษาส่วนใหญ่ที่ให้ผลดี เพียงแต่ต้องให้การรักษาระยะยาว อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ
- การรักษาสุขภาพจิต
- การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การพักผ่อนให้เพียงพอ
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- และถ้ามีปัญหาการนอนหลับก็ต้องรักษาอาการดังกล่าวด้วย
ป้องกันอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกได้อย่างไร?
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูกทั้งตัวนี้ สามารถป้องกันอาการปวดเมื่อยต่างๆเหล่านี้ได้เป็นส่วนใหญ่ ถ้า
- มีการพักผ่อนที่เพียงพอ
- ไม่กังวลหรือมีความเครียดเกินเหตุ
- มีการออกกำลังกายที่เหมาะสมและเพียงพอ
- และมีการทำงานในท่าทางที่ถูกต้อง
สรุป
อาการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย เป็นอาการที่พบได้บ่อยและมีสาเหตุแตกต่างกันไป ดังนั้น ท่านควรศึกษาอาการปวดเมื่อยทั่วร่างกายให้เข้าใจอย่างดีก่อนว่า น่าจะมีสาเหตุจากอะไร เพื่อ ให้การดูแลตัวเองเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป