ปวดหลัง ทรมานชีวิต (ตอนที่ 3)

ปวดหลังทรมานชีวิต-3

      

อาการปวดจะค่อยๆ ทุเลาภายใน 2-3 สัปดาห์ หากรู้จักดูแลตัวเอง อย่างไรก็ดี ควรไปพบแพทย์หากเกิดกรณีดังต่อไปนี้

  • อาการรุนแรงมากขึ้น แม้พักแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
  • อาการแผ่ไปยังขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะการปวดใต้หัวเข่า
  • ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชา หรือ เป็นเหน็บ (Tingling) ในขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลัง ได้แก่

  • อายุ – มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากขึ้น โดยเริ่มที่อายุประมาณ 30-40 ปี
  • ขาดการออกกำลังกาย – ทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่ได้ใช้งาน
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไป – จนน้ำหนักกดลงบนหลัง
  • โรคต่างๆ – เช่น โรคข้อเสื่อม โรคมะเร็ง
  • การยกของไม่ถูกท่า
  • ภาวะทางจิตใจ – คนที่แนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล มักจะมีความเสี่ยงในการปวดหลังมากกว่า
  • สูบบุหรี่ – เพราะการสูบบุหรี่จะลดการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกที่หลังได้รับสารอาหารไม่พอ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังทำให้การรักษาอาการปวดหลังหายช้าลงด้วย
  • การตั้งครรภ์ – เพราะหลังต้องรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น
  • พันธุกรรม – เช่น โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis) ที่เป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง
  • การสะพายเป้หลังที่หนักเกินในเด็ก - The American Academy of Orthopaedic Surgeons (AAOS) ได้แนะนำว่า เด็กไม่ควรสะพายเป้ที่มีน้ำหนักเกินร้อยละ 15-20 ของน้ำหนักตัวเด็ก
  • โรคต่าง ๆ เกี่ยวกับการนอนหลับผิดปกติ (Sleep disorders)

แพทย์อาจทำการวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการนั่งยืนเดินยกขา และถามถึงระดับความปวด นอกจากนี้ยังอาจใช้วิธีทดสอบดังนี้

  • เอ็กซเรย์ – เพื่อดูแนวของกระดูกว่ามีข้อเสื่อมหรือกระดูกแตกหรือไม่
  • เอ็มอาร์ไอ หรือ ซีทีสแกน – เพื่อดูว่ามีหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท (Herniated disc) หรือไม่ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เอ็น เส้นประสาท และหลอดเลือด
  • การถ่ายภาพฉีดสารทึบรังสีของไขสันหลัง Myelography ซึ่งเป็นการฉีดสารทึบรังสี(Nonionic water-soluble contrast media) เข้าช่องไขสันหลังเพื่อดูการกดทับของของระบบประสาทบริเวณไขสันหลัง ทำให้เห็นภาพที่เอ็กซเรย์หรือซีทีสแกนชัดขึ้น

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Back pain. https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Fact-Sheets/Low-Back-Pain-Fact-Sheet [2019, Jun 25].
  2. Low Back Pain Fact Sheet. https://en.wikipedia.org/wiki/Paraquat [2019, Jun 25].
  3. What is causing this pain in my back? https://www.medicalnewstoday.com/articles/172943.php[2019, Jun 25].