ปวดหลัง ทรมานชีวิต (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 25 มิถุนายน 2562
- Tweet
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลของคลินิกโรคจากการทำงาน ที่เปิดให้บริการรักษาและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจากการทำงานโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี พบว่ามีผู้เข้ามารับการรักษาส่วนใหญ่ป่วยด้วยในโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดคอ
โดยโรคปวดหลังจากการทำงานมี 2 สาเหตุ คือ
1. จากตัวพนักงานเอง เช่น อายุที่มากมีความเสื่อมของร่างกายทำให้ปวดหลังได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว โรคประจำตัว เช่น โรคกระดูกสันหลัง หรือน้ำหนักตัวที่มากจะมีโอกาสปวดหลังมากกว่า โดยผู้ชายมีโอกาสปวดหลังได้มากกว่าผู้หญิงจากลักษณะการทำงาน นอกจากนี้ การสูบบุหรี่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หลังไม่เพียงพออาจส่งผลให้ปวดหลังได้
2.จากสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน คือ งานที่ต้องออกแรงมาก ทำให้กระทบต่อกล้ามเนื้อหรือหมอนรองกระดูก ท่าทางเวลายกอาจจะไม่ถูกต้อง เช่น ยกของที่สูงกว่าระดับศีรษะหรือต้องก้มหลังยก อาจจะต้องมีการเอี้ยวไปเอี้ยวมา ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเอ็น ทำให้ปวดหลัง รวมทั้งอาจเป็นด้วยสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การยกของในพื้นที่ที่ไม่เรียบ พื้นที่คับแคบ
ผู้ที่ปวดหลังจากการทำงานร้อยละ 90 มีอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นจะเป็นอาการปวดหลังที่รุนแรง เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น
ซึ่งการรักษานั้นหากอาการไม่รุนแรงมาก การได้ลาพักปฏิบัติงานหรือการกินยาแก้ปวด อาจจะหายเป็นปกติในเวลาที่ไม่นาน ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงมาก อย่างเส้นประสาทอ่อนแรงอาจต้องมีการผ่าตัด
ส่วนวิธีป้องกัน นายแพทย์ณัฐพงศ์ แนะนะว่า นายจ้างควรจัดสภาพการทำงานให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งมีการแนะนำท่าทางที่ถูกต้องในการยกของ นอกจากนี้อาจต้องใช้เครื่องจักรมาทำงานแทนในงานที่ต้องมีการยกหรือทำงานนั้นตลอดเวลา
ปวดหลัง (Back pain) เป็นอาการป่วยที่ทำให้คนทำงานต้องลางานกันมากชนิดหนึ่ง อาการปวดหลังส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น 2-3 สัปดาห์ ช่วงกลาง 4-12 สัปดาห์ ซึ่งมีร้อยละ 20 ของผู้ปวดหลังที่จะพัฒนาไปเป็นการปวดหลังเรื้อรังนานมากกว่า 12 สัปดาห์
อาการปวดหลังมักเกิดในกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 1-5 (L1-L5) ซึ่งมีหน้าที่รองรับน้ำหนักตัวของร่างกายส่วนบน ระหว่างข้อจะมีหมอนรองกระดูกที่ทำหน้าที่ลดการกระแทกของกระดูกขณะที่มีการเคลื่อนไหว และมีเนื้อเยื่อหรือเส้นเอ็นพร้อมกล้ามเนื้อที่คอยยึดกระดูกให้อยู่ในแนว นอกจากนี้ยังมีเส้นประสาทอีก 31 คู่ที่อยู่ในไขสันหลังซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายพร้อมส่งสัญญาณจากร่างกายไปยังสมอง
แหล่งข้อมูล:
- รพ.นพรัตนฯ เผยวัยแรงงานอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปป่วยโรคปวดหลังมากสุด. http://www.dms.moph.go.th/dms2559/prnews_all.php [2019, Jun 24].
- Back pain. https://www.ninds.nih.gov/Disorders/Patient-Caregiver-Education/Fact-Sheets/Low-Back-Pain-Fact-Sheet [2019, Jun 24].
- Low Back Pain Fact Sheet. https://en.wikipedia.org/wiki/Paraquat [2019, Jun 24].